บอร์ดแข่งขันทางการค้าตื่นจับตาการกลุ่มซี.พี. โยกกิจการโลตัสเข้า "สยามแมคโคร" รวบค้าส่งครบวงจร ส่อขัดเงื่อนไขข้อตกลงที่บอร์ด กขค.วางไว้หรือไม่
นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) หรือ บอร์ดแข่งขันทางการค้า เปิดเผยว่า ได้รับทราบข่าวการโอนกิจการของบริษัท ซี.พี.รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด ของกลุ่มซี.พี. ไปยังบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ที่เป็นการรับโอนกิจการทั้งหมดของบริษัทรวมถึงทรัพย์สิน หนี้สิน สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดทั้งหมดที่มีอยู่ในปัจจุบันไปนังสยามแมครโคร ก่อนทำการจดทะเบียนเลิกกิจการซี.พี.รีเทลไป
โดยเรื่องนี้ได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายของสำนักงานการแข่งขันทางการค้า ไปพิจารณาดูว่า การโอนกิจการดังกล่าวผิดเงื่อนไขที่คณะกรรมการแข่งขันทางการค้ากำหนดไว้ หลังจากที่เห็นชอบให้กลุ่มซี.พี. ดำเนินการควบรวมกับบริษัท เทสโก้ สโตร์ส จำกัด และได้กำหนดเงื่อนไข 7 ข้อที่ทั้งสองชริษัทจะต้องปฏิบัติการก่อนการควบรวม โดยได้กำชับให้ฝ่ายกฏหมายดำเนินการเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด คาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆนี้
“คงต้องพิจารณาว่าการปรับโครงสร้างของกลุ่มซีพี โดยการโอนกิจการของโลตัสทั้งหมดให้สยามแมคโคร ซึ่งเป็นธุรกิจค้าปลีกอาจ จะเข้าข่ายผิดเงื่อนไข 7 ข้อที่ให้ทางซีพีปฏิบัติตามหรือไม่ ซึ่งต้องพิจารณารายละเอียดอย่างรอบคอบ”
ก่อนหน้านี้เมืาอวันที่ 31 ส.ค. บมจ.สยามแม็คโคร แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัท เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2564 มีมติอนุมัติให้นำเสนอต่อที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ เพื่อพิจารณาอนุมัติการรับโอนกิจการทั้งหมดของบริษัทซี.พี. รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด (CPRH) โดยบริษัทฯ จะรับโอนกิจการทั้งหมดของ CPRH ซึ่งรวมถึงทรัพย์สินหนี้สิน สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดทั้งหมดของ CPRH ที่มีอยู่ในปัจจุบัน และที่จะมีในอนาคต ซึ่งมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 217,949.07 ล้านบาท ด้วยวิธีโอนกิจการทั้งหมด (Entire Business Transfer) หรือ EBT เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับบริษัทฯ และส่งเสริมกลยุทธ์ระยะยาวของบริษัทฯ เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำในธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง และขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจในระดับภูมิภาค
โดยโครงสร้างการถือหุ้นของ “สยามแม็คโคร” หลังธุรกรรมการรับโอนกิจการทั้งหมดและธุรกรรมการจัดสรรหุ้นเพื่อตอบแทนการรับโอนกิจการทั้งหมด และรวมถึงภายหลังการจดทะเบียนเลิกบริษัทของ CPRH และการคืนเงินลงทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นของ CPRH เสร็จสมบูรณ์สรุปได้ดังนี้
– CPALL จะมีสัดส่วนการถือหุ้นโดยตรงและโดยอ้อมใน สยามแม็คโคร “ลดลง” จากร้อยละ 93.08 เป็นร้อยละ 65.97
– CPH จะมีสัดส่วนการถือหุ้นโดยตรงใน สยามแม็คโคร เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.00 เป็นร้อยละ 20.43
– CPM จะมีสัดส่วนการถือหุ้นโดยตรงใน สยามแม็คโคร เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.00 เป็นร้อยละ 10.21
ทั้งนี้ การที่ สยามแม็คโคร รับโอนกิจการทั้งหมดและถือหุ้นของ CPRD จะส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินธุรกิจปัจจุบันและทำให้กลุ่มบริษัทแข็งแกร่งในการก้าวสู่การเป็นผู้นำในธุรกิจค้าปลีก ค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภค และสามารถขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจในระดับภูมิภาค และต่อยอดให้กลุ่มบริษัทเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกค้าส่งรายแรกในภูมิภาค ที่เป็นผู้นำในโมเดลธุรกิจที่ผสมผสานระหว่างช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ (Online to Offline หรือ O2O)
โดยทางกลุ่มยืนยันไม่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับ CPALL โดยกลุ่มบริษัทที่ประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภคในรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่มีความแตกต่างกันและไม่ใช่คู่แข่งของกันและกันโดยตรงกับธุรกิจของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท
กล่าวคือ สยามแม็คโคร และ CPRD ประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งมีรูปแบบร้านค้าที่หลากหลาย 1. ศูนย์จำหน่ายสินค้าแบบชำระเงินสดและบริการตนเอง (cash and carry) 2. ไฮเปอร์มาร์เก็ต 3. ซูเปอร์มาร์เก็ต และ 4. มินิซูเปอร์มาร์เก็ต รวมทั้งธุรกิจบริหารพื้นที่เช่าในศูนย์การค้าใน
ขณะที่ธุรกิจหลักของ CPALL (ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ สยามแม็คโคร) ทำธุรกิจค้าปลีกประเภทร้านสะดวกซื้อ
สำหรับ เงื่อนไขจำนวน 7 ข้อที่ กขค.กำหนดให้กลุ่มซี.พี.ต้องปฏิบัติมนการควบรวมนั้น ประกอบด้วย
1. ห้ามธุรกิจในเครือควบรวมธุรกิจค้าปลีกค้าส่งรายอื่นนาน 3 ปี ไม่รวมธุรกิจอีคอมเมิร์ซ
2. หลังควบรวมแล้วให้เพิ่มสัดส่วนสินค้าจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไม่น้อยกว่า 10% ต่อปี เป็นระยะเวลา 5 ปี
3. หลังควบรวมแล้วห้ามมิให้ใช้หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการตลาด
4. ให้คงสัญญาที่ทำไว้กับซัพพลายเออร์ 2 ปี
5. กำหนดระยะเวลาเครดิตเทอม กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เป็นเวลา 30-45 วัน เป็นเวลา 3 ปี
6. ให้รายงานผลประกอบการต่อ กขค. เป็นเวลา 3 ปี
7. หลังควบรวมแล้วให้จัดทำ code of conduct เผยแพร่ต่อสาธารณะ