กำลังเข้มข้น ใกล้งวดเข้ามาทุกขณะ..
กับเส้นทางการประมูลคลื่น 5จี ที่ “คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)” กำหนดไทม์ไลน์การเคาะประมูลเพื่อออกใบอนุญาตในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ศกนี้ หลังจากโอปอเรเตอร์ทั้ง 5 รายตบเท้าเข้ามารับซองประมูล 5จีกันไปพร้อมหน้า ไล่ดะมาตั้งแต่ “ค่ายเอไอเอส, ดีแทค ทรูคอร์ปอเรชั่น และ 2 รัฐวิสาหกิจด้านสื่อสาร “ทีโอที และแคทเทเลคอม” ที่กระโดดเข้ามาร่วมวงไพบูลย์ด้วย
การกระโดดเข้ามาร่วมวงไพบูลย์ประมูล 5จี ของ 2 รัฐวิสาหกิจด้านการสื่อสาร “ทีโอทีและแคทเทเลคอม” ข้างต้นนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า ช่วยสร้างสีสันและทำให้บรรยากาศการประมูลเต็มไปด้วยความคึกคัก เข้มข้น จนทำเอา กสทช.หัวใจพองโต และมั่นใจว่า การประมูลคลื่นความถี่แบบ “มัลติแบนด์” หลายคลื่นที่จะมีขึ้นคงไม่จบลงแบบ “แม่สายบัวรอเก้อ” เช่นในอดีต
เพราะไม่ว่าบริษัทสื่อสารค่ายใดจะแสดงท่าทีอิดออดไม่อยากเข้าร่วมประมูล อยากรอให้ กสทช.เคลียร์หน้าเสื่อคลื่น 3500 เมกะเฮิร์ตซ์ ซึ่งน่าจะเป็นคลื่นหลักที่ควรจะนำออกมาประมูลเช่นเพื่อนบ้านในภูมิภาคนี้ จนถึงขนาดที่ค่ายยักษ์สื่อสารอย่างดีแทคสั่งเด้งซีอีโอไปล่าสุด แต่ กสทช. ก็ยืนยันทั้งหลายทั้งปวงจะไม่ส่งผลกระทบต่อ “ไทม์ไลน์” การประมูลที่วางเอาไว้แน่ เพราะอย่างน้อยก็มี 2 หน่วยงานรัฐวิสาหกิจเข้ามาช่วยรักษาหน้าให้แก่ กสทช.แล้ว
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคม ยังคงแสดงความกังวลต่อเส้นทางการประมูลออกใบอนุญาต 5จี ของประเทศที่ รมว.กระทรวงดีอีเอส “ดั้นเมฆ” ให้สองหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ “ทีโอที” และ “แคทเทเลคอม” เข้าร่วมวงไพบูลย์ด้วยข้ออ้างไม่ต้องการตกขบวน 5จี และต้องการจะนำคลื่นดังกล่าวไปให้บริการเชิงสังคมในพื้นที่ห่างไกล เพื่อประโยชน์สาธารณะที่บริษัทสื่อสารโทรคมนาคมโดยทั่วไปไม่อยากจะเข้าไปลงทุนอยู่แล้ว
เพราะในข้อเท็จจริงนั้น การให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมในพื้นที่ห่างไกล หรือพื้นที่ชายขอบ/บริการเชิงสังคมอะไรนั้น ต่างมี “กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.)” หรือ “กองทุนยูโซ (USO)” ของ กสทช. ทำหน้าที่ดังกล่าวอยู่แล้ว
โดยกองทุน กทปส. หรือยูโซ่ดังกล่าวนั้น ได้เรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมจากผู้ประกอบการที่รับใบอนุญาตจาก กสทช.ในอัตรา 4-5% หรือกว่าปีละ 10,000 ล้านบาท เพื่อนำมาลงทุนให้บริการสื่อสารที่เป็นบริการเชิงสังคม หรือในท้องถิ่นที่บริษัทสื่อสารไม่อยากไปลงทุนอยู่แล้ว ..
ดังนั้น “การที่กระทรวงดีอีเอสจะลงมาโม่แป้งภารกิจดังกล่าวเสียเอง โดยให้ทีโอทีและแคทเข้าไปลงทุนในพื้นที่เหล่านี้ จึงกลายเป็นการลงทุนที่ซ้ำซ้อนไม่รู้บทบาทตนเองหรือไม่?”
