ดีลควบรวมวุ่นไม่จบ ร้องอธิการบดี จุฬาฯ หวั่นเสียชื่อสถาบัน เหตุหลายฝ่าย กังขาผลการศึกษาดีลควบรวมไม่โปร่งใส
เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2565 กลุ่มเครือข่ายแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท NT เดินทางไปยื่นหนังสือถึงอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อขอให้พิจารณาตรวจสอบการให้บริการศึกษาวิจัยของ ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับการควบรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์ รองอธิการบดี ด้านวิชาการและการเชื่อมโยงกับสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาเป็นผู้แทนรับหนังสือในครั้งนี้
สืบเนื่องจาก ตามที่มีข่าวปรากฏว่า สำนักงาน กสทช. ได้ว่าจ้างให้ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศูนย์บริการวิชาการฯ) ทำการศึกษาวิเคราะห์การควบรวมธุรกิจระหว่าง ทรูและดีแทค เป็นจำนวนเงิน 10 ล้านบาท ต่อมาได้มีการเปิดเผยผลการศึกษาบางส่วน ซึ่งปรากฏว่ามีการวิพากษ์ วิจารณ์ถึงคุณภาพและมาตรฐานของงานวิชาการชิ้นดังกล่าวจากสาธารณชนอย่างกว้างขวาง ในประเด็นดังนี้..
1. ประเด็นอำนาจการพิจารณาตามกฎหมายของ กสทช.
ศูนย์บริการวิชาการฯ มีความเห็นว่า กสทช. ซึ่งแม้จะเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม แต่กลับไม่มีอำนาจอนุญาตหรือไม่อนุญาตการควบรวมรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมในครั้งนี้ ทำได้เพียงการกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะมาใช้บังคับได้เท่านั้น อีกทั้ง ผลการศึกษายังระบุอีกว่า ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2561 เป็นการออกกฎหมายลำดับรองโดยไม่มีฐานอำนาจตามกฎหมายแม่บท ดังนั้น อำนาจการพิจารณาการควบรวมจึงอยู่ภายใน้การกำกับดูแลของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า
ความเห็นดังกล่าวถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงว่าขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงต่อความเห็นของคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายที่ กสทช. แต่งตั้งขึ้น ซึ่งประกอบด้วยอดีตตุลาการศาลปกครองสูงสุด อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา และอาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ที่สอนหรือมีผลงานวิจัยในเรื่องกฎหมายการแข่งขันทางการค้าและยังขัดแย้งต่อคำสั่งของศาลปกครองกลางในคดีหมายเลขดำที่ 775/2565 ที่ระบุชัดเจนว่า กสทช. มีอำนาจตามกฎหมายในการพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติการควบรวมธุรกิจในครั้งนี้ หากเห็นว่าจะก่อให้เกิดการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม อีกทั้ง คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าก็ได้เคยยืนยันแล้วว่าการควบรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมเป็นอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ตามกฎหมายเฉพาะที่จัดตั้งขึ้น
2. ประเด็นการวิเคราะห์ผลกระทบจากการควบรวมธุรกิจ
