กำลังเป็นประเด็นสุดฮอต เป็น"ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์"
กับเรื่องของ "วัคซีน"ต้านเชื้อไวรัส โควิด-19 ที่ประเทศไทยยังต้องหาวเรอรอลุ้นกันไป หลังจากต้องตกขบวน วัคซีน COVAX จากองค์การอนามัยโลก (WHO) และแทบจะเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคนี้ ที่ไม่ได้รับจัดสรรวัคซีนดังกล่าว
ด้วยเหตุผลอันสุดทึ่ง (และอึ้งกิมกี่) จากผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ที่ว่า เพราะโครงการวัคซีนดังกล่าวถูกตั้งขึ้นมาเพื่อแจกจ่ายให้กับประเทศยากจน ประเทศไทยเราและอีกหลายประเทศอย่างบรูไน สิงคโปร์ และมาเลเซียนั้น ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับวัคซีนฟรี หากจะเข้าร่วมต้องซื้อในราคาแพงกว่าการจองซื้อจากผู้ผลิตโดยตรง เราจึงไม่ได้แจ้งความจำนงค์ขอรับวัคซีน COVAX ตั้งแต่แรก (ส่วนเพื่อนบ้านอื่นไปเข้าคิวขอรับจัดสรรกันหน้าสลอนได้ยังไง ทุกฝ่ายได้แต่แบ๊ะๆๆๆ)
แม้พลพรรคฝ่ายค้านจะลากเรื่องดังกล่าวไปยำใหญ่ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในห้วง 16-19 ก.พ.ที่ผ่านมา แต่เนื้อหากลับพุ่งเป้าไปที่ความล่าช้าในการจัดหาวัคซีนของรัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่จ่อจะเปิดช่องให้รัฐได้ถลุงเม็ดเงินอีกก้อนใหญ่ เร่งกระบวนการจัดหาวัคซีนกันเข้าไปอีก
แต่ที่ทำเอาผู้คนได้แต่ "อึ้งกิมกี่" ก็เมื่อจู่ๆ กระทรวงมหาดไทย (มท.) มีหนังสือเวียนไปยังผู้ว่าฯ และผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ ห้าม อปท. ดำเนินการจัดซื้อวัคซีนต้านโควิดจากผู้ผลิตใดๆ เอง อ้างนโยบายรัฐต้องการให้ภาครัฐจัดซื้อและบริหารจัดการเองก่อนเพื่อความเป็นเอกภาพ และเพื่อให้สามารถติดตามอาการไม่พึงประสงค์ในภายหลังได้ จึงไม่สามารถให้เอกชนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดจัดซื้อวัคซีนป้องกัน COVID-19 กับผู้ผลิตโดยตรงในระยะแรกได้
ทำเอาโรงพยาบาลเอกชน และ อปท. ที่มีกำลังมีศักยภาพจะจัดซื้อได้เองทั้งหลาย ได้แต่หาวเรอกันไป พร้อมกับตั้งข้อกังขาไปยังรัฐบาล เหตุใดรัฐถึงปิดกั้นการเข้าถึงวัคซีนของ รพ.เอกชน และ อปท.ที่มีศักยภาพทั้งหลายแหล่ได้ จะอ้างต้องรอให้รัฐจัดซื้อและจัดสรรเสียก่อน และต้องรอความชัดเจนของวัคซีนที่ต้องขึ้นทะเบียนได้ อย.เสียก่อนนั้น ก็ล้วนแต่ "ย้อนแย้ง" กับสิ่งที่ทุกฝ่ายประจักษ์
เพราะอย่าง "วัคซีน COVAX" ที่เราต้องชวดไปนั้น ขณะที่เพื่อนบ้านอื่นๆ อย่างมาเลย์ สิงคโปร์ และบรูไน ต่างก็กระโจนเข้าร่วม และได้รับการจัดสรรวัคซีนกันไปพร้อมหน้า ขณะที่วัคซีนจาก CINOVAX ที่มี "เจ้าสัวใหญ่" ทุนไทยถือหุ้นใหญ่อยู่ด้วยที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบจัดซื้อเป็นกรณีพิเศษ 2 ล้านโดส และ วัคซีนจาก "แอสตราเซเนก้า" อีก 1 ล้านโดส ที่จะเข้ามาปลายเดือน ก.พ.-มี.ค. ศกนี้ ก็ล้วนแต่อนุมัติจัดซื้อในช่วงที่ยังไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนจาก อย. อะไรเลย ยิ่งในส่วนของวัคซีน CINOVAX ด้วยแล้ว จนป่านนี้ก็ยังถกเถียงกันไม่เสร็จว่าได้ผลหรือไม่ อย.ก็ยังไม่ประกาศขึ้นทะเบียน (แค่รับคำขอ รอประกาศ) เสียด้วยซ้ำ!
