กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จัดพิธีมอบใบประกาศนียบัตรให้ธุรกิจที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจในระบบแฟรนไชส์ จำนวน 34 ราย จาก 5 กลุ่มธุรกิจได้แก่ อาหาร เครื่องดื่ม บริการ ค้าปลีก และการศึกษา ที่ผ่านการเคี่ยวจากผู้เชี่ยวชาญอย่างเข้มข้น เพื่อออกไปเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจ และช่วยพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการให้ธุรกิจเดินตามมาตรฐานสากล รวมถึงกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยโมเดลแฟรนไชส์ ที่ตอบโจทย์การตลาดในยุควิถีใหม่
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้จัด “พิธีมอบประกาศนียบัตรธุรกิจแฟรนไชส์ที่ผ่านการยกระดับสู่มาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการ ประจำปี 2563” นับเป็นความสำเร็จของกรมฯ ที่มุ่งมั่นพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์อย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับศักยภาพธุรกิจ สร้างแฟรนไชส์ไทยที่มีการบริหารจัดการที่เป็นระบบ มีมาตรฐานคุณภาพสร้างความน่าเชื่อถือแก่ผู้ลงทุนและสร้างความยั่งยืนแก่ธุรกิจ ที่จะทำให้แฟรนไชส์ซอร์และแฟรนไชส์ซี สามารถเติบโตขยายสาขา ขยายการลงทุนได้อย่างมั่นคง
อธิบดี กล่าวต่อว่า “สำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานฯ จะได้รับประกาศนียบัตรและเครื่องหมาย Franchise Standard ซึ่งในปีนี้มีจำนวน 34 กิจการ แบ่งได้ 5 กลุ่มธุรกิจคือ 1) ธุรกิจอาหาร จำนวน 16 ราย 2) ธุรกิจเครื่องดื่ม จำนวน 11 ราย 3) ธุรกิจบริการ จำนวน 4 ราย 4) ธุรกิจค้าปลีก จำนวน 2 ราย และ 5) ธุรกิจการศึกษา จำนวน 1 ราย โดยทั้งหมดเป็นธุรกิจที่จดทะเบียนในรูปแบบนิติบุคคล มีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์มาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี พร้อมกับผ่านการเข้าร่วมกิจกรรมบ่มเพาะองค์ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ ได้รับคำปรึกษาแนะนำ (Coaching) จากผู้เชี่ยวชาญ ณ สถานประกอบการเป็นรายธุรกิจ และเข้ารับการศึกษาดูงานธุรกิจแฟรนไชส์ที่เป็นต้นแบบ (Best Case) ด้านการบริหารจัดการธุรกิจ และผ่านการตรวจประเมินผลการพัฒนาเพื่อขอการรับรองมาตรฐานฯ”
“ในขณะที่ทั่วโลกได้เกิดวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19 ธุรกิจแฟรนไชส์ได้พิสูจน์ความเข้มแข็งของโมเดลธุรกิจมาแล้วว่ามีประสิทธิภาพทางการตลาดอย่างมาก แม้ว่าธุรกิจแฟรนไชส์ส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบโดยตรง มีกิจการจำนวนมากหยุดชะงักและขาดสภาพคล่อง บางสาขาที่ต้องปิดตัวลง แต่ทันทีที่สถานการณ์ในประเทศเริ่มผ่อนคลายลงพบว่า ธุรกิจแฟรนไชส์เป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมแรกๆ ที่ฟื้นตัวกลับคืนมาอย่างก้าวกระโดด ไม่ว่าจะเป็นการปรับตัวและรูปแบบการทำธุรกิจให้เข้ากับวิถีชีวิตแบบใหม่ นำเทคโนโลยี นวัตกรรม และการจัดการข้อมูลมาใช้ในการดำเนินธุรกิจอย่างเต็มตัว โดยเฉพาะการปรับช่องทางสู่ออนไลน์ รวมถึงการสร้างเครือข่ายพันธมิตร รวมกลุ่มกันเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรม ปัจจุบันแฟรนไชส์จึงกลายเป็น “ธุรกิจดาวรุ่ง” และเป็นทางเลือกในการลงทุนและสร้างรายได้สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นรูปแบบธุรกิจอย่างหนึ่งที่ช่วยสร้างการเติบโตได้อย่างรวดเร็ว โดยกรมฯ มั่นใจว่าแฟรนไชส์ไทยจะเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยขับเคลื่อนการบริโภคภายในประเทศ กระตุ้นการจ้างงานในภูมิภาค การสร้างอาชีพและความมั่งคั่งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจไทยในภาพรวมได้ในอนาคต และหากเป็นธุรกิจแฟรนไชส์ที่ได้รับรองตามมาตรฐานฯ ก็จะช่วยให้มีกระบวนการควบคุมดูแลแฟรนไชส์ซีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ อีกทั้งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาศักยภาพและกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อสร้างความพร้อมต่อการออกสู่ตลาดต่างประเทศได้อีกด้วย”
“ข้อมูล ณ วันที่ 2 ก.ย. 63 พบว่า มีธุรกิจแฟรนไชส์ที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการจากกรมฯ พัฒนาธุรกิจการค้า โดยยังคงดำเนินธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์จำนวน 334 ราย แบ่งตามประเภทธุรกิจ ดังนี้ ธุรกิจอาหาร จำนวน 157 ราย ธุรกิจเครื่องดื่ม จำนวน 65 ราย ธุรกิจการศึกษา จำนวน 43 ราย ธุรกิจบริการ จำนวน 36 ราย ธุรกิจค้าปลีก จำนวน 18 ราย และธุรกิจความงามและสปา จำนวน 15 ราย ซึ่งมีธุรกิจแฟรนไชส์ที่สามารถขยายไปยังตลาดต่างประเทศได้ถึง 34 ราย ใน 32 ประเทศ ทั้งนี้ ในแต่ละปีมีผู้ประกอบการรายใหม่ที่สนใจเข้าสู่ธุรกิจแฟรนไซส์กว่า 15,000-20,000 ราย โดยกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มที่มีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 50 รองลงมาคือ ค้าปลีก ธุรกิจบริการ ความงามและสปา และธุรกิจการศึกษา ซึ่งนับเป็นแนวโน้มการเติบโตที่ดีเมื่อเทียบกับภาพรวมของเศรษฐกิจในประเทศ” อธิบดี กล่าวในท้ายที่สุด