“การที่ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือก (ม.36) ไม่สามารถ Defense ให้ความกระจ่างต่อศาลปกครอง และศาลปกครองสูงสุดเพื่อให้เพิกถอนคำสั่งของศาลปกครองกลางที่มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับใช้เกณฑ์คัดเลือกตาม RFP ที่ปรับปรุงใหม่ ย่อมเป็นเครื่องชี้ชัดให้เห็นอยู่แล้วว่า เกณฑ์การคัดเลือกเจ้าปัญหาที่ว่ามีความโปร่งใสเป็นธรรมแค่ไหน ยังประโยชน์ต่อองค์กร รฟม. และประเทศจริงหรือไม่ เพราะแม้แต่ศาลยังไม่เล่นด้วย”กำลังเป็นประเด็นสุดฮอต เป็น Talk of the Town..กับการประมูลคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน (PPP) โครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ระยะทาง 35.9 กม. วงเงินลงทุนกว่า 1.42 แสนล้านบาท ที่เดินมาถึงจุดสิ้นสุดทางเลื่อน และต้องยุติลงเมื่อคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) พ.ศ.2556 มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกการประมูลไปวานนี้ (3 ก.พ. 64)หลังจาก รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ไม่สามารถจะทนรอฟังคำสั่งอุทธรณ์ของศาลปกครองสูงสุด และคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง กรณีที่ถูกบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมประมูล คือ บริษัทบีทีเอส โฮลดิ้ง ยื่นฟ้อง รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกที่มีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์คัดเลือก ภายหลังจากปิดการขายซองประกวดราคา (RFP) ไปแล้ว ซึ่งแม้ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะเข้าชี้แจงเหตุผลในการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการคัดเลือกดังกล่าวมากว่า 3 เดือน แต่จนถึงวันนี้ ศาลปกครองสูงสุดก็ยังไม่มีคำสั่งใด ๆ ลงมา ทำให้ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ต้องเลื่อนการเปิดซองโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้มออกไปอย่างไม่มีกำหนดล่าสุด นายกิตติกร ตันเปาว์ รองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะประธานกรรมการคัดเลือกฯแถลงผลประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯว่า ที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯ เห็นชอบให้ยกเลิกประมูลโครงการนี้หลังจากเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอเมื่อปลายปี 2563 เพราะโครงการดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการพิจารณาในศาล และมีเวลาพิจารณานานเกินกว่าที่ รฟม. ประเมินไว้ ซึ่งหากรอการพิจารณาต่อไปอาจกระทบการเปิดบริการรถไฟฟ้าสายสีส้ม“คณะกรรมการฯ พิจารณาเพียงว่าการล้มประมูลไปก่อนจะดีกว่า เพราะเริ่มประกวดราคาใหม่จะใช้เวลาไม่มาก เมื่อเทียบกับการรอพิจารณาตามกระบวนการศาลและ รฟม.ไม่อยากให้ภาพรวมโครงการต้องสะดุด”ทั้งนี้ การยกเลิกประกวดราคาดำเนินการได้ เพราะเอกสารยื่นข้อเสนอโครงการ (RFP) ได้กำหนดข้อสงวนสิทธิ์ไว้ แต่การยกเลิกจะกระทบเอกชนและเป็นเหตุให้ฟ้องร้องหรือไม่นั้น คณะกรรมการฯ ไม่สามารถตอบได้ เนื่องจากการพิจารณาครั้งนี้เป็นเพียงการแก้ปัญหาไม่ให้กระทบภาพรวมโครงการ อีกทั้งเพื่อเร่งรัดแก้ปัญหาเพราะการยื่นข้อเสนอของเอกชนมีระยะเวลายืนราคา โดยหลังจากนี้จะรายงานให้ รฟม. ทราบ พร้อมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์การประกวดราคาใหม่ แต่เบื้องต้นตอบไม่ได้ว่าจะใช้หลักเกณฑ์การคัดเลือกแบบใดการตัดสินใจยกเลิกการประมูลของ รฟม. และคณะกรรมการตัดเลือกฯ ข้างต้นจะเป็นหนทาง “ผ่าทางตัน” โครงการนี้ หรือรังแต่จะสร้างปัญหาที่ทำให้เส้นทางการประมูลโครงการนี้ติดหล่ม วนอยู่ในอ่าง ล่าช้าไปกว่าเดิมนั้น ยังคงเป็นเรื่องที่สังคมคงต้องติดตามอย่างไม่กระพริบย้อนรอยโครงการอื้อฉาว!ทั้งนี้ รฟม. ได้เปิดขายซองประกวดราคา โดยมีเอกชนซื้อซองเอกสารยื่นข้อเสนอโครงการ (RFP) 10 ราย ก่อนที่วันที่ 9 พ.ย. รฟม.ได้เปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอ ปรากฏมี 2 กลุ่มบริษัทรวม 4 ราย ยื่นซองข้อเสนอการร่วมลงทุน ประกอบด้วย บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ยื่นเป็นรายแรก ตามด้วยกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR) ประกอบด้วย บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC, บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STECONประเด็นปัญหาที่นำไปสู่การยื่นฟ้องศาลปกครองของ BTS เกิดขึ้นหลังจาก รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการประมูล หลังจากขายซองเอกสารไปแล้ว โดยยืนยันนั่งยันความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์การคัดเลือกเอกชน ด้วยข้ออ้างต้องการได้ผู้รับสัมปทานที่มีศักยภาพ จึงไม่อาจจะพิจารณาเฉพาะข้อเสนอทางการเงินและผลประโยชน์ตอบแทนสูงสุดแก่รัฐได้ โดยที่กระทรวงคมนาคมเองก็แอ่นอกปกป้อง ยืนยันในอำนาจที่กระทำได้ จนกลายเป็นปมปัญหาที่ทำให้บริษัทเอกชนที่เข้าร่วมประมูลอย่าง บีทีเอส โฮลดิ้ง ต้องยื่นฟ้องศาลเพื่อขอให้เพิกถอนเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกใหม่ดังกล่าวก่อนที่ศาลปกครองกลางจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกใหม่ของ รฟม. ดังกล่าว และให้กลับไปใช้เกณฑ์ประมูลเดิม หากจะเดินหน้าต่อ ซึ่งแม้ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯตามมาตรา 36 จะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งของศาลปกครองกลาง พร้อมยืนยันเหตุผลที่ต้องเปลี่ยนแปลงเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกดังกล่าว แต่จนแล้วจนเล่ากระทั่งวันนี้ ศาลปกครองสูงสุดและศาลปกครองกลาง ก็ยังไม่มีคำสั่งใด ๆ ลงมาจึงเป็นเหตุให้ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือก ตัดสินใจยกเลิกการประกวดราคาโครงการเดิม และเตรียมจัดประกวดราคาใหม่ โดยจะนำเอาหลักเกณฑ์เจ้าปัญหาที่ว่านั้นมาใช้ตั้งแต่แรกเพื่อไม่ให้ถูกบริษัทรับเหมาเอกชนหยิบยกมาเป็นเงื่อนไขฟ้องร้องได้อีกดันทุรังใช้เกณฑ์คัดเลือกเจ้าปัญหา!อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวในวงการรับเหมา เปิดเผยว่า ไม่ว่า รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะให้เหตุผลอย่างไร แต่อย่างที่ทุกฝ่ายรู้แก่ใจกันดี เกณฑ์พิจารณาคัดเลือกใหม่ที่ รฟม. และคณะกรรมการจะนำมาใช้ ซึ่งจะพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคและข้อเสนอราคาประกอบกันในสัดส่วน 30/70 นั้น เป็นไปก็เพื่อ "ล็อกสเปค" หวังประเคนโครงการให้กลุ่มทุนก่อสร้างใหญ่ที่มีความสนิทชิดเชื้ออยู่กับองค์กร รฟม.นั่นเองแต่เหตุที่ต้องออกประกาศประกวดราคาใหม่ เพื่อจะได้ไม่เป็นข้ออ้างให้ถูกร้องเรียนเอาได้อีกว่ามีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง TOR หลังขายซองประมูลไปแล้วเท่านั้น แต่ประเด็นในเรื่องของหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกตามเงื่อนไข RFP (TOR) เจ้าปัญหาดังกล่าวที่เป็นเงื่อนไข TOP สุดหลุดโลกที่ไม่เคยใช้กับการประมูลโครงการเมกะโปรเจ็กต์ใดมาก่อน รวมทั้งโครงการรถไฟฟ้าของ รฟม.เองนั้น ก็ยังคงเป็นปมปัญหาที่ รฟม.เองไม่สามารถชี้แจงให้ความกระจ่างแก่สังคมได้ ที่สำคัญ เกณฑ์ประมูลคัดเลือกใหม่ของ รฟม.