
ยังคงเป็นประเด็นสุดฮอต เป็น "ทอล์ก ออฟ เดอะทาวน์"...
กับผลงานชิ้น "โบแดง" ของ นายพีระพันธ์ สารีรัฐวิภาค รองนายกฯ และ รมต.พลังงาน ที่ตีฆ้องร้องป่าวเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชนคนไทยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา
นั่นคือ การนำเสนอมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชนให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 68 โดยกำหนดราคาเป้าหมายสำหรับค่าไฟในงวดเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2568 ไม่เกินหน่วยละ 3.99 บาท

พร้อมมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี และ รมต.พลังงาน กำกับดูแลให้คณะกรรมการ (บอร์ด) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (กฟผ.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ร่วมกันดำเนินการใน 3 เรื่อง เพื่อให้การปรับลดค่าไฟเป็นไปตามเป้าหมายให้เสร็จสิ้นภายใน 45 วัน ได้แก่
1. หาแนวทางแก้ไขปัญหาสัญญารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) และ Feed-in-tariff : FIT และเงื่อนไขที่กำหนดให้มีอายุสัญญาต่อเนื่องโดยไม่กำหนดวันสิ้นสุดสัญญา
2. หาแนวทางแก้ไขปัญหาค่าความพร้อมจ่าย (AP) และค่าพลังงาน (EP) รวมทั้งเงื่อนไขข้อตกลงอื่นในสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชน (IPP) ตามสัญญารับซื้อไฟฟ้าระยะยาว (PPA) ทุกสัญญาที่มีเงื่อนไข ทำให้ กฟผ. หรือรัฐเสียเปรียบ และ
3. ให้หาแนวทางแก้ไขปัญหา อุปสรรคในข้อตกลงในสัญญารับซื้อไฟฟ้าต่างๆ ที่ทำให้ศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า (SO) ไม่สามารถบริหารจัดการ การสั่งผลิตไฟฟ้าให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ลดต่ำลงได้
นอกจากนี้ ยังเห็นชอบให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ศึกษาและเสนอแนวทางปรับโครงสร้าง ระบบก๊าซธรรมชาติ (Pool Gas) เพื่อให้ราคาก๊าซสำหรับใช้ในการผลิตไฟฟ้าให้ประชาชนมีราคาต่ำลง โดยให้ดำเนินการให้ทันการประกาศ ราคาไฟฟ้า สำหรับรอบเดือนกันยายน-ธันวาคม 68
นี่หากไม่เจอข่าวฉาว "ตึก สตง.ถล่ม" กับ "พี่โตโน่กินตับ" มีหวังผลงานชิ้นโบแดงของกระทรวงพลังงานได้ขึ้นชาร์ตติดท็อป 5 ของข่าวดีที่ประชาชนคนไทยเพรียกหารอคอยกันมานานไปแล้ว

#กกร. ผวาแบกรับภาระค่าไฟฟ้าท่วมหัว
แน่นอนว่า มาตรการที่รองนายกฯ และ รมต.พลังงาน ป่าวประกาศข้างต้น เป็นใครก็ต้อง "ขานรับ-ชูจั๊กแร้เชียร์" กันหูดับตับไหม้ ใครถ่อเรือเข้าไปขวาง คงถูกตราหน้าว่าเป็น "ร่างทรง" กลุ่มทุนพลังงาน ทำตัวเป็น "ไอ้เข้ขวางคลอง" แน่!
แต่กระนั้นล่าสุดสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน กลับมีหนังสือแสดงความกังวลไปยัง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อให้พิจารณาผลกระทบในวงกว้างที่จะเกิดขึ้นจากนโยบายข้างต้น

