
ทำเอาแวดวงโทรคมนาคมมึนไปแปดตลบ!
กับกรณีที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 133/2563 ลงวันที่ 13 พฤษภาคม 2563 แต่งตั้ง "คณะกรรมการขับเคลื่อน 5จีแห่งชาติ" โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และรองนายกรัฐมนตรี ทั้ง 3ท่านคือ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ, นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และนายวิษณุ เครืองาม เป็นรองประธาน
ส่วนกรรมการคนอื่นๆ นั้น ก็จัดมาเต็มลำเรือจาก รมต.กระทรวงต่างๆ ทั้ง รมว.คลัง, กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา, กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวตกรรม, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงคมนาคม, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงอุตสาหกรรม, เลขาธิการกสทช., เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก, เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย,ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย
ทั้งนี้ เพื่อให้คณะกรรมการชุดดังกล่าว มีอำนาจหน้าที่กำหนดทิศทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 5จี ของประเทศ ในส่วนของการต่อยอดการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5จี ภายหลังจากที่ผู้ประกอบการกิจการโทรคมนาคมมีการประมูลคลื่นความถี่และมีการลงทุนขยายโครงข่ายในพื้นที่ต่างๆ ไปแล้ว โดยยืนยันจะไม่ไปก้าวล่วงอำนาจของ กสทช.ในส่วนของการบริหารจัดการคลื่นความถี่แต่อย่างใด มีแต่จะให้การสนับสนุนการเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หรือนำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ามากยิ่งขึ้น
อ่านบทบาท อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดดังกล่าวแล้ว ก็ให้นึกกังขาและงวยงง ไปกับนโยบายของรัฐบาลเสียจริง! หลังจากที่ก่อนหน้านี้ มีความพยายามจะ ”ปล้ำผีลุกปลุกผีนั่ง” เอากับคณะกรรมการชุดนี้มาร่วมปี แต่ถูก กสช.กระตุกเบรกอ้างว่า ก้าวล่วงอำนาจหน้าที่ หน่วยงานของรัฐที่เป็นอิสระ ทำให้ต้องอยาก”ตื่นตึกยักษ์ลึกติดกัก”..
แต่ที่สำคัญ แล้วบทบาทของ คณะกรรมการดิจิตอลเพื่อ เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหายไปไหน?
เหตุใด บทบาทในการขับเคลื่อนนโยบาย 5 จีที่ควรจะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการดิจิทัลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิตอลขับเคลื่อนนโยบาย Thailand 4.0 ที่ถือเป็น "วาระแห่งชาติ" มาโดยตลอดกับอันตรธานหายไป?
จะว่า เพราะการขับเคลื่อน 5จี เป็นเรื่องใหญ่ เกิน บทบาทอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดิจิตอล ก็ไม่น่าจะใช่ เพราะหากจะจัดตั้งหรือเพิ่มเติม คณะทำงานเพื่อบูรณาการการขับเคลื่อน 5จี ให้สอดรับ กับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล หรือนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ก็เป็นเรื่องที่สามารถทำได้อยู่แล้ว
แล้วเหตุใด นายกฯ ต้องจัดตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมา ทำงานซ้ำซ้อน กับคณะกรรมการดิจิทัลเดิมที่มีอยู่แล้ว....