แต่พอโรงพยาบาลเอกชน และ อปท.ต่างๆ จะขอซื้อจากผู้ผลิตอื่นๆ บ้าง ก็กลับไม่อนุมัติให้ มัน Double Standard หรือไม่?
แล้วทำไม ครม.ถึงทำได้ถึงผูกขาด ทำผิดเสียเองได้ จนถึงขนาดที่เริ่มมีการตั้งคำถาม หากโรงพยาบาลเอกชน และ อปท.ต่างๆ เหล่านั้นจะขอสั่งซื้อวัคซีน Cinovax บ้าง ไม่รู้จะได้รับไฟเขียวจาก อย.และรัฐบาลแบบนี้หรือไม่หนอ!
พูดถึงนโยบาย Double Standard ของภาครัฐ และ สธ.แล้ว ก็ให้นึกเลยไปถึง นโยบาย "ปลดล็อค" กัญชา ที่ รมว.สธ. ชูเป็นนโยบายหลักของพรรคมาตั้งแต่ปีมะโว้ แต่จนป่านนี้ชาวบ้านก็ยังปลูกเสรีกันไม่ได้ โดยนัยว่าล่าสุดนี้ ท่าน รมว.สธ. เตรียมดีเดย์แจกต้นพันธุ์กัญชาให้ชาวบ้านปลูกกันครอบครัวละ 6 ต้นกันได้แล้ว แต่ก็ปลูกได้ภายใต้ข้อจำกัด ยังไม่อนุมัติให้ซื้อ-ขายกันได้เอิกเกริก
วันวาน โลกโซเชียลพากันฮือฮาเมื่อมีโรงเบียร์ชื่อดังในโคราช ออกมาตีปี๊บสารพันเมนูที่รังสรรค์มาจากกัญชาเอาใจสายเขียวที่พร้อมเสิร์ฟให้กับลูกค้า โดยระบุว่า ได้ไฟเขียวใบอนุญาตให้เสิร์ฟเมนูกัญชาเหล่านี้ได้แล้ว เช่นเดียวกับร้านอาหาร "บ้านตุลย์" ที่ระยอง ที่เสิร์ฟเมนูปรุงจากกัญชาจนทำเอาโลกโซเชียลฮือฮาอย่างหนักอยู่ในเวลานี้
แต่ที่ทำเอาโซเชียลงุนงง ตกลงเขาได้ใบอนุญาตอะไรไปจาก อย. และ สธ. หรือ? เพราะหากโรงเบียร์ และร้านอาหารขอใบอนุญาตเสิร์ฟเมนูกัญชาได้แล้ว บรรดาภัตตาคาร ร้านอาหารโดยทั่วไป หรือแม้แต่เพิงหมาแหงนก็น่าจะได้รับอานิสงส์นี้ไปด้วยเช่นกัน หาไม่งั้นมันก็คงหนีไม่พ้น ดับเบิ้ล สแตนดาร์ด