“ออมสิน” ประกาศลุยจำนำทะเบียนรถ ดัดหลังธุรกิจแสบโขกดอกแพงลิบ 28-36% เผยคิดดอกเบี้ยแค่ 8-10% เท่านั้น ด้านพิโกไฟแนนซ์ยังติดพิษโควิด-19 ยอดตั้ง ปล่อยกู้ซืมลึก
มีรายงานข่าวระบุถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบประจำเดือนมิถุนายน 2563 โดยนายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า สถานการณ์การประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) ในเดือนมิถุนายน 2563 เริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวจากเดือนพฤษภาคม 2563 ไปในทิศทางบวกทั้งในด้านยอดสินเชื่ออนุมัติและจำนวนผู้ยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ เนื่องจากปัจจัยหลักที่ส่งผลลบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ได้ลดความรุนแรงลงแล้ว ประกอบกับรัฐบาลได้เริ่มดำเนินการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ส่งผลให้ประชาชนและภาคธุรกิจอุตสาหกรรมหลายประเภทเริ่มกลับมาดำเนินชีวิตและประกอบธุรกิจได้ตามปกติ
ทั้งนี้ ในเดือนมิถุนายน 2563 มีจำนวนผู้สนใจยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์สะสมสุทธิ 1,214 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2563 จำนวน 15 ราย ประกอบด้วย ผู้ยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์ (ทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท ให้สินเชื่อแก่ประชาชนได้ไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย) สะสมสุทธิ 1,049 ราย และผู้สนใจยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกพลัส (ทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ให้สินเชื่อแก่ประชาชนได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย) สะสม 165 ราย
โดยจังหวัดที่มีผู้ยื่นคำขออนุญาตสะสมมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา (114 ราย) กรุงเทพมหานคร (109 ราย) และขอนแก่น (68 ราย) ตามลำดับ ส่วนยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2563 จำนวน 269,880 บัญชี รวมเป็นจำนวนเงิน 7,018.34 ล้านบาท หรือคิดเป็นวงเงินสินเชื่ออนุมัติเฉลี่ยจำนวน 26,005.41 บาทต่อบัญชี และมียอดสินเชื่อคงค้างสะสมรวมจำนวนทั้งสิ้น 113,150 บัญชี คิดเป็นจำนวนเงิน 2,675.16 ล้านบาท โดยมีสินเชื่อค้างชำระ 1 - 3 เดือน สะสมรวมจำนวน 14,914 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงินสะสมรวม 374.13 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 13.99 ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม และมีสินเชื่อค้างชำระที่เกินกว่า 3 เดือน (NPL) สะสมรวมจำนวน 16,195 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงินสะสมรวม 423.69 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 15.84 ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม เพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นเดือนเมษายน 2563 ที่มียอด NPL อยู่ที่ร้อยละ 15.28 ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม
ด้านนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ในช่วงระยะ 3-6 เดือนจากนี้ ธนาคารจะเน้นการช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย พ่อค้าที่มีปัญหาหนี้สินสูง มีทั้งหนี้นอกระบบอัตราดอกเบี้ยสูง 10-20% ต่อเดือน ยังมีหนี้ในระบบที่อัตราดอกเบี้ยสูงอีก เช่น นอนแบงก์ เช่น สินเชื่อเช่าซื้อ จำนำทะเบียนรถ 20-28% ต่อปี ฟิโก นาโน 36% ต่อปี ธนาคารออมสินเห็นปัญหานี้ว่าเป็นดอกเบี้ยที่มีกำไรสูงเกินไป มีกำไรส่วนเกินอยู่มาก ธนาคารออมสินจะเข้าไปลุยในตลาดนอนแบงก์ก่อนเป็นอันดับแรก เพราะมีความเสี่ยงต่ำที่สุด
“เป็นภารกิจของธนาคารออมสิน ภายใน 6 เดือน ธนาคารออมสินจะแทรกเข้าไปในตลาดนอนแบงก์ ที่มีมูลหนี้อยู่ 5 แสนล้านบาท ธนาคารออมสินต้องการเห็นดอกเบี้ยลดลง 8-10% จะเริ่มทยอยเกิดขึ้นจะการที่ธนาคารออมสินเข้าไปรีไฟแนนซ์สินเชื่อส่วนนี้ออกมา หวังว่า เมื่อธนาคารออมสินเข้าไปรีไฟแนนซ์สินเชื่อจากนอนแบงก์ จะทำให้ดอกเบี้ยทั้งระบบของนอนแบงก์ไหลต่ำลงในที่สุด การทำเช่นนี้จะช่วยคนได้จำนวนมากมหาศาล”