โดย นายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานอาวุโสสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ถึงกับออกมาแสดงความกังวลต่อมติ ครม. ข้างต้น โดยระบุว่า ภาคเอกชนมีความกังวลต่อนโยบายการปรับโครงการสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ หรือ Pool Gas ที่มีแนวคิดจะผลักภาระต้นทุนไปให้ภาคอุตสาหกรรมแบกรับ เพื่อทำให้ค่าไฟฟ้าลดลง ซึ่งนโยบายดังกล่าวคาดว่าจะทำให้ราคาก๊าซภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้นเกือบ 60% จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตภาคอุตสาหกรรมสูงถึง 30,000 ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้ โครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติที่ผลิตไฟฟ้าในปัจจุบันมาจาก 3 แหล่ง คือ 1. อ่าวไทย 50% ถูกที่สุด 2. เมียนมา 10% และ 3. การนำเข้า LNG ซึ่งมีราคาแพงสุด ซึ่ง รมต.กระทรวงพลังงาน ต้องการโยกก๊าซ LNG ที่เป็นต้นทุนสูงสุดมาให้ภาคอุตสาหกรรมแบกรับภาระแทน ซึ่งภาคเอกชนมองว่าไม่ใช่หนทางแก้ไขปัญหา ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เมื่อวันที่ 3 เม.ย. ได้ร่วมลงนามส่งหนังสือแสดงความกังวลดังกล่าวไปยังนายกฯแล้ว
"การปรับโครงสร้างราคาพลังงานจึงควรมีการศึกษาความเป็นไปได้ และผลกระทบของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนอย่างสมดุล ตลอดจนพิจารณาแนวทางการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุของโครงสร้างพลังงาน ไม่ใช่การโยกตัวเลขหรือผลักภาระต้นทุนไปให้อีกภาคส่วน"
#ใบเบิกทาง "เคาะกะลา"?
หากทุกฝ่ายจะได้ย้อนไปถึงที่มาที่ไปของมาตรการจูงใจในการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนและไฟฟ้าทางเลือกทั้งหลาย ไม่ว่าจะในรูปส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟ Adder ในอดีตก่อนจะปรับมาสู่ระบบ Feed in Tarrif: FiT ในปัจจุบันก็คงต้องย้อนถามว่าใครเป็นผู้เสนอมาตรการเหล่านี้หรือ?
ก็กระทรวงพลังงาน กกพ. และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (คกพ.) ทั้งนั้น ภาคเอกชนหรือกลุ่มทุนพลังงาน ดอดส่งคนเข้ามาโม่แป้งเองอย่างนั้นหรือ!
และหากพิจารณา "ไส้ใน" มาตรการที่พลังงานขอไฟเขียวจากที่ประชุม ครม. ในการดำเนินมาตรการในอันที่จะกรุยทางไปสู่การปรับลดค่าไฟฟ้าไม่ว่าจะเป็นการหาแนวทางแก้ไขปัญหาสัญญารับซื้อไฟฟ้าทั้งค่า Adder และ FIT เงื่อนไขที่กำหนดให้มีอายุสัญญาต่อเนื่องโดยไม่กำหนดวันสิ้นสุดสัญญา หรือการหาแนวทางแก้ไขปัญหาค่าความพร้อมจ่าย (AP) และค่าพลังงาน (EP) รวมทั้งเงื่อนไขข้อตกลงอื่นในสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากเอกชน (IPP) ตามสัญญารับซื้อไฟฟ้าระยะยาว (PPA) ทุกสัญญาที่มีเงื่อนไขทำให้ กฟผ. หรือรัฐเสียเปรียบ

มันแทบไม่ต่างจากใบเบิกทางในการ "เคาะโต๊ะ" เพื่อเจรจาต้าอวยแบบ "ยื่นหมู-ยื่นแมว" ดีๆ นี่เอง จะปรับลดค่า Adder หรือ FiT สักกี่มากน้อยก็ขึ้นอยู่กับการเจรจาต้าอวยที่จะมีขึ้น เกิดเอกชนใจดียอมปรับลดค่า Adder ให้ 2.50-3.50 บาทต่อหน่วย แต่คณะทำงานเจรจาเกิดเห็นอกเห็นใจเลยไฟเขียวเคาะตัวเลขปรับลดให้แค่ 1.50-2.0 บาท ใครจะรับรู้ว่า "ส่วนต่าง" ที่เกิดขึ้นจะไปตกหล่นอยู่ที่ไหน?
หรือเกิดมี "ไอ้โม่ง" สั่งให้ "หักดิบ" สัญญา PPA แบบไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรม เพราะมีมติ ครม. รองรับไว้แล้ว จนนำมาซึ่งการที่รัฐ หรือ ครม. ถูกฟ้องกันระนาว สิ่งเหล่านี้ใครจะไปรับรู้ได้
ไม่ต้องมาบอกว่าเรื่องการเจรจาเหล่านี้ รมต. ไม่ได้ลงไป "ล้วงลูก" เจรจาเอง แต่มีคณะกรรมการหรือคณะทำงานที่มีผู้ทรงคุณวุฒิ มีความรู้ความเชี่ยวชาญหรือเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงทำหน้าที่เจรจาต้าอวยอยู่แล้ว
เพราะสิ่งเรานี้ เราเคยเห็นกันมานักต่อนัก อย่างกรณีการซื้อตึกร้าง Skyy9 มูลค่ากว่า 7 พันล้าน ของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ที่ไม่รู้คิดอ่านอย่างไรจึงตัดสินใจเข้าไปลงทุน โดยที่ไม่รู้ว่าชาตินี้จะได้ผลตอบแทนหรือถอนทุนคืนกลับมาให้ผู้ประกันตนหรือไม่ ตัว รมต.แรงงาน ที่เคยกำกับดูแลหน่วยงาน สปส. ก็ออกมายืนยัน นั่งยันไม่เคยรับรู้ไส้ในอะไรเขาเลย เขาเจรจาต้าอวยกันอย่างไร รมต.ไม่มีอำนาจไม่มีสิทธิ์ "ล้วงลูก" ดูได้
หากท้ายที่สุด กกพ. และ กฟผ. ไม่สามารถจะหักดิบผลักภาระต้นทุนไปยังภาคอุตสาหกรรมได้ ก็เชื่อแน่ว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯหรือ กฟผ. เองนั่นแหล่ะ ที่จะถูกลากออกมาแบกรับภาระที่ว่านั้นเสียเอง
ปูเสื่อรอดูกันได้เลย!