มีรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลว่า เมื่อวันที่ 26 ส.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานกิจการกระจายเสียงฯ ได้ส่งหนังสือลงวันที่ 25 ส.ค. 2565 ถึงนายกรัฐมนตรี (พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกฯ) เพื่อขอให้นายกฯ มีข้อสังการให้คณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นในประเด็นข้อกฏหมาย ตามที่สำนักงาน กสทช. หารือไป
โดยรายละเอียดในหนังสือดังกล่าว ระบุว่า จากการที่ กสทช. ได้ทำเรื่องขอความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกาในเรื่องปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการพิจารณาการรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาก็มีหนังสือตอบกลับมายัง กสทช. เมื่อ 27 ก.ค.65 ว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่อาจรับข้อหารือของสำนักงาน กสทช. ได้ เนื่องจากประเด็นที่ขอหารือนั้น อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ปี 2553
ประกอบกับ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ลงวันที่ 4 ธ.ค.2560 ที่เป็นเครื่องมือของ กสทช. ในการพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับการรวมธุรกิจที่เป็นประเด็นหารือนี้ มีการฟ้องเพิกถอนเป็นคดีอยู่ในศาลปกครอง ซึ่งตามข้อ 9 (1) แห่งระเบียบคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าด้วยการรับปรึกษาให้ความเห็นทางกฎหมายของกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ.2522 กำหนดว่า กรรมการกฤษฎีกาจะไม่พิจารณาให้ความเห็นทางกฎหมายในเรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาล เว้นแต่จะเป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรี ได้มีมติหรือคำสั่งเป็นการภายในให้พิจารณา
แต่ด้วยการพิจารณาการรวมธุรกิจดังกล่าว มีประเด็นที่ กสทช. ถูกฟ้องเป็นคดีปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนประกาศ กสทช. ว่าด้วย มาตรการกำกับดูแลการรวมกิจการในกิจการโทรคมนาคม ซึ่งเป็นการฟ้องร้องถึงประกาศ กสทช. ที่เป็นเครื่องมือในการพิจารณากรณีควบรวมกิจการในครั้งนี้ กสทช. จึงมีความจำเป็นต้องหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายที่มีความสำคัญและส่งผลต่อการปฏิบัติหน้าทีาของ กสทช. และสำนักงาน กสทช. จึงมีความจำเป็นที่จะต้องนำความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกามาประกอบการพิจารณา
ทั้งนี้ ประเด็นปัญหาข้อกฎหมายที่จำเป็นต้องขอความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ประกอบด้วย
1. หากการควบรวมกิจการส่งผลถึงดัชนี HHI มากกว่า 2500 และเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นจากเดิมมากกว่า 100 ถือว่ามีอุปสรรคต่อการเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งมีการครอบครองโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นอย่างมีนัยสำคัญ ให้ถือว่าการรวมธุรกิจส่งผลต่อการแข่งขันในตลาด และถือว่าการรวมธุรกิจดังกล่าวเป็นการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขัน ตามพระราชบัญญัติประกอบกิจการโทรคมนาคมปี 2544 และประกาศ กสทช. ว่าด้วยมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคมปี 2549 หรือไม่อย่างไร และ กสทช.ต้องพิจารณารายงานการควบรวมธุรกิจที่ว่านี้อย่างไร
2. กสทช. สามารถยกเลิก หรือแก้ไขประกาศ กสทช. ว่าได้ว่าด้วยมาตรการการกำกับดูแลการควบรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ภายหลังจากที่บริษัททรู-ดีแทคได้ยื่นรายงานการรวมธุรกิจได้หรือไม่ และจะมีผลอย่างไร
