ทีดีอาร์ไอ ยื่นข้อเสนอภาครัฐแก้ปัญหาค่าโดยสารรถไฟฟ้าแพง พร้อมขอให้มีการเจรจากับเอกชนทุกรายเพื่อให้ยกเว้นค่าแรกเข้า รถไฟฟ้าทุกระบบ จัดทำราคาเพดานสูงสุดเป็นโครงข่าย ขณะที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เรียกร้องรัฐชะลอปรับขึ้นรถราคารถไฟฟ้าสายสีเขียวตามประกาศของกทม.สูงสุด 104 บาทออกไปก่อน และเปิดเผยสัญญาที่จะมีการขยายสัมปทานให้เอกชน 30 ปีให้สังคมร่วมตรวจสอบนายสุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยนโยบายด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยภายหลังเสวนา “ค่าโดยสารรถไฟฟ้าหลากสี กับราคาที่ประชาชนต้องแบกรับ" ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ว่า รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขปัญหาค่ารถไฟฟ้าโดยเร็วเนื่องจากเส้นทางรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการในปัจจุบันนอกจากจะมีค่าโดยสารแพงแล้วในอนาคตเมื่อมีการเปิดบริการรถไฟฟ้าเส้นใหม่ เพิ่ม 1-2 ปีข้างหน้า เช่นโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองจะเกิดการเชื่อมต่อของประชาชนอีกมากทั้งนี้จะเห็นได้ชัดเจนว่า จากปัญหาการทำสัญญาสัมปทานระหว่างรัฐและเอกชนที่แตกต่างกันของรถไฟฟ้าเส้นเก่าและรถไฟฟ้าสายใหม่ เช่น กรณีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินซึ่งมีการเก็บค่าแรกเข้า 16 บาท เนื่องจากมีการกำหนดไว้ในสัญญาสัมปทานในอดีต แต่รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ที่กำลังจะเปิดให้บริการและสายสีชมพูมีการกำหนดในสัญญาสัมปทานว่าเอกชนจะต้องยกเว้นค่าแรกเข้าหากเป็นการป้อนผู้โดยสารจากรถไฟฟ้าเส้นอื่นเข้าสู่ระบบ ในขณะที่เอกชนผู้ให้บริการเดินรถสองเส้นทางนี้เป็นคนละรายกัน ดังนั้นปัญหาจะตามมาชัดเจนเนื่องจากรถไฟฟ้า 2 เส้นนี้จะมีเชื่อมต่อเช่น ที่ 4 แยกรัชดาฯ ตัดถนนลาดพร้าว จึงเป็นโจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้คู่สัมปทานทั้ง 2 รายยกเว้นค่าแรกเข้าเหมือนกันซึ่งรัฐบาลต้องไปเร่งเจรจาให้ได้ข้อยุติโดยเร็วดังนั้น ทีดีอาร์ไอ จึงมีข้อเสนอขอให้ภาครัฐดำเนินการเจรจากับเอกชนใน 2-3 ประเด็น เช่น ขอให้ผู้ให้บริการรถไฟฟ้ารายเก่า และทั้งระบบยกเว้นไม่เก็บค่าได้เข้า และมีการจัดทำราคาเพดานสูงสุด โดยหลักจะต้องไปพิจารณาว่าการเจรจานั้นจะต้องมีการแก้ไขสัญญาสัมปทานเดิมหรือไม่แก้ไข เพื่อชดเชยให้กับเอกชน ในแนวทางที่เหมาะสมอย่างไรก็ตามในวันนี้จากฐานข้อมูลของทีดีอาร์ไอพบว่า ค่าโดยสารของรถไฟฟ้าแต่ละเส้นของไทยนั้นยังมีราคาที่สูง แม้สัมปทานที่ให้แก่เอกชนในบางเส้น ในอดีตภาครัฐจะลงทุนก่อสร้างงานระบบโยธาเองก็ตาม โดยพบว่าแม้จะมีการยกเว้นค่าแรกเข้าออกไปแล้ว แต่ค่าโดยสารที่ผู้เดินทางต้องแบกรับ ก็ยังมีราคาสูงกว่า 90 บาทต่อเที่ยว หากมีการเดินทางเชื่อมต่อ กลายเป็นภาระของผู้ใช้บริการ และปัญหาจะรุนแรงมากขึ้น เมื่อรถไฟฟ้าเส้นใหม่ใหม่เปิดให้บริการตามมา”“จะเห็นว่าหากประชาชนผู้เดินทางจะใช้รถไฟฟ้าอย่างมีความสุข จะต้องเดินทางคือจากบ้านที่อยู่อาศัยไปยังที่ทำงานโดยใช้ระบบรถไฟฟ้าเดินทางเพียงสายเดียว แต่สิ่งที่ภาครัฐดำดนินการไป คือทำแผนและลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าเป็นระบบโครงข่าย แต่กลับไม่จูงใจให้คนไปใช้บริการ เดินทางเชื่อมต่อถือเป็นเรื่องที่สูญเปล่าจริงๆ” นายสุเมธกล่าวด้านนางสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับปัญหาราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้านั้น ภาครัฐต้องตั้งเป้าหมายก่อนว่าการให้บริการรถไฟฟ้าไม่ใช่บริการทางเลือกแต่เป็นบริการระบบขนส่งสาธารณะที่ต้องการให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้ โดยปัญหาภาระค่าโดยสารระบบรถไฟฟ้าแพงนั้น ขณะนี้ปัญหามีความชัดเจน เห็นได้จากกรณีที่กรุงเทพมหานคร ออกประกาศฉบับใหม่จะปรับค่าโดยสารในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ เมื่อรวมการเดินทางของรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งระบบสัมปทานเดิมและส่วนต่อขยายใหม่ จะมีราคาสูงสุด 104 บาท ซึ่งมูนิธิเพื่อผู้บริโภคขอเรียกร้องให้รัฐบาลชะลอการปรับขึ้นค่าโดยสารที่จะมีอัตราสูงสุด 104 บาทออกไปก่อนในขณะเดียวกันขอให้กรุงเทพมหานครเปิดสัญญาที่ชัดเจนว่า กรณีจะมีการขยายสัญญาออกไปอีก 30 ปีให้แก่เอกชน จากปี 2572 ถึงปี 2602 สัญญามีรายละเอียดอย่างไร และราคาค่าโดยสารที่ระบุว่า หากมีการขยายสัมปทานให้เอกชน ก็จะสามารถเก็บค่าโดยสารไม่เกิน 65 บาท ราคาดังกล่าวมีที่มาที่ไปอย่างไร จนถึงขณะนี้มีประกาศของกรุงเทพมหานครออกไปแล้วแต่ยังไม่มีใครเคยเห็นสัญญาดังกล่าวเลย