เผย ครม. อนุมัติจัดตั้ง บริษัท บริหารสินทรัพย์รถไฟ จำกัด เพื่อพัฒนาและบริหารการใช้งานที่ดินการรถไฟ กว่า 30,000 ไร่ ทั่วประเทศ
รายงานข่าวจากเพจโครงสร้างพื้นฐานประเทศไทยระบุว่า ประเด็นร้อนล่าสุดของวงการรถไฟไทยในวันนี้ต้องกล่าวถึง ”บริษัท บริหารสินทรัพย์รถไฟ จำกัด” ซึ่งทางคณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติจัดตั้ง พร้อมกับอนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)กู้เงิน เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนของ บริษัท อีก 200 ล้านบาท
โดยมติ ครม.อนุมัติจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อบริหารทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทยตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จัดตั้งบริษัทลูกเพื่อบริหารทรัพย์สินของ รฟท. (บริษัทลูกฯ) โดยเบื้องต้นจะใช้ชื่อว่า บริษัท รถไฟพัฒนาสินทรัพย์ จำกัด
มีทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท ตาม มาตรา 39 (8) แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 และตามขั้นตอนของหลักเกณฑ์การจัดตั้ง/ ร่วมทุนในบริษัทในเครือตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2550 โดยให้นำความเห็นตามมติ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 ไปประกอบการดำเนินการอย่างเคร่งครัด
2. เห็นชอบให้ รฟท. กู้ยืมเงิน จำนวน 200 ล้านบาท ตามมาตรา 39 (4) แห่งพระราชบัญญัติการ รถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 เพื่อนำมาลงทุนเป็นทุนจดทะเบียนในบริษัทลูกฯ โดย รฟท. รับภาระต้นเงินกู้ ดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายในการกู้เงิน และกระทรวงการคลัง (กค.) ค้าประกันการกู้เงิน
รวมทั้งพิจารณาวิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดตามความเหมาะสม
สำหรับการขอยกเว้นการคิดค่าธรรมเนียมการค้าประกันเงินกู้ให้แก่ รฟท. พิจารณาดาเนินการตามความเห็นของ กค.
พลิกที่ดินทำเลทองกว่า 30,000 ไร่ ”พัฒนาเชิงพาณิชย์”
จากข้อมูลการศึกษาเบื้องต้นจาก สจล. นั้น การรถไฟโอนที่ดิน นอกเหนือจากกิจกรรมรถไฟ (Non-Core business) ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ 39,415 ไร่ ซึ่งจะแบ่งรูปแบบการบริหารที่ดินเป็น 3 รูปแบบคือ
1. บริหารจัดการสัญญาเช่าเดิม และเก็บค่าเช่า ประมาณ 15,000 สัญญา
2. จัดสรรพื้นที่ในรูปแบบ PPP
3. พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะทำในพื้นที่สัญญาเช่าเดิมที่หมดอายุ และพื้นที่ว่างพร้อมพัฒนา
โดยมีรายละเอียดคร่าวๆ ที่คาดว่าจะเป็นโครงการนำร่องในมือของ บริษัท บริหารสินทรัพย์รถไฟ จำกัด จากโครงการศึกษา TOD ดังนี้..
โครงการพัฒนาที่ดินแปลงใหญ่ในกรุงเทพ
- ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน 2,325 ไร่
- ย่านสถานีมักกะสัน 423 ไร่ (ส่วนที่เหลือนอกโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน)
- ย่านสถานีแม่น้ำ 277 ไร่
โครงการในพื้นที่ภาคเหนือ
- ย่านสถานีพิษณุโลก 31 ไร่
- ย่านสถานีอุตรดิตถ์ 30 ไร่
- ย่านสถานีนครลำปาง 24 ไร่
- ย่านสถานีเชียงใหม่ 50 ไร่
- ย่านสถานีศิลาอาสน์ 124 ไร่
- ย่านสถานีนครสวรรค์ 92 ไร่
โครงการในพื้นที่ภาคใต้
- ย่านสถานีหาดใหญ่ 30 ไร่
โครงการในพื้นที่ภาคอีสาน
- ย่านสถานีขอนแก่น 108 ไร่
ซึ่ง บริษัท บริหารสินทรัพย์รถไฟ จำกัด จะเข้ามาบริหารจัดการ การใช้ประโยชน์ที่ดิน และร่วมลงทุนกับเอกชนในรูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างมูลค่าจากที่ดินให้สูงสุด จากปัจจุบัน รฟท.มีที่ดินที่ไม่ได้ใช้ เพื่อการเดินรถ 38,469 ไร่ มูลค่าประมาณ 300,000 ล้านบาท
แต่มีรายได้ผลตอบแทนจากการบริหารสินทรัพย์ประมาณปีละ 2,400 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1 ของมูลค่าสินทรัพย์ เพราะไม่มีความเชี่ยวชาญในการบริหาจัดการพื้นที่ และอยู่ในโครงสร้างของรัฐวิสาหกิจที่ไม่คล่องตัว
จากการประเมิน ในระยะ 30 ปี บริษัท บริหารสินทรัพย์รถไฟ จำกัด จะสร้างรายได้ให้แก่การรถไฟถึง 631,628 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอที่จะนำมาแก้ไขปัญหาหนี้สิน และจุนเจือรายจ่ายในการบริหารงานองค์กรในอนาคต
เจาะมติ ครม.คลอดบริษัทลูกรถไฟ..ลุยต่อยอดที่ดินสามแสนล้าน!
เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา ครม.เห็นชอบ รฟท.จัดตั้งบริษัทลูกบริหารสินทรัพย์ พร้อมกู้เงิน 200 ล้านบาทเป็นทุนจดทะเบียน
โดย น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.เห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จัดตั้งบริษัทลูกเพื่อบริหารทรัพย์สิน โดยใช้ชื่อว่า บริษัท รถไฟพัฒนาสินทรัพย์ จำกัด มีทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท โดยเห็นชอบให้กู้ยืมเงิน 200 ล้านบาท เพื่อนำมาลงทุนเป็นทุนจดทะเบียน
โดย รฟท.รับภาระต้นเงินกู้ ดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายในการกู้เงินมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันการกู้เงินรวมถึงพิจารณาวิธีการรกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดตามความเหมาะสม
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมรายงานถึงความจำเป็นในการจัดตั้งบริษัทลูกครั้งนี้ว่า รฟท.มีที่ดินที่ไม่ได้ใช้เพื่อการเดินรถ 38,469 ไร่ มูลค่าประมาณ 300,000 ล้านบาท แต่มีรายได้ผลตอบแทนจากการบริหารสินทรัพย์ประมาณปีละ 2,400 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1 ของมูลค่าสินทรัพย์ เนื่องจากการบริหารสินทรัพย์ไม่ใช่กิจกรรมหลักที่ รฟท.มีความชำนาญเฉพาะด้าน ทำให้ไม่สามารถนำสินทรัพย์ที่มีอยู่มาบริหารจัดการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จึงมีความจำเป็นที่ต้องจัดตั้งองค์กรขึ้นมาใหม่ เพื่อบริหารสินทรัพย์เป็นกิจกรรมหลัก
สำหรับรายได้ของบริษัท รถไฟพัฒนาสินทรัพย์ จำกัด จะมาจาก 3 ส่วน คือ
1. รายได้จากค่ารับจ้างบริหารสัญญาเช่าเดิม 15,270 สัญญา โดยสินทรัพย์ทั้งหมดยังคงเป็นของ รฟท.
2. รายได้จากการให้เช่าช่วง ร่วมทุน หรือพัฒนาที่ดินเดิมที่หมดอายุสัญญา
3. รายได้จากโครงการร่วมลงทุนกับเอกชนและการพัฒนาพื้นที่ดินเปล่าแปลงอื่น ๆ และในอนาคตอาจมีรายได้จากการขายกระแสเงินสดในอนาคตให้กับกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์
ส่วนผลประโยชน์ที่จะได้รับนั้น รฟท.จะมีรายได้จากบริษัท รถไฟพัฒนาสินทรัพย์ จำกัด มาลดภารระหนี้สิน โดยประมาณการผลตอบแทนที่ รฟท.จะได้รับในระยะเวลา 30 ปี จะอยู่ที่ 631,628 ล้านบาท เพียงพอที่จะนำมาแก้ไขปัญหาหนี้สินปัจจุบัน ซึ่งข้อมูลวันที่ 31 ธันวาคม 2562 มีภาระหนี้สินรวม 177,611 ล้านบาท
จากวินาทีนี้ต้องจับตารถไฟไทยตามแผนยกเครื่องใหม่ทั้งกระบิ จะเป็นจริงหรือไม่?
หมายเหตุ:
- ขอบคุณข้อมูล-ภาพจากเพจโครงสร้างพื้นฐานประเทศไทย