สตง.ร่วมแนะ กทม. สู่ “มหานครแห่งเอเซีย” หลังตรวจพบสวัสดิภาพความปลอดภัยของคนกรุงในหลายด้านยังน่าเป็นห่วง!
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้จัดทำแผนพัฒนากรุงเทพมหานครระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2556 – 2575) เพื่อใช้เป็นกรอบในการพัฒนาให้ก้าวสู่การเป็น “มหานครแห่งเอเชีย” ในปี 2575 ซึ่งประกอบด้วยประเด็นยุทธศาสตร์สำคัญ 6 ด้าน ได้แก่ มหานครปลอดภัย มหานครสีเขียว มหานครสำหรับทุกคน มหานครกะทัดรัด มหานครแห่งประชาธิปไตย และมหานครแห่งเศรษฐกิจและการเรียนรู้ โดยแผนพัฒนาฯ ในระยะที่ 1 (พ.ศ. 2556 – 2560) มีเป้าหมายให้กรุงเทพมหานครเป็นมหานครปลอดภัย ประกอบด้วย 6 ด้าน ได้แก่ 1) ปลอดมลพิษ 2) ปลอดอาชญากรรมและยาเสพติด 3) ปลอดอุบัติเหตุ 4) ปลอดภัยพิบัติ 5) สิ่งก่อสร้างปลอดภัย และ 6) ปลอดโรคคนเมือง อาหารปลอดภัยนั้น
นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตระหนักถึงความสำคัญของสภาพปัญหาด้านความปลอดภัยของกรุงเทพมหานคร ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขจำเป็นพื้นฐานของประชาชน ประกอบกับยุทธศาสตร์ด้านมหานครปลอดภัยเป็นเป้าหมายแรกของการพัฒนากรุงเทพมหานคร และได้มีการดำเนินงานผ่านมาระยะหนึ่งแล้ว จึงได้เลือกตรวจสอบเรื่องดังกล่าว
โดย วางแผนการตรวจสอบการดำเนินงานแบบต่อเนื่องหลายปี (Multi-year Performance Audit Plan) จำนวน 3 ครั้ง และการตรวจสอบการดำเนินงาน มหานครปลอดภัย ด้านปลอดอาชญากรรมและยาเสพติด และด้านปลอดโรคคนเมือง อาหารปลอดภัย เป็นการตรวจสอบครั้งที่ 2 เพื่อให้ทราบถึงผลการดำเนินงานว่าเป็นไป อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล หรือไม่ ตลอดจนเพื่อให้ทราบปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน และให้ข้อเสนอแนะเพื่อนำไปสู่แนวทางการแก้ไขข้อบกพร่องที่อาจเกิดขึ้นต่อไป
จากการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงาน มหานครปลอดภัย ด้านปลอดอาชญากรรมและยาเสพติด และด้านปลอดโรคคนเมือง อาหารปลอดภัย มีประเด็นข้อตรวจพบที่สำคัญ ดังนี้
1. ด้านปลอดอาชญากรรมและยาเสพติด จากการตรวจสอบการดำเนินงานเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในพื้นที่สาธารณะและลดจุดเสี่ยงอาชญากรรม พบว่า กรุงเทพมหานครมีมาตรการในการลดเงื่อนไขความล่อแหลมของสภาพแวดล้อมต่อการเกิดอาชญากรรม ประกอบด้วย การติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่าง การติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด การตัดต้นไม้ ทำความสะอาดพื้นที่รกร้างว่างเปล่า และการจัดชุดสายตรวจออกตรวจจุดเสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรมหรือสายตรวจตู้เขียว อย่างไรก็ตาม มีข้อตรวจพบที่สำคัญ ได้แก่ การบริหารจัดการระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดเพื่อความปลอดภัยในพื้นที่กรุงเทพมหานครยังไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ กล่าวคือ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2560 - กันยายน 2561 มีผู้ขอรับบริการสืบค้นข้อมูลภาพจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิด จำนวน 8,977 จุดติดตั้ง กรุงเทพมหานครมีข้อมูลภาพให้กับผู้ขอรับบริการ จำนวน 6,363 จุดติดตั้ง หรือคิดเป็นร้อยละ 70.88 ของจำนวนจุดติดตั้งที่ขอรับบริการทั้งหมด
