พลันที่ “เจ้าสัวน้อย” นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ออกมาประกาศกร้าวถึงความคืบหน้าของ “ดีล” ความรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทคที่จะผนึกกิจการสู่บริษัท Telecom-Tech Company
โดยย้ำชัดว่า ตามประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการควบรวมกิจการโทรคมนาคมปี 2561 นั้น การควบรวมกิจการระหว่างกลุ่มทรูและดีแทค สามารถทำได้เลยไม่ต้องขออนุมัติต่อกสทช. และไม่ขัดต่อกฎหมาย “แต่ กสทช. มีอำนาจในการสร้างเงื่อนไขที่จะลดผลกระทบทางลบ และเพิ่มผลกระทบทางบวกที่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศและผู้บริโภค และหากจะมีข้อโต้แย้งที่จะไม่อนุมัติต้องไปที่ศาลปกครอง ซึ่งไม่มีผู้ให้บริการรายไหนอยากจะไปถึงจุดนั้น”
ประกาศิตของเจ้าสัวน้อยข้างต้นจะผิด-ถูกอย่างไร แต่แวดวงสื่อสารโทรคมนาคมต่างก็ “อึ้งกิมกี่” เพราะเป็นการ “ตีแสกหน้า” กสทช. ที่แทบจะไม่ให้ค่าองค์กรกำกับดูแลแห่งนี้แม้แต่น้อย การที่บริษัทเอกชนออกมาประกาศกร้าวว่า สามารถจะดำเนินการควบรวมกิจการกันได้ตามกฎหมาย โดยไม่ต้องขออนุมัติจาก กสทช.นั้น
แล้วจะมีองค์กร กสทช. ไว้ทำซากอะไร!
น่าแปลก! แทนที่ฝ่ายบริหาร กสทช. และโดยเฉพาะบอร์ด กสทช. จะออกมาฟ้อนเงี้ยวเกรี้ยวกราดที่องค์กรถูกหยันราวกับ “ไม่มีตัวตน” เช่นนี้ แต่วันวาน นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. กลับออกมาฟ้อนเงี้ยวกรณีมีการปูดเอกสารรายงานผลศึกษาของอนุกรรมการศึกษาผลกระทบดีลควบรวมทั้ง 4 ชุด ที่ กสทช.แต่งตั้งขึ้น ซึ่งมีรายงานหลุดออกมาว่าอนุกรรมการ 3 ชุดไม่เห็นด้วยกับการอนุมัติดีลควบรวมในครั้งนี้
โดยเจ้าตัวออกมายืนยันว่า รายงานผลสรุปของคณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 4 ชุดยังอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลโดยสำนักงานฯ ซึ่งจำเป็นต้องประมวลข้อมูลจำนวนมาก ทั้งจากการประชุมของคณะอนุกรรมการ การจัดทำโฟกัสกรุ๊ปกับกลุ่มผู้เกี่ยวข้องต่างๆ และรายงานผลการศึกษาจากที่ปรึกษาทางวิชาการที่สำนักงาน กสทช.จัดจ้าง โดยล่าสุดสำนักงานฯ ได้ขอขยายเวลารวบรวมข้อมูลไปจนถึงวันที่ 3 ส.ค. 2565
พร้อมกับหันไปเร่งรัดกระบวนการรวบรวมข้อมูลของคณะทำงานประสานงาน คณะอนุกรรมการฯ ที่รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ใช้อำนาจแต่งตั้งขึ้น รวมทั้งยังมีคำสั่งสำนักงาน กสทช.ที่ 854/2565 แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางการกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันลกระทบจากกรณีการรวมธุรกิจ โดยมี นายเฉลิมชัย ก๊กเกียรติกุล เป็นประธานเพื่อศึกษา รวบรวมข้อมูลและแนวทางการกำหนดมาตรการเฉพาะหรือเงื่อนไขในการกำกับดูแลเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาด ลด จำกัด หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคม หรือตลาดที่เกี่ยวข้อง
นี่สำนักงาน กสทช. กำลังเล่นพิเรนทร์อะไรกันหรือ?