3. ประกาศ กสทช. ว่าด้วยมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ข้อ 9 กำหนดไว้ว่า การรายงานตามข้อ 5 ข้อ 6 ข้อ 7 และข้อ 8 ให้ถือเป็นการขออนุญาตจาก กสทช. ตามข้อ 8 ของประกาศ กทช. ว่าด้วยมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาด หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ 2549 มีความหมายอย่างไร และหากปรากฏว่า การรวมธุรกิจจะทำให้เกิดการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมแล้ว กสทช.จะมีอำนาจในการนำประกาศกสทช.เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมมาใช้เพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำมันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคมปี 2549 มาใช้บังคับกับการรวมธุรกิจหรือไม่ เพียงใด และกสทช. มีอำนาจสั่งการพิจารณาในการสั่ง "อนุญาต"หรือไม่อนุญาตการร่วมธุรกิจ หรือมีคำสั่งอย่างอื่นได้หรือไม่เพียงใด
4. ตามที่ประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ข้อ 9 กำหนดว่า การรายงานในข้อ 5 ข้อ 6 ข้อ 7 และข้อ 8 ให้ถือเป็นการขออนุญาตจากกสทช.ตามข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่องมาตรการป้องกันการผูกขาดและกิจการโทรคมนาคมปี 2549
และโดยที่ข้อ 12 ของประกาศฉบับเดียวกัน กำหนดให้เลขาธิการ กสทช. รายงานต่อ กสทช. ภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับความเห็นประกอบรายงานการรวมธุรกิจจากที่ปรึกษาอิสระ การที่มีการกำหนดไว้ในข้อ 9 ประกอบข้อ 12 ดังกล่าว จะถือว่าเป็นการมอบอำนาจการพิจารณาอนุญาตให้ถือครองธุรกิจของผู้รับใบอนุญาตรายอื่นที่เป็นอำนาจเฉพาะตัวของ กสทช. ตามมาตรา 27 แห่งองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และมาตรา 27(11) แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯให้เลขาธิการ กสทช. หรือไม่ และจะเป็นผลกระทบต่อหลักการป้องกันมิให้มีการกระทำมันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคมหรือไม่อย่างไร
5. หากกรณีการกำหนดประกาศตามข้อ 9 และข้อ 12 มิใช่การมอบอำนาจให้เลขาธิการ กสทช. collection นี้ระยะเวลาการใช้อำนาจพิจารณาอนุญาตให้ถือครองธุรกิจของผู้รับใบอนุญาตรายอื่นตามข้อ 8 ของประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 และกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะสำหรับผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญจะต้องอยู่ภายใต้ระยะเวลา 60 วันตามข้อ 12 ของประกาศกทมกับกสทช.หรือไม่ประกาศใด
6. ระยะเวลา 60 วันตามข้อ 12 ของประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม สามารถขยายเวลาดำเนินการโดยอาศัยตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการปกทางปกครองพ.ศ 2539 ได้หรือไม่อย่างไร
ทั้งนี้ มีรายงานว่า พลเอกประวิตร ได้มีข้อสังการไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อให้รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาให้ความเห็นแล้ว ท่ามกลางความแปลกใจของหลายๆ ฝ่าย เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา ฝ่ายบริหารไม่เคยเข้ามาก้าวก่ายการทำงานขององค์กรอิสระ กสทช. ที่ว่านี้่ ดังจะเห็นได้จากกรณีทีเคยมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีก่อนหน้านี้ และมีประเด็นพาดพิงมาถึงกรณีเงินชดเชยค่าคลื่นความถี่ที่ กสทช. เรียกคืนมาจากบริษัท อสมท. เป็นจำนวนนับพันล้านบาทนั้น แต่รัฐมนตรีผู้กำกับดูแล อสมท. ได้ยืนยันว่า รัฐบาลไม่มีอำนาจที่จะเข้าไปแทรกแซงหรือก้าวก่ายการทำงานของ กสทช. แต่อย่างใดจึงไม่รับรู้เรื่องของเงินชดเชยค่าคลื่นความถี่ฯ ที่ กสทช. ชี้ขาดลงไปก่อนหน้านี้แต่อย่างใด แต่ครั้งนี้กลับเป็นเรื่องที่น่าแปลกที่รักษาการนายกฯ กลับมีข้อสังการเป็นการภายในให้คณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาให้ความเห็นในประเด็นข้อกฏหมายของ กสทช. นี้