นอกจากนี้ จากการสังเกตการณ์การทำงานของระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดแบบบันทึกเหตุการณ์ที่ จุดติดตั้ง (Stand Alone) จำนวน 15 จุดติดตั้ง 59 กล้อง พบว่า มีจุดติดตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ที่กล้องสามารถบันทึกภาพได้ครบทุกกล้อง จำนวน 6 จุดติดตั้ง รวม 24 กล้อง หรือคิดเป็นร้อยละ 40 ของจำนวนจุดติดตั้งที่สุ่มตรวจสอบ
“การดำเนินงานที่ยังไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ดังกล่าว มีสาเหตุสำคัญมาจากขั้นตอนวิธีการควบคุม ตรวจสอบการปฏิบัติงานบำรุงรักษากล้องโทรทัศน์วงจรปิดไม่รัดกุม เพียงพอ และการกำหนดรูปแบบการรายงานผลการให้บริการสืบค้นข้อมูลภาพยังไม่ครอบคลุมข้อมูลสำคัญบางประการ ทำให้ประชาชนผู้ขอรับบริการสืบค้นข้อมูลภาพสูญเสียโอกาสในการนำข้อมูลภาพเหตุการณ์ไปใช้เป็นหลักฐานสำคัญ และย่อมส่งผลให้ประชาชนในกรุงเทพมหานครขาดความมั่นใจในความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินได้”
2. ด้านปลอดโรคคนเมือง อาหารปลอดภัย
2.1 ด้านปลอดโรคคนเมือง จากการตรวจสอบการดำเนินงานเพื่อพัฒนาและยกระดับลานกีฬาใน
ชุมชนให้มีมาตรฐาน พบว่า แม้ผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ทุกกิจกรรม เช่น กิจกรรมจัดบริการลานกีฬาที่ได้มาตรฐาน กำหนดค่าเป้าหมายไว้ร้อยละ 10 ของจำนวนลานกีฬาทั้งหมด 1,206 แห่ง ซึ่งผลการดำเนินงานปรากฏว่า มีลานกีฬาที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน จำนวน 155 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 12.85 ของจำนวนลานกีฬาทั้งหมด ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อย ขณะที่เป้าหมายในการพัฒนาและยกระดับ ลานกีฬาดังกล่าวได้กำหนดไว้เพียงในปีงบประมาณ พ.ศ. 2556-2558 ทำให้ไม่มีความต่อเนื่อง นอกจากนี้ จากการสังเกตการณ์ลานกีฬาในชุมชน พบว่าลานกีฬาบางแห่งมีสภาพลานและอุปกรณ์ออกกำลังกายที่ชำรุดหรือเสื่อมสภาพ และบางแห่งไม่สามารถดำเนินการจัดกิจกรรมด้านกีฬาและนันทนาการได้อย่างต่อเนื่อง
“การที่ลานกีฬาในชุมชนมีสภาพชำรุด เสื่อมสภาพ หรือไม่สามารถจัดกิจกรรมกีฬาและนันทนาการได้อย่างต่อเนื่อง มีสาเหตุสำคัญมาจากกรุงเทพมหานครมีข้อจำกัดในทางปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องกรรมสิทธิ์หรือการยินยอมหรืออนุญาตให้ใช้พื้นที่จัดตั้งลานกีฬา ประกอบกับไม่ได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานเกี่ยวกับการพัฒนาเพื่อยกระดับลานกีฬาให้ได้มาตรฐานไว้อย่างชัดเจน เป็นต้น ทำให้ผู้มาใช้บริการมีความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัยจากการร่วมกิจกรรมการออกกำลังกายและนันทนาการ รวมทั้งประชาชนในชุมชนไม่สามารถใช้ประโยชน์จากลานกีฬาซึ่งเป็นสถานที่ออกกำลังกายที่อยู่ในแหล่งชุมชนใกล้ที่พักอาศัยได้”
2.2 ด้านอาหารปลอดภัย จากการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการกรุงเทพฯ เมืองอาหารปลอดภัยเพื่อส่งเสริมการตรวจเฝ้าระวังคุณภาพอาหาร และการรับรองมาตรฐานสถานประกอบการอาหารภายใต้แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 พบว่า ผลการดำเนินงานโครงการเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ทุกกิจกรรม เช่น กิจกรรมเฝ้าระวังและประเมินความเสี่ยงการระบาดของโรคและการปนเปื้อนสารพิษของอาหารและน้ำ กำหนดเป้าหมายในการตรวจวิเคราะห์ด้านจุลินทรีย์ไว้ว่า ร้อยละ 78 ของตัวอย่างอาหาร จำนวน 2,700 ตัวอย่างที่สุ่มตรวจทางห้องปฏิบัติการ ต้องไม่พบการปนเปื้อนเชื้อโรค ผลปรากฏว่ามีจำนวนตัวอย่างที่ผ่านเกณฑ์การทดสอบ จำนวน 2,254 ตัวอย่าง หรือคิดเป็นร้อยละ 83.48 ของตัวอย่างอาหารที่สุ่มตรวจสอบ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบการดำเนินงานของสำนักงานเขต จำนวน 4 แห่ง ตลอดจนสังเกตการณ์การปฏิบัติงานตรวจวิเคราะห์คุณภาพอาหาร พบว่า การดำเนินงานเพื่อตรวจเฝ้าระวังคุณภาพอาหารของกรุงเทพมหานครยังไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ดังนี้
