นับตั้งแต่กระทรวงการคลัง “ยกเครื่อง” ปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตเหล้า-บุหรี่ ภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ที่ดีเดย์ใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2560 ด้วยข้ออ้าง “สุดคลาสสิก” เพื่อคำนึงถึงสุขภาพของประชาชนตามหลักสากล และเพื่อความเป็นธรรมในการคิดคำนวณภาษีไม่ให้เกิด “ช่องว่าง” ที่ก่อให้เกิดความ “ได้เปรียบ-เสียเปรียบ” ระหว่างบุหรี่ที่ผลิตจากโรงงานยาสูบและบุหรี่นำเข้าที่มักอาศัยช่องว่างจดแจ้งราคาต่ำกว่าความเป็นจริง !
แต่ผลของการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตดังกล่าว ไม่เพียงทำให้ ”สิงห์อมควัน” สำลักราคาบุหรี่ใหม่ที่ปรับขึ้นกันยกแผง 20-40% ยังทำให้ยอดการผลิตและจำหน่ายบุหรี่ของโรงงานยาสูบทรุดฮวบจากที่เคยสูงถึงปีละ 30,000-40,000 ล้านมวน ไหลรูดลงมาเหลืออยู่เพียง 18,000 ล้านมวนในปัจจุบัน ทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดที่เคยสูงถึง 80% ไหลรูดลงมาเหลืออยู่ไม่ถึง 65% ในระยะเวลาเพียงขวบปีหลังการปรับโครงสร้างภาษีใหม่ดังกล่าว
ขณะที่บุหรี่นอกที่กระทรวงการคลังคาดหวังว่า ด้วยโครงสร้างภาษีใหม่จะทำให้บุหรี่นอกเหล่านี้แพงระยับเปิดโอกาสให้บุหรี่ของโรงงานยาสูบเบียดตลาดสร้างกำรี้กำไรได้อักโขนั้น กลับได้ “อานิสงส์” จากโครงสร้างภาษีใหม่เบียดตลาดโรงงานยาสูบจนแทบเสียศูนย์ ซ้ำร้ายยังเปิดช่องให้ “บุหรี่เถื่อน” ผงาดขึ้นมาแทรกเป็นยาดำหนักเข้าไปอีก!
ล่าสุด มีกระแสข่าวเล็ดรอดจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ที่รายงานผลการดำเนินงานของโรงงานยาสูบหรือการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) ในไตรมาส 3/2562 ว่า ยังคงทรุดตัวลงอย่างต่อเนื่องมีกำไรสุทธิเพียง 198 ล้านบาท เทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิสูงถึง 2,111 ล้านบาท และผลพวงของการปรับภาษีสรรพสามิตในครั้งนั้น ยังคงกดดัน ยสท. อย่างหนักจนจ่อจะต้องประสบกับการขาดทุน “ปิดฉาก” ความยิ่งใหญ่ขององค์กรที่เคยเป็นไม้เป็นมือและเครื่องมือแสวงรายได้เข้ารัฐตลอดระยะเวลาเกือบ 80 ปีที่ผ่านมา
สำนักข่าว “เนตรทิพย์ ออนไลน์” ถือโอกาสครบ 2 ปี นับแต่การปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2560 “ย้อนรอย” ผลงาน “ชิ้นโบดำ” ของรัฐบาล คสช. ในอดีตถึงผลกระทบที่ยังไร้ความรับผิดชอบจากผู้เกี่ยวข้อง
ย้อนรอย..ปรับภาษีสรรพสามิต
เหตุผลในการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตที่กระทรวงการคลังแถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2560 นั้นระบุว่า เป็นการปรับโครงสร้างภาษีโดยคำนึงถึงสุขภาพของประชาชน และความเป็นธรรมเป็นหลักไม่ได้เน้นไปที่การหารายได้เข้ารัฐ
เพราะหลักในการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพสามิตมี 2 รูปแบบ คือ 1. เก็บภาษีตามปริมาณ 2. เก็บภาษีตามมูลค่า โดยวิธีใดคำนวณภาษีแล้วรัฐได้รายได้สูงสุดให้ใช้วิธีนั้น แต่ที่ผ่านมาบุหรี่นำเข้าจากต่างประเทศสำแดงราคาต่ำ เมื่อใช้วิธีการคำนวณตามมูลค่าสินค้าแล้วรัฐจะได้ภาษีน้อยลง กำหนดราคาขายปลีกได้ในราคาที่ต่ำมาก
ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม กรมสรรพสามิตจึงต้องปรับโครงสร้างภาษีใหม่เก็บภาษีทั้งตามปริมาณและมูลค่ารวมกัน โดยใช้ราคาขายปลีกตามท้องตลาดเป็นราคาอ้างอิง หลักการคือทั้งผู้นำเข้าและโรงงานยาสูบไม่ว่าจะผลิตบุหรี่มวนเล็กหรือมวนใหญ่ออกขาย ต้องเสียภาษีมวนละ 1.20 บาทก่อน (เก็บภาษีตามปริมาณ) จากนั้นใช้ราคาขายปลีกมาเป็นเกณฑ์อ้างอิงเก็บภาษีอีกทอด โดยหากตั้งราคาขายปลีกสูงกว่า 60 บาท ต้องเสียภาษี 40% ของมูลค่า แต่ถ้าราคาขายปลีกต่ำกว่า 60 บาท ให้เสียภาษีในอัตรา 20% ของมูลค่าเป็นเวลา 2 ปีนับจากวันที่มีผลบังคับใช้ หลังจากนั้นก็ให้ปรับอัตราขึ้นเป็น 40% (มีผลนับแต่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป)
กระทรวงการคลังคาดหวังเอาไว้สูงยิ่งว่า ผลจากการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่จะทำให้ราคาขายปลีกบุหรี่ทุกยี่ห้อเพิ่มขึ้น 3-6 บาท และน่าจะทำให้ผู้ที่มีรายได้น้อยมีเวลาปรับตัว ลด ละ เลิก การสูบบุหรี่ลงได้!
แล้วผลพวงการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่?
มาร์เกตแชร์ รง.ยาสูบทรุดฮวบ!
ผลการจัดเก็บรายได้ของกระทรวงการคลังในปี 2561 (ตุลาคม 2560 – กันยายน 61) ยังคงสามารถจัดเก็บรายได้รวม 2.535 ล้านล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 85,531 ล้านบาท หรือ 3.5% โดยในส่วนของกรมสรรพสามิตนั้น สามารถจัดเก็บภาษีได้ 580,400 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 19,558 ล้านบาท
ขณะที่ในปีงบประมาณ 62 (ตุลาคม 61- กันยายน 62) กรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีได้ 585,407 ล้านบาท จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 584,400 ล้านบาท แต่เมื่อเจาะลึกลงไปพบว่า ภาษีที่ได้ส่วนใหญ่มาจาก ”ภาษีเหล้า เบียร์” เป็นส่วนใหญ่ โดยภาษีเบียร์จัดเก็บได้ 79,090 ล้านบาท ขณะภาษีสุราจัดเก็บได้ 62,146 ล้านบาท แต่ในส่วนของ ”ภาษียาสูบนั้น จัดเก็บได้เพียง 67,410 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 2,989 ล้านบาท หรือลดลงไปกว่า 4.25%“..
ขณะที่ในส่วนของโรงงานยาสูบนั้นต้อง “สำลัก” โครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ที่พลิกสถานะจาก “หน้ามือเป็นหลังเท้า” รายงานของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ล่าสุดได้รายงานสถานะการเงินของ ยสท. ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 62 ว่า มีกำไรสุทธิเพียง 347 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่จัดเก็บได้ 4,723 ล้านบาท หรือกว่าร้อยละ 92 จึงเป็นไปได้สูงมากว่าในปีงบประมาณ 62 นี้ ยสท. คงจะไม่สามารถนำรายได้นำส่งรัฐเป็นปีที่ 2 จากที่เคยนำรายได้ส่งรัฐเฉลี่ยปีละ 8,000-9,000 ล้านมาโดยตลอด
ทั้งนี้ทั้งนั้น ด้วยผลพวงอัตราภาษีใหม่ที่แม้จะส่งผลให้บุหรี่ใน-นอกต้องปรับขึ้นราคาเกือบเท่าตัว และน่าจะทำให้โรงงานยาสูบได้เปรียบในการแข่งขัน แต่เอาเข้าจริงก็กลับตาลปัตร แทนที่บุหรี่นอกจะปรับขึ้นราคา ก็กลับมีการเล่นแร่แปรธาตุสำแดงราคาต่ำลงมาจนได้ “อานิสงส์” จากโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่..
ทำให้บุหรี่นอกเกรดพรีเมียม อย่าง L&M ปรับลดราคาจาก 72 บาท เหลือ 60 บาท ขณะที่บุหรี่ที่เป็นตัวชูโรงของโรงงานยาสูบเองกลับต้องปรับขึ้นราคาจาก 65-86 บาท เป็นซองละ 90 บาทใกล้เคียงบุหรี่นอก จนทำเอาบรรดาสิงห์อมควันต่างคนหันไป “ฟิน” กับบุหรี่นอกกันเป็นทิวแถว ส่งผลให้ยอดการผลิตของโรงงานยาสูบที่เคยสูงถึงปีละ 30,000-40,000 ล้านมวน ทรุดฮวบลงมาทันที
ส่วนแบ่งทางการตลาด หรือ “มาร์เกตแชร์” ที่เคยสูงสุดที่ 80% ของตลาดรวม ลดฮวบลงมาเหลือไม่ถึง 60% ในระยะเพียง 3 เดือนของการปรับภาษีสรรพสามิต ล่าสุด “มาร์เกตแชร์” ของโรงงานยาสูบแม้จะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 65% โดยมียอดการผลิตบุหรี่อยู่ที่ 16,000-18,000 ล้านมวนต่อปี แต่ก็ส่งผลให้สถานะโรงงานยาสูบที่เคยมีกำไรปีละนับหมื่นล้านและจัดเป็นรัฐวิสาหกิจดีเด่นที่นำส่งรายได้เข้าคลังติด “ท็อป–5” มาโดยตลอดจ่อจะขาดทุนเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 80 ปีนับแต่ก่อตั้งโรงงานยาสูบเมื่อปี 2484
เมื่อ ยสท.ยืนบนเส้นด้าย!
แม้ล่าสุดกรมสรรพสามิตจะปรับอัตราภาษีจัดเก็บภาษีสรรพสามิตบุหรี่ โดยปรับในส่วนของภาษีตามมูลค่าจากที่เรียกเก็บ 20% ของราคาจำหน่าย เป็น 40% ของราคาจำหน่ายสำหรับบุหรี่ที่กำหนดราคาต่ำกว่า 60 บาท แต่ดูเหมือนจะไม่ทำให้สถานะของโรงงานยาสูบ หรือ ยสท.ดีขึ้นแต่อย่างใด
ซ้ำร้ายผลพวงจากที่กระทรวงการคลังและโรงงานยาสูบใช้งบอีกกว่า 16,000 ล้านบาท ในการย้ายโรงงานยาสูบไปผุดโรงงานยาสูบแห่งใหม่ที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปีก่อน ซึ่งนัยว่าหากเปิดเดินเครื่องจักรเต็มกำลังจะมีศักยภาพในการผลิตบุหรี่ได้สูงสุดถึง 65,000 ล้านมวนต่อปี
แต่ผลจากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตเหล้า-บุหรี่ใหม่ที่เปิดโอกาสให้บุหรี่นอก-บุหรี่เถื่อนเบียดแทรกเข้ามาถล่มบุหรี่ในประเทศจนย่อยยับนั้น ไม่เพียงทำให้ยอดผลิตบุหรี่ของโรงงานยาสูบวันนี้เหลืออยู่เพียง 16,000-18,000 ล้วนมวนต่อปีเท่านั้น ยังไม่รู้ว่า ยสท.ที่ลงทุนติดตั้งเครื่องจักรใหม่ชุดใหญ่จะแสวงหาดอกผลกำไรจากไหนมาจ่ายค่าเครือจักรที่ติดตั้งไป
ทั้งหลายทั้งปวงนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นความบกพร่องหรือผิดพลาดของภาครัฐและกระทรวงการคลังเองที่เร่งดำเนินการปรับโครงสร้างภาษีโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบอย่างรอบด้าน การปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตบุหรี่ที่คาดว่าจะยังความได้เปรียบให้กับการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) ก็กลับกลายเป็น ”ดาบ 2 คม” ที่ทำให้สถานะของ ยสท. ในวันนี้ ต้องอยู่ในสภาพ “ตายทั้งเป็น” จ่อจะต้องเข้าไปอยู่ในแผนฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจอีกแห่งอยู่รอมร่อ
แม้เราจะไม่อินังขังขอบกับโรงงานยาสูบที่ได้แปรสภาพไปเป็นการยาสูบแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน และปฏิเสธไม่ได้ว่าที่ผ่านมา โรงงานยาสูงเองก็ทำตัวเป็น “ไทเกอร์ สลีป อีท” ไม่ต่างไปจากรัฐวิสาหกิจผูกขาดทั้งหลาย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า บทบาทของโรงงานยาสูบที่รัฐใช้เป็นเครื่องมือช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่ตลอดช่วงที่ผ่านมา ได้ช่วยให้หน่วยงานแห่งนี้ยังพอจะมี “คุณค่า” มีความจำเป็นที่ต้องปกป้องไว้อยู่
แต่เมื่อผลพวงของการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่ได้ทำให้บุหรี่นอก-บุหรี่เถื่อนเบียดแทรกเข้ามาทำลายตลาดบุหรี่ไทย และถึงขั้นทำลายรากเหง้าของโรงงานยาสูบที่เคยเป็นแหล่งรายได้รัฐจนแทบจะเสียศูนย์ ก็สมควรที่รัฐบาลและกระทรวงการคลังจะต้องหวนกลับมาทบทวน อย่างน้อยเม็ดเงินที่โรงงานยาสูบได้ไปนั้นก็ยังแผ่อานิสงส์ลงไปถึงเกษตรกรชาวไร่ใบยาสูบอยู่บ้าง
หากท้ายที่สุด โรงงานยาสูบต้องแปรสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจแห่งที่ 7 ที่ต้องเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ ไม่อาจจะทำหน้าที่เป็นเครื่องมือกลไกของภาครัฐในการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่ได้ รัฐบาล คสช. ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ย่อมหนีไม่พ้นถูก “ตราหน้า” ว่า “เสียค่าโง่” ให้กับบริษัทบุหรี่นอกทำลายตลาดบุหรี่ไทยโดยที่ประเทศไม่ได้อะไรกลับมา!
โปรดติดตามตอนที่ 2 : เสียงสะท้อนบุหรี่นอก