
หลังจากกรมประมงได้ผยแพร่แพร่ข่าว ความสำเร็จในการทำหมันปลาหมอคางดำ โดยอธิบดีกรมประมงระบุว่า จะลงพื้นที่ดูการปล่อยปลาหมอคางดำ ชุดโครโมโซม 4 ชุด (4n) ลงในแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อควบคุมการเพิ่มจำนวนประชากรปลาหมอคางดำนับตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ.เป็นต้นไป ทาง BIOTHAI ได้ตั้งข้อสังเกตุถึงความพยายามขแงภาครัฐในการควบคุมปลาหมอคางดำในครั้งนี้ว่า ที่ผ่านมาแนวทางในการควบคุมชนิดพันธุ์รุกรานด้วยพันธุกรรม (Genetic Biocontrol) เช่น การปล่อยแมลงเป็นหมัน (Sterile Insect Technique - SIT) ใช้ การฉายรังสีหรือดัดแปลงพันธุกรรม เพื่อทำให้แมลงตัวผู้เป็นหมัน และปล่อยลงสู่ธรรมชาติเพื่อลดการแพร่พันธุ์ ที่ผ่านมายังไม่ประสบผลสำเร็จ มีค่าใช้จ่ายสูง

ตัวผู้ YY (Trojan Y Chromosome - TYC) ใช้ การปรับเปลี่ยนสัดส่วนเพศ โดยปล่อยปลาเพศผู้ที่มีโครโมโซม YY ซึ่งจะให้กำเนิดลูกเพศผู้ทั้งหมด ทำให้ ประชากรลดลง มีการทดสอบภาคสนามแล้วในปลา Brook Trout ในสหรัฐฯ และมีศักยภาพในการใช้งานจริง แต่ข้อจำกัดคือต้องมีการเฝ้าติดตามและปล่อยตัวผู้ YY อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ
เทคนิคตัวเมียโทรจัน (Trojan Female Technique - TFT) ใช้การกลายพันธุ์ของ DNA ไมโตคอนเดรีย ที่ทำให้ปลาเพศผู้มีภาวะมีบุตรยาก แต่ยังคงสามารถสืบพันธุ์กับตัวเมียได้ ข้อดีคือทำให้ประชากรลดลงอย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องดัดแปลง DNA ในระดับโครโมโซม แต่ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าวิธีนี้มีประสิทธิภาพสูง การทดลองในแมลงวันผลไม้ให้ผลเพียง ลดจำนวนประชากรได้ 8% ใน 10 รุ่น
เทคโนโลยี CRISPR เพื่อดัดแปลงพันธุกรรม และทำให้ยีนที่ต้องการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว เช่น ยีนที่ทำให้ปลาหรือสัตว์รุกรานเป็นหมันหรือเปลี่ยนสัดส่วนเพศ วิธีนี้มองว่ามีศักยภาพสูง และสามารถแพร่กระจายในประชากรเป้าหมายได้โดยอัตโนมัติ แต่ก็มีความเสี่ยงสูงมากเช่นกัน เพราะยีนที่ถูกดัดแปลงจะกระจายไปยังประชากรหรือสายพันธุ์อื่น ต้องมีมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวด และในหลายประเทศปฏิเสธที่จะใช้วิธีการนี้

"เท่าที่สำรวจ กรณีการดำเนินการที่กรมประมงกำลังทำอยู่ ยังไม่มีรายงานว่าประสบผลสำเร็จในที่ใดมาก่อน ทั้งนี้ การปล่อยปลาเอเลียนสปีชีส์ที่มีการเหนี่ยวนำโครโมโซม เพื่อควบคุมเอเลียนสปีชีส์รุกราน โดยทำให้ปลาตัวผู้มี 4n โครโมโซม (Tetraploid) แล้วปล่อยไปผสมกับปลาธรรมชาติ (2n) ลูกที่เกิดมาจะเป็น 3n (Triploid) ซึ่งเป็นหมัน และไม่สามารถขยายพันธุ์ต่อไปได้ ตามหลักการนั้น มีประเด็นที่ควรระวังไว้ดังนี้"
1. อาจเกิดลูกที่ไม่เป็นหมัน ในบางสายพันธุ์ ลูกปลา 3n (Triploid) อาจไม่เป็นหมันทั้งหมด อาจมีบางตัวที่ยังสืบพันธุ์ได้
2. ปลาที่มี 4n อาจไม่แข็งแรงเท่าปลาธรรมชาติ ปลาที่ผ่านการเปลี่ยนแปลงโครโมโซมอาจมี อัตราการรอดต่ำกว่าปลาธรรมชาติ เช่นอาจเกิด ภาวะผิดปกติทางสรีรวิทยา เช่น เจริญเติบโตช้า หรืออายุสั้น
3. ความสามารถในการแข่งขันต่ำ โดยปลาตัวผู้ 4n อาจแข่งขันกับตัวผู้ 2n ในธรรมชาติไม่ได้ หากตัวผู้ 4n ถูกตัวผู้ 2n แย่งผสมพันธุ์ไปหมด ประสิทธิภาพของวิธีนี้จะลดลง
4. อาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ เช่น หากปลาที่เป็นหมัน มีพฤติกรรมดุร้าย หรือแข่งขันแหล่งอาหารกับปลาธรรมชาติ อาจทำให้สมดุลของระบบนิเวศเปลี่ยนไป ปลาที่เป็นหมันอาจมีอายุยืนยาวกว่าปลาธรรมชาติ ทำให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากร หรือความเสี่ยงอื่นๆ
สิ่งที่ต้องทำคือ แทนที่จะเร่งปล่อยปลาลงในสภาพธรรมชาติ ควรทำการทดลองในระดับห้องทดลอง และค่อยขยับไปสู่การทดลองในบ่อระบบปิดก่อน เพื่อให้ได้คำตอบในเรื่องประสิทธิภาพ และที่สำคัญที่สุดคือความปลอดภัยต่อระบบนิเวศ
การระบาดของปลาหมอคางดำเป็นบทเรียนใหญ่สำหรับการนำเอเลียนสปีชีส์เข้ามาในระบบนิเวศและก่อให้เกิดหายนะ การแก้ปัญหานี้ต้องไม่ทำให้เกิดหายนะซ้ำรอยขึ้นอีก
หมายเหตุ: อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
Facebook@เนตรทิพย์ ออนไลน์
ทีมวิจัยปล่อยปลาหมอคางดำ 4n.. ทำหมันปลาหมอคางดำในธรรมชาติ
https://www.facebook.com/share/p/15pDhGJN3r/?mibextid=wwXIfr