เผยเอกชนไทย–ลาวคึกคัก เดินหน้าขยายโอกาสการค้า ลงทุน ท่องเที่ยว เสนอรัฐเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจทุกมิติ
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในโอกาสที่ ฯพณฯ พันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 1-2 มิถุนายน 2565 ถือเป็นโอกาสที่สำคัญอย่างยิ่งที่ผู้นำของทั้งสองประเทศจะได้กระชับความสัมพันธ์ และร่วมกำหนดวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ไทย–ลาว ให้ก้าวหน้าต่อไป โดยเฉพาะในบริบทการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากสถานการณ์โรคติดเชื้อโควิด-19 และการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการรับมือกับความผันผวนของสถานการณ์ระหว่างประเทศในปัจจุบัน โดยไทย และ สปป.ลาว มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดยาวนาน ทั้งในด้านวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ ซึ่งจะอำนวยประโยชน์อย่างยิ่งต่อการขยายฐานการผลิต การกระจายสินค้า การท่องเที่ยว และการจ้างงาน
“หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ต้องขอขอบคุณท่านดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่ได้เชิญภาคเอกชนไทยเข้าพบ ฯพณฯ พันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว และร่วมงาน Thai-Lao Business Talk and Networking ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมอนันตราสยาม เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร โดยมีนักธุรกิจชาวไทยและชาว สปป. ลาว เข้าร่วมงาน กว่า200 คน เพื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์อันดีระหว่างภาคเอกชนไทยกับ สปป. ลาว โดยมี นายอุเดด สุวันนะวง ประธานสภาการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติ สปป.ลาว นำคณะภาคเอกชน สปป.ลาว เข้าร่วม
ทั้งนี้ ภาคเอกชนทั้งสองฝ่ายได้หารือในประเด็นความเชื่อมโยงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในทุกมิติผ่านรถไฟลาว-จีน โดยเฉพาะการกระจายสินค้าต่าง ๆ ของไทย รวมถึงการหารือเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติขนส่งและส่งออกผลไม้ไทย นอกจากนี้ ยังได้พูดคุยในประเด็นการเสริมสร้างเครือข่ายธุรกิจ และการส่งเสริมการลงทุนของสองประเทศ และใช้ประโยชน์ของการที่ทั้งสองประเทศอยู่ในห่วงโซ่อุปทานและระบบนิเวศในการประกอบธุรกิจเดียวกัน (shared business ecosystem) ซึ่งภาคเอกชนของสองประเทศเห็นตรงกันว่า ประเด็นการขับเคลื่อนโลจิสติกส์ การเกษตร ไอที อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว เป็นสาขาที่มีศักยภาพ ที่จะต้องร่วมกันขยายโอกาสการค้าการลงทุนให้มากขึ้น” นายสนั่น กล่าว
นอกจากนี้ ทองหอการค้าฯ ก็ได้มีการหารือร่วมกับสภาการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติ สปป.ลาว โดยทางสภาหอการค้าฯ ได้ขอความร่วมมือจากเรา ในการ การจัดหาทุนการศึกษาให้กับนักศึกษาลาว ทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก การตั้ง Task force โดยมีกรรมการของทั้ง2 ประเทศทำงาน ร่วมกัน ในการที่จะทำงานวิจัยด้านปัญหา และโอกาส ทางการค้าชายแดน โดยใช้สถาบันการศึกษาของทั้งสองประเทศ ในการให้เกิดการเป็นกลางในการทำวิจัย เพื่อเสนอให้กับทางรัฐบาลทั้งสองฝ่าย และด้านการท่องเที่ยว เรียนรู้จากความสำเร็จของประเทศไทยในด้านการท่องเที่ยว เพื่อที่จะไปพัฒนาการท่องเที่ยวของสปป.ลาว เพื่อดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น
ด้าน นายสุรงค์ บูลกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการกลุ่มการค้าชายแดนและการค้าข้ามแดน กล่าวเพิ่มเติมว่าในการเสวนาหัวข้อวิสัยทัศน์และโอกาสจากความเชื่อมโยงการเปิดใช้รถไฟลาว-จีน และ มุมมอง/ความเห็นจากกลุ่มผู้ให้บริการและกลุ่มผู้ใช้บริการ ว่า ภาคเอกชนไทยมีข้อเสนอแนะที่ต้องการได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ทั้ง 3 ประเทศ (ไทย สปป.ลาว และจีน) ผ่าน 7 ข้อเสนอคือ 1) ส่งเสริมและสนับสนุนการค้าชายแดน และการค้าข้ามแดนระหว่าง 3 ประเทศ โดยมีปริมาณและมูลค่าของสินค้าในการนำเข้าและส่งออกผ่านแดนที่ใกล้เคียงกัน และเกิดความเป็นธรรมสำหรับทุกฝ่าย 2) สนับสนุนและส่งเสริมท่าเรือแหลมฉบังให้เป็นท่าเรือแห่งภูมิภาค เพื่อรับและส่งสินค้า (Transshipment and Transit) เพื่อเชื่อมโยง 3 ประเทศ และเปิดทางออกสู่ทะเลให้กับลาว และจีนตอนใต้ เหมือนท่าเรือ Hamburg ประเทศเยอรมัน ที่เชื่อมโยงระบบรถ เรือ ราง ของยุโรปตอนกลางและยุโรปตะวันออกเข้าด้วยกัน 3) สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์อำนวยความสะดวกสำหรับการค้าผ่านแดนและค้าข้ามแดน โดยการบูรณาการหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กรมศุลกากร สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกระทรวงเกษตรฯ (CIQ) ในจุดเดียวกัน (One Stop Service) เพื่อลดขั้นตอนและอำนวยความสะดวกในการทำพิธีการต่าง ๆ ระหว่างประเทศ 4) จัดตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจ (PMO) ในการบริหารโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบการขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานเข้าด้วยกัน 5) พัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลในระบบรางแบบ Electronic ผ่าน National Single Window : NSW ระหว่าง ไทย–ลาว–จีน (แหลมฉบัง–คุณหมิง) 6) พัฒนาระบบการจัดเก็บเอกสารและการเงิน แบบ Electronic โดย National Digital Trade Platform : NDTP เพื่อลดขั้นตอนทางเอกสารระหว่างประเทศ (ไทย-ลาว-จีน) 7) พัฒนาระบบขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิ : Cold chain Logistics สำหรับการส่งออก พืช ผัก ผลไม้ อาหารทะเล ระหว่างประเทศ
นายสนั่น กล่าวทิ้งท้ายว่า “หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย พร้อมที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่ในการผลักดันนโยบายและโครงการต่าง ๆ ที่เพิ่มพูนประโยชน์ทางเศรษฐกิจของสองประเทศ โดยใช้เครือข่ายหอการค้าจังหวัดที่มีชายแดนติดกับ สปป.ลาว 10 จังหวัด ตลอดจนสภาธุรกิจไทย-ลาว ขับเคลื่อนการเชื่อมโยงภาคการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ให้เกิดประสิทธิผลในการพัฒนาภาคธุรกิจของทั้งสองประเทศอย่างยั่งยืน”