พิลึก! กสทช. บอกไร้อำนาจปิดดีลควบรวมธุรกิจ "ทรู-ดีแทค" ต้องวิ่งวุ่นถามผู้คนไปทั่ว แต่พอถึงวงโคจรดาวเทียมกลับมีอำนาจเต็มขึ้นมาซะงั้น ตีปี๊บเปิดประมูลสิทธิ์ยิงดาวเทียมใหม่ ส่วนของเก่าไร้อำนาจชี้ขาดเช่นเดิม!
กสทช. เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะหลักเกณฑ์การประมูลดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) เพื่อเดินหน้าประมูลสิทธิการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม โดย พล.อ.ท. ดร. ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กสทช. เปิดเผยว่า วันนี้ (30 ส.ค. 2565) สำนักงาน กสทช. เปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนทั่วไปต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) (ฉบับแก้ไขปรับปรุง) ที่มีการปรับปรุงจากครั้งที่แล้ว เนื่องจากมีผู้เข้าร่วมแข่งขันเพียงรายเดียว จึงทำให้ต้องยกเลิกการประมูลไป โดยในครั้งนี้ กสทช. ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ฯ ที่สำคัญเพื่อให้เอื้อต่อการเข้าร่วมแข่งขัน โดยเพิ่ม Package จากเดิม 4 ชุดเป็น 5 ชุด เพื่อให้มีความยืดหยุ่นและเหมาะสมที่สุด ต่อผู้ประกอบการรายใหม่ ในด้านความคุ้มค่าในการลงทุน และสนองตอบต่อความต้องการของผู้เข้าร่วมการคัดเลือก รวมถึงทำให้มีความเป็นไปได้ในการรักษาสิทธิข่ายงานดาวเทียม และตำแหน่งวงโคจรของประเทศไทยที่มีสิทธิอยู่เดิมให้ได้มากที่สุด รวมทั้งมีการผ่อนคลายคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมการคัดเลือกในแต่ละชุด ที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน เพื่อให้เกิดผู้เล่นรายใหม่มากขึ้น
นอกจากนั้น ยังได้มีการปรับหลักเกณฑ์วิธีการคัดเลือกและเงื่อนไขการพิจารณาคัดเลือก ให้เหมาะสมกับแต่ละ Package รวมถึงมีการปรับปรุงราคาขั้นต่ำของแต่ละ Package เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน สอดคล้องตามกลไกของตลาด และก่อให้เกิดการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมมากขึ้น จึงมีการปรับปรุงการกำหนดราคาขั้นต่ำ และทบทวนวิธีการคำนวณราคาขั้นต่ำของการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) โดยกำหนดให้ราคาขั้นต่ำของการอนุญาตในแต่ละชุด กรณีที่มีผู้ขอรับใบอนุญาตใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมมากกว่า 1 ราย จะมีราคาขั้นต่ำต่ำกว่ากรณีที่มีผู้ขอรับใบอนุญาตใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมเพียงรายเดียว ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อเป็นมาตรการจูงใจให้มีผู้เข้าร่วมการแข่งขันมากขึ้น
พล.อ.ท. ดร. ธนพันธุ์ กล่าวว่า ในวันนี้ ผู้เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะฯ ได้มีข้อเสนอในประเด็นเรื่องราคาที่ยังคงสูง ส่งผลต่อข้อจำกัดในการแข่งขัน และข้อเสนอด้านความมั่นคงที่เสนอให้มีการใช้ประโยชน์ร่วมกันระหว่างด้านความมั่นคงและด้านธุรกิจ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายดาวเทียมแห่งชาติ ที่อยากให้ประเทศไทยมีดาวเทียมแห่งชาติเกิดขึ้น แต่เพื่อความคุ้มค่า ในการลงทุนจึงเสนอให้มีการแบ่งการใช้ประโยชน์จากดาวเทียมดวงเดียวกัน โดยมีการใช้ประโยชน์ทางด้านความมั่นคง และประโยชน์ทางด้านธุรกิจ แต่จะมีการแบ่งแยกการควบคุมที่ชัดเจน นั่นจะทำให้เกิดการใช้ประโยชน์จากสิทธิวงโคจรดาวเทียมอย่างคุ้มค่า นอกจากนั้น ยังมีข้อเสนอให้ กสทช. สร้างความเชื่อมั่น และกรอบระยะเวลาในการประมูลที่ชัดเจน
“หลังจากมีการรับฟังความคิดเห็นในวันนี้แล้ว คงมีการนำข้อคิดเห็นมาปรับปรุงหลักเกณฑ์ และวิธีการอนุญาตจากเดิมฯ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และเป็นธรรม ซึ่งการดำเนินการทั้งหมดของ กสทช. นั้น ยึดเอาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง เพื่อให้กิจการดาวเทียมสื่อสารของประเทศไทยมีความเจริญก้าวหน้าต่อไป” พล.อ.ท. ดร. ธนพันธุ์ กล่าว