ข้างต้น ที่แม้ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ที่ออกมายืนยันนั่งยัน ความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์การคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม ด้วยข้ออ้างต้องการได้ผู้รับสัมปทานที่มีศักยภาพ จึงไม่อาจจะพิจารณาเฉพาะข้อเสนอทางการเงินและผลประโยชน์ตอบแทนสูงสุดแก่รัฐได้ โดยที่กระทรวงคมนาคมเองก็แอ่นอกปกป้อง ยืนยันในอำนาจที่กระทำได้ทั้งที่ประเด็นดังกล่าวถูก “หักล้าง” ลงอย่างสิ้นเชิงจากทุกภาคส่วนที่หยิบยกข้อมูลขึ้นมาโต้แย้ง รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ พร้อมกับแฉเบื้องหลังความพยายามปรับเปลี่ยนเกณฑ์การคัดเลือกในครั้งนี้ เพื่อหวัง “อุ้มสม” กลุ่มทุนทางการเมืองที่ทุกฝ่ายต่างรู้อยู่เต็มอกว่า เป็นกลุ่มทุน “กากี่นั๊ง” ที่แทบจะส่งคนเข้าไปนั่งสั่งการแทนผู้ว่า รฟม. นั่นเอง!“เอาแค่ว่า การที่ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกตาม ม. 36 ไม่สามารถ Defense ชี้แจงให้ความกระจ่างต่อศาลปกครอง และศาลปกครองสูงสุด เพื่อให้เพิกถอนคำสั่งของศาลปกครองกลางที่มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับใช้เกณฑ์คัดเลือกตาม RFP ที่ปรับปรุงใหม่ ย่อมเป็นเครื่องชี้ชัดให้เห็นอยู่แล้วว่า เกณฑ์การคัดเลือกเจ้าปัญหาที่ว่ามีความโปร่งใสเป็นธรรมแค่ไหน ยังประโยชน์ต่อองค์กร รฟม.และประเทศจริงหรือไม่ เพราะแม้แต่ศาลยังไม่เล่นด้วย” แล้วยังจะดันทุรัง นำ TOR ใหม่นี้มาใช้อีกหรือ?ตอกย้ำต้นตอชนีทุจริตประเทศทรุด!“ไม่แปลกใจเลยที่ วันวานองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ที่ออกมาเผยแพร่ดัชนีการรับรู้คอร์รัปชั่น (Corruption Perception Index : CPI ) ของประเทศต่างๆ ทั่วโลกล่าสุดนั้น จะปรับลดดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นของประเทศไทยรูดลงจากอันดับที่ 101 ในปี 2562 ไปอยู่ที่ 104 ของโลก และอยู่ในอันดับที่ 5 ของกลุ่มประเทศอาเซียนเทียบเท่ากับเวียดนาม”และหากพิจารณาดัชนีการทุจริตย้อนหลังของไทยนับแต่ปี 2560 ดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของไทยได้ 37 คะแนน จาก 100 คะแนนอยู่อันดับที่ 96 ของโลกจาก 180 ประเทศ ปี 2561 หล่นไปอยู่อันดับที่ 99 ของโลกลดลงไป 3 อันดับ ปี 2562 ไหลรูดลงไปอีกอยู่อันดับที่ 101 ของโลก และล่าสุดปี 2563 อันดับไหลรูดไปอยู่อันดับที่ 104 จาก 180 ประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าการทุจริตในปี 2563 ยังคงมีความรุนแรงเช่นเดิม สอดคล้องกับผลสำรวจของ เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม (WEF) ที่ระบุว่า อุปสรรคการลงทุนในไทยอันดับ 1 คือ การทุจริตคอร์รัปชัน นั่นเอง จน “นายกฯ บิ๊กตู่” ฟิวส์ขาดสั่งกำชับให้ทุกหน่วยงานหวนกลัยไปดูการดำเนินงานภายใต้องค์กรหรือสะดือตัวเองและเร่งหาทางกอบกู้เครดิตชื่อเสียงของประเทศกลับมาสิ่งที่ฝ่ายบริหาร รฟม. กำลังดำเนินการอยู่นี้คือการสนองตอบนโยบายของนายกฯ และรัฐบาลแล้วหรือสำหรับกระทรวงคมนาคมที่เคยแอ่นอก ปกป้องการกระทำของฝ่ายบริหารและคณะกรรมการคัดเลือกตาม ม.36 ว่าเป็นอำนาจที่กระทำได้ตามกฎหมาย และยืนยันว่าจะไม่ทำให้โฑครงการต้องล่าช้า แต่วันนี้คงได้เห็นแล้วว่า ข้ออ้างของบอร์ดและฝ่ายบริหาร รฟม.ต่อการรื้อเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครีงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม ได้ทำให้โครงการดังกล่าวเป็นอย่างไรสมควรที่กระทรวงคมนาคม จะยังแอ่นอกปกป้อง หรือ “ตบรางวัล” ให้กันแน่? การที่กระทรวงคมนาคมยังคงให้ รฟม. “ดั้นเมฆ” ประกาศเงื่อนไขการพิจารณาคัดเลือก (RFP) ใหม่ โดยใช้เกณฑ์คัดเลือกเจ้าปัญหาอยู่ต่อไป จะมีหลักประกันใดว่าจะไม่ถูกร้องแรกแหกกระเชอ หรือถูกฟ้องศาลจนทำให้โครงการต้อง “สะดุด” ลงอีกครั้ง!!! และจะอรรถาธิบายต่อผู้คนในสังคมได้อย่างไรว่า เป็นโครงการประมูลที่มีความโปร่งใส ยึดประโยชน์สูงสุดให้แก่ประเทศชาติและองค์กร รฟม.ในเมื่อแม้แต่ไป Defense ต่อศาลก็ยังตกม้าตาย!!