ช.การช่าง เผยบริษัทเตรียมความพร้อมในทุกด้านเพื่อเดินหน้าอย่างแข็งแกร่งในช่วงครึ่งหลังปี 2563 ในการประมูลโครงการพัฒนาสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าจะกลับมาเริ่มประมูลตามแผนอีกครั้งหลังจากวิกฤตโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย มั่นใจในจุดแข็งที่โดดเด่นทั้งจากศักยภาพการผนึกกำลังของบริษัทในเครือ พร้อมประสบการณ์และความเชี่ยวชาญอันยาวนานด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยีการก่อสร้างระดับสูงในเมกะโปรเจกต์ที่หลากหลาย ตลอดจนแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Plan: BCP) ที่ชัดเจนและพร้อมปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อการดำเนินธุรกิจในรูปแบบที่เปลี่ยนไปสู่ New Normal อย่างไม่สะดุด โดยตั้งเป้ารายได้ปี 2563 ที่ 20,000 ล้านบาท
นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK เปิดเผยว่าสำหรับในปี 2563 บริษัทฯ ยังคงมุ่งไปที่การพัฒนาโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ตามโมเดลธุรกิจแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public Private Partnership: PPP) ซึ่งสามารถดำเนินการได้รวดเร็ว คล่องตัว และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ โดยอาศัยความแข็งแกร่งของกลุ่ม CK ซึ่งเป็นการผนึกกำลังของบริษัทต่างๆในเครือทั้ง บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM บริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน) หรือ TTW และ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP โดยการดำเนินธุรกิจด้วยกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานมาต่อเนื่องยาวนาน ส่งผลให้บริษัทได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ไม่มากนักและยังสามารถสร้างกระแสรายได้อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง มั่นใจในความพร้อมที่จะเข้าร่วมประมูลงานโครงการสาธารณูปโภคใหม่ต่างๆของภาครัฐทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศที่คาดว่าจะกลับมาเดินหน้าตามแผนในช่วงครึ่งปีหลังเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยสู่ New Normal
นางสาวสุภามาส ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า ณ สิ้นปี 2562 บริษัทฯ มีงานในมือ (Backlog) มูลค่า 38,515 ล้านบาท มีผลงานความสำเร็จที่สำคัญและเป็นความภาคภูมิใจของบริษัท คือ โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ซึ่งก่อสร้างเสร็จสิ้น ส่งมอบ และเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือนตุลาคม 62 และโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายระยะที่ 2 (สถานีหัวลำโพง – สถานีหลักสอง) ซึ่งได้ทยอยเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ตั้งแต่กันยายน 62 และเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ครบทั้งสายในเดือนมีนาคม 63 ที่ผ่านมา ซึ่งทั้ง 2 โครงการเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีความท้าทายด้านวิศวกรรม แต่บริษัทสามารถส่งมอบงานคุณภาพได้ตามแผนงานและภายใต้งบประมาณ ในปี 2562 บริษัทมีรายได้รวม 24,797 ล้านบาท กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัท จำนวน 1,778 ล้านบาท มีอัตรากำไรขั้นต้นที่ร้อยละ 8.61
สำหรับสถานการณ์โควิด-19 บริษัทไม่ได้รับผลกระทบทางตรงใดๆต่อรายได้ก่อสร้างและได้รับผลกระทบทางอ้อมเล็กน้อยจากการลงทุนเท่านั้น เนื่องจากเรามีแผนบริหารความเสี่ยงและแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ Business Continuity Plan (BCP) ที่ชัดเจนสำหรับการดำเนินธุรกิจทั้งในโครงการก่อสร้างและสำนักงานใหญ่ พร้อมแนวปฏิบัติในการดูแลความปลอดภัย สุขอนามัยอย่างเต็มที่ กลยุทธ์การมุ่งลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานหลากหลายทำให้บริษัทได้รับผลกระทบด้านรายได้น้อยเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น ส่วนการดำเนินธุรกิจในอนาคตและแผนการประมูลงานของเราก็ไม่ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะคาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 63 นี้ โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งเป็นกลจักรหลักในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ จะมีการทยอยเปิดประมูลออกมาตามแผน เราจึงพร้อมเดินหน้าสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐเพื่อผลักดันเศรษฐกิจไทยไปสู่ New Normal โดยโครงการที่เราให้ความสำคัญ คือ รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก มูลค่ากว่า 120,000 ล้านบาท รถไฟฟ้าสายสีม่วงด้านใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ มูลค่า 77,000 ล้านบาท และโครงการรถไฟทางคู่ที่ผ่าน EIA แล้ว 3 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 180,000 ล้านบาท สำหรับในต่างประเทศ ขณะนี้ CKP อยู่ระหว่างเจรจาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแห่งใหม่ในลาว มูลค่าใกล้เคียงกับ ไซยะบุรี มั่นใจว่าจะเห็นความชัดเจนได้ภายในปีนี้ บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 2563 ไว้ที่ประมาณ 20,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ในช่วงปีที่ผ่านมา บริษัทยังได้รับรางวัลจากองค์กรภาครัฐและเอกชนต่างๆ มากมาย ทั้งรางวัลการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนไทย ประจำปี 2562 จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รางวัลดีเด่นด้านการบริหารจัดการอาชีวอนามัย จากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย รางวัล Environmental Social and Governance 100 (ESG100) สถาบันไทยพัฒน์ และรางวัล “Drive Award 2019” บริษัทที่มีนวัตกรรมมีการบริหารจัดการเป็นเลิศ ในกลุ่มธุรกิจ Property and Construction จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สำหรับโครงการต่าง ๆ ที่กำลังดำเนินการ มีความคืบหน้าตามแผนที่วางไว้ โดย ณ เดือนธันวาคม 2563 มีรายละเอียด ดังนี้
- โครงการมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน – นครราชสีมา สัญญาที่ 3 ความคืบหน้าร้อยละ 84
- โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม – มีนบุรี) สัญญาที่ 1 ความคืบหน้าร้อยละ 44.80, สัญญาที่ 2 ความคืบหน้าร้อยละ 36.70 และสัญญาที่ 5 ความคืบหน้าร้อยละ 48.20
- โครงการทางพิเศษพระราม 3 – ดาวคะนอง สัญญาที่ 4 สะพานขึงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ความคืบหน้าร้อยละ 0.1
ขณะเดียวกัน บริษัทยังมุ่งสนับสนุนการดำเนินโครงการความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างครอบคลุมรอบด้านในทุกมิติ เริ่มจากการเลือกโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศ การดูแลสิ่งแวดล้อมชุมชนและสังคมเพื่อลดผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการบริหารตามหลักธรรมมาภิบาลและการพัฒนาอย่างยั่งยืน นอกจากนั้นบริษัทยังดำเนินโครงการต่างๆอย่างต่อเนื่องเช่น ด้านการส่งเสริมการศึกษาแก่เยาวชน ด้านกิจกรรมสาธารณกุศล การช่วยเหลือและสนับสนุนบุคลากรด้านสาธารณสุขและการแพทย์ในภารกิจสู้ภัยโควิด-19 ตลอดจนการใช้ศักยภาพด้านงานช่างและวิศวกรรม ในการสนับสนุนกิจกรรม “โครงการส่งเสริมนวัตกรรมช่างชุมชน” ซึ่งทั้งหมดล้วนสอดคล้องกับพันธกิจของ ช. การช่าง ในการสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืนโดยมุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนและพัฒนาประเทศผ่านโครงสร้างพื้นฐานและการคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวม