R&I คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ A- และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook)นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่า วันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม 2565 บริษัท Rating and Investment Information, Inc. (R&I) ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น จัดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้และผู้ออกตราสารหนี้ทั้งในประเทศญี่ปุ่นและต่างประเทศ ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ A- และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยอยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) โดยมีรายละเอียด ดังนี้1) แม้ว่าการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการท่องเที่ยว แต่เนื่องจากรัฐบาลได้ดำเนินมาตรการทางการเงินและการคลัง ประกอบกับเศรษฐกิจไทยมีปัจจัยพื้นฐานจากกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตในด้านอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและรถยนต์ผ่านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ จึงส่งผลให้เศรษฐกิจไทยและการบริโภคเริ่มฟื้นตัว โดยภาคการท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ 2) รัฐบาลได้จัดทำงบประมาณแบบขาดดุลเพื่อสนับสนุนการดำเนินมาตรการทางการคลังเพื่อแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 และกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Debt to GDP ratio) ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 เพิ่มขึ้นเป็นประมาณร้อยละ 61 อย่างไรก็ดี R&I เชื่อมั่นว่า รัฐบาลยังคงรักษาเสถียรภาพทางการคลังและใส่ใจต่อภาระหนี้สาธารณะ (Debt Burden) ภายใต้พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ในระดับที่เหมาะสม เนื่องจากมีการบริหารจัดการทางการคลังอย่างรอบคอบ และสามารถระดมทุนได้ครบถ้วนตามความต้องการ 3) สำหรับภาคการเงินต่างประเทศ (External Finance) R&I คาดว่า แม้ปี 2565 ประเทศไทยจะยังคงขาดดุลบัญชีเดินสะพัด เนื่องจากรายได้ภาคการท่องเที่ยวลดลง ต้นทุนด้านการขนส่งเพิ่มขึ้นจากผลกระทบของราคาน้ำมัน การขาดแคลนของเซมิคอนดักเตอร์ และการล็อคดาวน์ระลอกใหม่ของสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่ในปี 2566 ดุลบัญชีเดินสะพัดจะกลับมาเกินดุลจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการลดลงของราคาพลังงาน นอกจากนี้ ภาคการเงินต่างประเทศยังมีความเข้มแข็ง เนื่องจากมีทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับสูงและสภาพคล่องต่างประเทศมีความเข้มแข็ง 4) ประเด็นที่ R&I ให้ความสนใจและจะติดตามอย่างใกล้ชิด คือ ความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่จะส่งผลต่อการลดลงของประชากรวัยทำงาน ดังนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินมาตรการเชิงรุกในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ตลอดจนการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและผลักดันให้เกิดการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มศักยภาพการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว และทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากการติดกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap)