วันนี้ (6 ตุลาคม 2563) นายสมชาย หอมกลิ่นแก้ว รองผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง หรือ MEA เปิดเผยว่า ตามที่ MEA ได้ก่อสร้างสถานีไฟฟ้าต้นทางบางซื่อ เพื่อรองรับการจ่ายไฟฟ้าพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ (ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน) และพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชนหรือ TOD (Transit Oriented District) ครอบคลุมพื้นที่กว่า 2,235 ไร่ ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการขับเคลื่อนให้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์อาเซียน เชื่อมโยงระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ Smart Metro Grid รวมถึงพัฒนาศูนย์พหลโยธินให้เป็น Smart City และรองรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ - รังสิต) นั้น
ล่าสุดการก่อสร้างเป็นไปตามแผนงานมีผลความคืบหน้ามากกว่าร้อยละ 90 พร้อมจ่ายไฟฟ้าเพื่อทดสอบการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดงได้ภายในปีนี้ ผ่านการควบคุมบริหารจัดการระบบไฟฟ้าด้วย SCADA (Supervisory Control and Data Acquisition) ที่ทันสมัย
รองผู้ว่าการ MEA กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการก่อสร้างสถานีไฟฟ้าต้นทางบางซื่อ เริ่มต้นก่อสร้างในเดือนธันวาคม 2560 ภายใต้งบประมาณ 1,275 ล้านบาท มีประสิทธิภาพรองรับปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงถึง 1,800 MVA หรือเทียบเท่าประมาณ 7.5 เท่าของศักยภาพระบบจ่ายไฟฟ้าให้กับนิคมอุตสาหกรรมบางปู แต่ในการจ่ายไฟฟ้าจริงนั้น ปัจจุบัน MEA ได้เตรียมรองรับโดยแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 จำนวน 900 MVA และระยะที่ 2 เพิ่มเติมจำนวน 300 MVA เมื่อมีการเพิ่มเติมรถไฟฟ้าเส้นทางอื่น ๆ ในสถานีกลางบางซื่อ รวมถึง MEA ยังมีความพร้อมที่จะเพิ่มการรองรับจนครบประสิทธิภาพหากมีแนวโน้มความต้องการไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้ ปัจจุบัน โครงการก่อสร้างสถานีไฟฟ้าต้นทางบางซื่อได้ดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าแรงสูง 230kV, 115kV, 24kV ระบบระบบควบคุมและป้องกัน พร้อมทดสอบการใช้งานของสถานีไฟฟ้าแล้วเสร็จ คงเหลืองานก่อสร้างบางส่วนที่ต้องรอการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค ซึ่งคาดว่าจะพร้อมจ่ายไฟให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงในเดือน พฤศจิกายน 2563 นี้
ขณะเดียวกัน การเตรียมพร้อมระบบการจำหน่ายไฟฟ้าของสถานีต้นทางบางซื่อ ยังมีการออกแบบให้มีระบบสำรองไฟฟ้าในกรณีเหตุฉุกเฉินโดยบูรณาการร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในการสับถ่ายเชื่อมโยงระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงจ่ายไฟฟ้าจากแหล่งจ่ายสถานีไฟฟ้าแรงสูงข้างเคียงของ กฟผ. ในพื้นที่โดยรอบ 3 สถานี (สถานีไฟฟ้าแจ้งวัฒนะ พระนครเหนือ และลาดพร้าว) รวมถึงการเชื่อมโยงจากสายส่งไฟฟ้าจากสถานีย่อยข้างเคียงของ MEA เอง ทำให้เพิ่มความเสถียรภาพของระบบไฟฟ้ามีความมั่นคงยิ่งขึ้น อีกทั้ง MEA ยังได้ออกแบบระบบจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่เป็นรูปแบบระบบสายไฟฟ้าใต้ดินทั้งหมดจึงทำให้ระบบการจ่ายไฟฟ้ามีความมั่นคงเสถียรภาพ ปลอดภัย และช่วยปรับทัศนียภาพบริเวณสถานีกลางบางซื่อมีทัศนียภาพที่สวยงาม นอกจากนี้ ในอนาคต MEA ยังมีความพร้อมในการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้ากับระบบการควบคุมจัดการที่ทันสมัยระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ Smart Metro Grid เพื่อพัฒนาสู่การเป็น Smart City ตามนโยบายรัฐบาลต่อไป