เพราะหากดีอีเอสยืนยันจะให้สองหน่วยงานรัฐวิสาหกิจดังกล่าวลงทุนให้บริการในพื้นที่เหล่านี้ และถือเป็นภารกิจที่จะต้องดำเนินการ ก็สมควรที่ กสทช.จะต้อง “ยุบเลิก” กองทุน กทปส.หรือยกเลิกการจัดเก็บเงินกองทุนดังกล่าวไปเสียจะได้ไม่มาสร้างภาระให้แก่บริษัทสื่อสารเอกชน
ด้วยเหตุนี้ ข้ออ้างของฝ่ายบริหารทีโอที และ รมว.ดีอีเอส ที่ออกมาตีปี๊บจำเป็นต้องเข้าร่วมประมูลคลื่น 5จี เพราะไม่ต้องการตกขบวน และต้องการจะนำคลื่นความถี่ดังกล่าวไปให้บริการในพื้นที่เป้าหมายตามนโยบายรัฐอย่างเขตเศรษฐกิจพิเศษ อีอีซี รวมถึงลงทุนในท้องถิ่นพื้นที่ห่างไกลอะไรนั้น
ผู้คนในวงการโทรคมนาคมจึงมองว่า รมต.ดีอีเอส กำลังส่ง 2 รัฐวิสาหกิจด้านกิจการสื่อสารของประเทศไปลงทุนผิดเป้าหมาย “ขึ้นรถผิดขบวนแล้ว” เพราะสถานะของสองรัฐวิสาหกิจที่ต่างอยู่ระหว่างกระบวนการควบรวมกิจการและยังอยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการที่กินเวลามากกว่า 5 ปีแล้วยังไปไม่ถึงไหน ทั้งยังไม่สามารถจัดการกับความอุ้ยอ้ายขององค์กรที่มีพนักงานอยู่ล้นองค์กรได้นั้น ด้วยสถานะที่อุ้ยอ้ายเช่นนี้ทีโอทีและแคท จะไปแข่งขันกับบริษัทสื่อสารเอกชนเข้าได้อย่างไร หรือหากจะไปลงทุนให้บริการสื่อสารในพื้นที่ห่างไกลอันเป็นบริการเชิงสังคมแย่งซีนนโยบายประชารัฐ แย่งซีนกองทุน กทปส.ก็เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการลงทุนที่ซ้ำซ้อนกับกองทุน USO ที่เขามีอยู่แล้ว
ดังนั้น ความพยายามในการดั้นเมฆจะให้ทีโอทีและแคท เข้ามาลุยกำถั่วประมูล 5จี มันจึงคิดเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากมี “วาระซ่อนเร้น” เพื่อการใดการหนึ่งแน่ และอาจเป็นข้ออ้างในอันที่จะให้ ”ทีโอทีและแคท” ไม่ต้องนำเงินที่จะได้รับจากการระงับข้อพิพาทกับคู่สัญญาเอกชนที่สูงกว่า 15,000-20,000 ล้านบาท ส่งคืนคลัง เพื่อจะอ้างได้ว่าเอามาลงทุนทำโครงข่ายประชารัฐ 5จีฟรีทั่วไทยได้สมอยาก
ที่จริงหนทางในอันที่จะสร้างผลงานชิ้นโบแดงนั้น ก็มีอยู่แล้ว อย่างการเร่งปัดฝุ่นโครงการประชารัฐทั้งหลายที่ดีอีเอสรับหน้าเสื่อดำเนินการ แต่จนป่านนี้ยังคืบหน้าไปไม่ถึงไหน ทั้งโครงการ “ฟรีไว-ไฟอินเตอร์เน็ตประชารัฐ” อินเตอร์เน็ตหมู่บ้าน หรือแม้แต่เน็ตชายขอบที่ทีโอทีดอดไปรับจ็อบติดตั้งแล้วยังส่งมอบเขาไม่ได้
โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินใน กทม.และในหัวเมืองหลักทั่วไทย ที่เป็นนโยบายหลักของรัฐบาลและ “นายกฯ ลุงตู่” ที่ประกาศไปตั้งแต่ปีมะโว้ในการนำเอาสายสื่อสารระโยงระยางอุดจาดตาทั้งหลายลงใต้ดินและบริษัททีโอทีได้มีการลงทุนในเฟสแรกไปแล้วนับ 10,000 ล้านบาท
อย่างล่าสุดก็เพิ่งลงนามกับ 11 โอปอเรเตอร์ที่จะเข้ามาใช้โครงข่ายของทีโอทีแล้ว แต่ยังมีเฟส 2 และเฟสขยายอื่น ๆ ที่ยังต้องลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นโครงข่ายพื้นฐานด้านโทรคมนาคมที่ถือเป็น Backbone หลักของประเทศ
ดีกว่า “ดันทุรัง” ขึ้นรถไปผิดขบวนจนทำเอาสองหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ “ตายทั้งเป็น”
ลำพังกับสถานะองค์กรที่เป็นอยู่ แค่จะขับเคลื่อนการ “ควบรวมกิจการ” ให้เป็นไปตามนโยบายไม้หลักปักเลนของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) และมติ ครม.ก็ไม่รู้จะ “ยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก” ไปถึงไหน กรอบเวลา 6 เดือนที่วางไว้จะทำได้สักครึ่งหรือไม่ ยังจะไป “มั่วตุ้ม” ลงทุนในโครงข่ายที่ตนเองไม่ถนัด แทบจะไม่รู้จักตลาดด้วยซ้ำว่าเขาตีรันฟันแทงกันยับแค่ไหน!!!