1) สำนักงานเขตทั้ง 4 แห่ง ไม่ได้มีการกำหนดแผนปฏิบัติงานตรวจสอบเฝ้าระวังและประเมินความเสี่ยงการระบาดของโรคและการปนเปื้อนสารพิษของอาหารและน้ำครอบคลุมสถานประกอบการอาหารที่ไม่มีใบอนุญาตหรือหนังสือรับรองการแจ้งตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องสถานที่จำหน่ายอาหารและสถานที่สะสมอาหาร พ.ศ. 2545 ซึ่งร้านอาหารบางแห่งได้เปิดดำเนินกิจการและมีสถานที่ตั้งถาวรเป็นอาคารพาณิชย์
2) สำนักงานเขต จำนวน 3 แห่ง มีการเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจวิเคราะห์ความปลอดภัยอาหารไม่เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด กล่าวคือ จากการตรวจประเมินความปลอดภัยอาหารของสถานประกอบการ จำนวน 10 ร้าน พบว่าเจ้าหน้าที่มีการเก็บจำนวนตัวอย่างอาหาร ภาชนะ และมือผู้สัมผัสอาหารจากสถานประกอบการครบตามเกณฑ์ที่กำหนด เพียง 4 ร้าน
3) การเก็บและสุ่มตัวอย่างประเภทภาชนะสัมผัสอาหารเพื่อตรวจวิเคราะห์ด้านจุลินทรีย์ด้วยชุดตรวจหาโคลิฟอร์มแบคทีเรียเบื้องต้น (SI-2) ของสำนักงานเขต ยังไม่สอดคล้องตามคู่มือการใช้ชุดทดสอบ โดยจากการสังเกตการณ์พบว่า การเก็บและสุ่มตัวอย่างประเภทภาชนะสัมผัสอาหารของสำนักงานเขตทั้ง 4 แห่ง จำนวน 46 ตัวอย่าง ยังไม่สอดคล้องตามคู่มือการใช้ชุดทดสอบของสำนักอนามัยและกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวคือ เจ้าหน้าที่ดำเนินการเก็บและสุ่มภาชนะแต่ละประเภทเพียงจำนวน 1 ชิ้น (คู่)/1 ประเภทภาชนะ/1 ตัวอย่าง เช่น จาน 1 ใบ ช้อน-ส้อม 1 คู่ ฯลฯ ขณะที่คู่มือกำหนดให้เก็บและสุ่มตัวอย่างจำนวน 5 ชิ้น (คู่)/1 ประเภทภาชนะ/1 ตัวอย่าง
“การดำเนินงานที่ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว มีสาเหตุสำคัญมาจากสำนักงานเขตไม่ได้มีการสำรวจและจัดทำฐานข้อมูลสถานประกอบการอาหารทั้งหมด ที่เปิดดำเนินกิจการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร หน่วยปฏิบัติในพื้นที่ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับวิธีการเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจวิเคราะห์คุณภาพอาหาร เป็นต้น ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในผลการตรวจวิเคราะห์คุณภาพอาหารของกรุงเทพมหานคร และประชาชนอาจเกิดความไม่มั่นใจว่าอาหารมีความปลอดภัย ปราศจากเชื้อโรคและสารปนเปื้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่”
จากผลการตรวจสอบดังกล่าว สตง. จึงมีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานที่รับผิดชอบพิจารณาดำเนินการปรับปรุงแก้ไข อาทิ พิจารณาทบทวนการปรับปรุงขั้นตอนการควบคุม ตรวจสอบการปฏิบัติงานบำรุงรักษาระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดให้เกิดความรัดกุม พิจารณากำหนดตัวชี้วัด ค่าเป้าหมาย และแผนการพัฒนาปรับปรุงเพื่อยกระดับลานกีฬาของหน่วยปฏิบัติเป็นรายปีอย่างต่อเนื่อง ทบทวนและปรับปรุงแนวทางในการสุ่มตัวอย่างเพื่อตรวจวิเคราะห์คุณภาพอาหารทางด้านเคมี และจุลินทรีย์ในอาหาร ภาชนะอุปกรณ์ และมือผู้สัมผัสอาหารให้สอดคล้องกับคู่มือการใช้ชุดทดสอบอาหารของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ฯลฯ