ขณะที่ประเด็นการควบรวมกิจการยังไม่ตกผลึก กสทช. สมควรจะอนุมัติดีลควบรวมครั้งประวัติศาสตร์นี้หรือไม่ และมีอำนาจพิจารณาอนุมัติหรือไม่ จน กสทช. ต้องแต่งตั้งอนุกรรมการศึกษาผลกระทบจากการควบรวมถึง 4 ชุด ซึ่งแต่ละชุดมีความเห็นอย่างไรนั้น ก็มีรายงานประจักษ์ชัดรองรับมีบันทึกการประชุมชัดเจนอยู่แล้ว ก่อนจะนำเสนอต่อที่ประชุม กสทช.
แน่นอน..ในท้ายที่สุดหากที่ประชุม กสทช. จะพิจารณาอนุมัติดีลควบรวมฯโดยมีเงื่อนไข หรือกำหนดมาตรการเฉพาะเพื่อรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ก็สมควรจะเป็นเรื่องที่กสทช.จะเป็นผู้พิจารณาสั่งการ หรือมีคำสั่งให้สำนักงาน กสทช. ต้องจัดทำมาตรการเฉพาะขึ้นมาไม่ใช่หรือ?
มันหาได้เป็นอำนาจหน้าที่ที่สำนักงานฯ จะด่วนไปพิจารณาดำเนินการกำหนดมาตรการก่อนหน้าที่ทำราวกับว่า ได้รับไฟเขียวจากที่ประชุมบอร์ด กสทช. ไปแล้ว
เหนือสิ่งอื่นใด หากทุกฝ่ายจะได้ย้อนกลับไปพิจารณาคำสั่งของศาลปกครอง เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 65 ที่ได้มีคำสั่งยกคำร้องของนายณภัทร วินิจฉัยกุล กรรมการติดตามการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. หรือ “ซุปเปอร์บอร์ด กสทช.” กรณียื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยระบุว่า ประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมลงวันที่ 4 ธันวาคม 2560 (ประกาศการรวมธุรกิจฯ) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้มีคำสั่งทุเลาการบังคับ หรือหยุดใช้ประกาศเรื่องการรวมธุรกิจฯ โดยเร่งด่วน
แม้ศาลปกครองกลางจะมีคำสั่งยกคำร้องด้วยเห็นว่า ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมลงวันที่ 4 ธ.ค. 2560 ประกอบประกาศ กสทช.ว่าด้วยมาตรการป้องกันการผูกขาดปี 2549 นั้น ได้ให้อำนาจ กสทช.ที่จะพิจารณา “อนุมัติ” หรือไม่อนุมัติการขอควบรวมธุรกิจได้อยู่แล้ว หากพิจารณาเห็นว่า การรวมธุรกิจดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการโทรคมนาคม จึงให้ยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวไป
แล้วจะบอกว่า บริษัทเอกชนสามารถที่จะดำเนินการควบรวมกิจการโดยไม่จำเป็นต้องขออนุมัติ กสทช. ได้อย่างไร ?
ก็คงต้องฝากเตือนสติ กสทช. ชุดปัจจุบัน โดยขอยกเอาจดหมายเปิดผนึกของ ศ.ประสิทธิ์ ประพิณมงคลการ อดีตประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ที่ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกแสดงความเห็นคัดค้านการควบรวมกิจการในครั้งนี้ พร้อมเรียกร้องให้ กสทช. จริงจังกับการบังคับใช้หลักเกณฑ์กำกับดูแลของตนเอง
แต่จะฝากความหวังได้มากน้อยแค่ไหน เมื่อเห็นสิ่งที่สำนักงาน กสทช. ดำเนินการไปในเวลานี้ ก็ไม่รู้ประชาชนคนไทยและวงการสื่อสารโทรคมนาคมไทยจะฝากความหวังไว้กับองค์การนี้ได้มากน้อยแค่ไหน?