มันคิดเป็นอื่นไปไม่ได้เลย นอกจากสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลและนายกฯ คงไม่อาจพึ่งพากลไกของคณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิตอลได้ หรือคณะกรรมการดิจิทัลคงไม่สามารถจะสนองตอบนโยบายไทยแลนด์ 4.0 การขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิตอล ตามเป้าหมายของรัฐบาลได้ดีพอ นายกถึงต้องจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5 จีขึ้นมาโดยเฉพาะ
ยิ่งมาได้เห็นความล้มเหลวขอการจัดการศึกษาออนไลน์ในยุคโควิด-19 ที่กระทรวงศึกษาให้ทุกโรงเรียนจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่กลับล้มเหลวไม่เป็นท่า
แค่การถ่ายทอดการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ที่ปูพรมไปทั่วประเทศก็เกิดปัญหา ทั้งจากความไม่พร้อมของนักเรียนและผู้ปกครอง ที่ต้องนั่งเฝ้าหน้าจอทีวีคอมพิวเตอร์หรือมือถือ ทั้งความไม่พร้อมของโรงเรียนสถานศึกษาในท้องถิ่นพื้นที่ห่างไกลหรือแม้แต่ในเขตเมืองไกลปืนเที่ยงเองก็ตาม
และโดยเฉพาะความไม่พร้อมของ infrastructure ทั้งเน็ต WiFi เน็ตประชารัฐที่ยังไม่ครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ จนทำให้กระทรวงศึกษาไม่สามารถจะนำเอานโยบายการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์มาใช้ได้
ก็คงจะด้วยเหตุนี้ นายกรัฐมนตรีถึงต้องจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5จีแห่งขาติขึ้นมาโดยเฉพาะ โดยหวังจะให้อาศัยกลไกของคณะกรรมการชุดดังกล่าวขับเคลื่อนให้ทุกอณูของระบบให้สามารถต่อยอดเทคโนโลยี 5จี อย่างได้ผล
ที่จริง! หากทุกฝ่ายจะได้พิจารณาผลงานความสำเร็จของการต่อยอดเทคโนโลยี เพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะการรับมือการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จนประเทศไทยประสบผลสำเร็จในการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเจ้าไวรัสดังกล่าว อยากได้ผลนั้น
บทบาทการทำงานของ "นักรบเสื้อเทา" อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม.ที่เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนผู้ให้บริการมือถือ คือ บริษัท แอดวานซ์อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด หรือ เอไอเอส ที่มีส่วนในการสนับสนุนการติดอาวุธให้กับนักรบเสื้อเทา อสม. มาตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อนผ่านแอปพลิเคขั่น "อสม.ออนไลน์" นั้น ถือเป็นตัวอย่างความสำเร็จ ที่น่าศึกษานำไปเป็นต้นแบบ
ล่าสุด กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ยังร่วมกับเอไอเอสพัฒนาแอปพลิเคชัน "อสม.ออนไลน์" ให้สามารถทำงานเชิงรุก ควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้มากยิ่งขึ้น โดยนายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา “สถานการณ์โรคโควิด-19 ของประเทศไทยผ่านจุดวิกฤติมาแล้ว จากจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ที่เริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง และรัฐบาลเริ่มคลายล็อกดาวน์ ก็อาจเป็นการเพิ่มโอกาสความเสี่ยงที่จะเพิ่มปริมาณผู้ติดเชื้อในระลอก 2 ได้"
ดังนั้น การเฝ้าระวัง ตรวจสอบอย่างใกล้ชิด ในชุมชนทั่วประเทศจากการทำงานของกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. “นักรบเสื้อเทา” ที่มีอยู่กว่า 1 ล้าน 5 หมื่นราย จึงมีความสำคัญสูงสุดในการสกัดกั้นการระบาดในระลอกที่ 2
ก็ไม่รู้ นโยบายยกระดับการศึกษาสู่ระบบออนไลน์ของประเทศไทยจะได้เรียนรู้ความสำเร็จจาก อสม.ออนไลน์ นี้หรือไม่ถึงทำให้การพัฒนาการศึกษา ของประเทศล้มลุกคลุกคลาน ย่ำอยู่กับที่ บทจะตีปี๊บนโยบายจัดการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ก็กลับเต็มไปด้วยปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก
จัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนกันมาอีกกี่ชุด แต่หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่รู้จักการบูรณาการ การใช้ประโยชน์ จัดเทคโนโลยีที่แท้จริง มันก็คงไม่ต่างไปจากบทบาทของกระทรวงดีอีเอส ที่แม้จะมีคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติอยู่ในมือ แต่ก็กลับทำงานไม่เป็น