เป็นที่ทราบกันดีและเป็นที่สนใจของประชาชนทั่วไปว่าการควบรวมธุรกิจระหว่าง True และ Dtac นี้เป็นการควบรวมธุรกิจขนาดใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศที่เคยมีมา และจะทำให้บริษัทใหม่ที่เกิดขึ้นมีส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่เกินกว่า 50% ทั้งในด้านจำนวนผู้ใช้บริการและจำนวนรายได้รวมทั้งอุตสาหกรรม ที่สำคัญทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดที่มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงในปัจจุบันระหว่าง 3 ราย ลดเหลือเพียง 2 ราย เป็นสภาพตลาดผูกขาด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการที่จะต้องรับภาระค่าใช้บริการที่แพงขึ้นอย่างมากจากการที่ผู้ให้บริการ 2 รายใหญ่ไม่มีแรงจูงใจที่จะแข่งขันกันโดยเฉพาะในด้านราคากันอีกต่อไป ตามผลการศึกษาวิเคราะห์ของนักวิชาการจาก TDRI อาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวนมากทั่วประเทศ องค์กรหรือสมาคมผู้บริโภค และประชาชนทั่วไป ซึ่งได้แสดงความเห็น จุดยืนที่คัดค้านและไม่เห็นด้วยให้มีการควบรวม หรือแม้แต่การศึกษาของอนุกรรมการด้านเศรษฐศาสตร์ที่ กสทช. แต่งตั้งขึ้นเพื่อการนี้โดยเฉพาะก็มีความเห็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน
แต่ปรากฏว่า ความเห็นของศูนย์บริการวิชาการฯ กลับไม่มีการแสดงบทวิเคราะห์ หรือความเห็นถึงผลกระทบในด้านดังกล่าวอย่างเด่นชัด แต่มีลักษณะที่โอนเอียงไปในทิศทางที่เห็นด้วยกับการควบรวมโดยยกประโยชน์ต่างๆ เช่น การรวมธุรกิจทำให้เกิด Economies of scale, การเข้าถึงสัญญาณเครือข่ายมีประสิทธิภาพมากขึ้นและครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น, เกิดความแข็งแกร่งในการพัฒนาคุณภาพเครือข่าย และผู้บริโภคสะดวกมากขึ้นจากจำนวนศูนย์บริการหลังการขายที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วเป็นประโยชน์ของผู้ให้บริการ และมองข้ามผลกระทบอย่างรุนแรงที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชนผู้ใช้บริการ ซึ่งรายงานนี้นอกจากจะมีประเด็นปัญหาในเรื่องคุณภาพและความเป็นมืออาชีพของงานศึกษาวิจัยแล้ว ยังทำให้เกิดความสงสัยเคลือบแคลงต่อเป้าประสงค์หรือจุดมุ่งหมายของงานวิจัยชิ้นนี้ว่าต้องการให้เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของสำนักงาน กสทช. ผู้ว่าจ้าง ตลอดจนผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากการควบรวมธุรกิจในครั้งนี้หากประสบความสำเร็จหรือไม่
กลุ่มเครือข่ายแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท NT ในฐานะประชาชนชาวไทยมีความกังวลใจอย่างยิ่งถึงข้อวิพากษ์ วิจารณ์ที่เกิดขึ้นข้างต้น เนื่องจากจุฬาลงกรณ์วิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงมาอย่างยาวนานในสถาบันการศึกษาที่เป็นศูนย์รวมฐานะองค์ความรู้ชั้นนำของประเทศที่ผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพ และคุณธรรมออกมาสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่ประเทศและประโยชน์ต่อประชาชน อีกทั้งเป็นองค์กรการศึกษาอันเป็นที่เชื่อถือและไว้วางใจของประชาชนมาโดยตลอดระยะเวลากว่า 100 ปีของการจัดตั้ง การที่ออกงานวิจัยหรือรายงานทางวิชาการในนามของมหาวิทยาลัยที่มีผลผูกพันต่อมหาวิทยาลัย ตลอดจนภาพพจน์ของคณาจารย์ท่านอื่นๆ จึงควรดำเนินการโดยความรอบครอบ เป็นกลางตรงตามหลักวิชาการเป็นที่ยอมรับในหมู่นักวิชาการด้วยกัน สามารถอธิบายชี้แจงถึงที่มาของความเห็น ผลของการวิเคราะห์ วิจัย หรือโต้แย้งอย่างสร้างสรรค์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานวิจัยหรือรายงานทางวิชาการที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ
ดังนั้น กลุ่มเครือข่ายแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท NT จึงใคร่ขอให้ท่านได้โปรดดำเนินการให้มีการตรวจสอบขั้นตอนการรับงาน ขั้นตอนการทำงานวิจัย หรือรายงานวิชาการของศูนย์บริการวิชาการฯ ว่าโปร่งใส เป็นไปตามหลักวิชาการ การทำวิจัย ด้วยใช้ระยะเวลาที่เหมาะสม และผลงานที่มีคุณภาพไร้ข้อกังขาหรือไม่ เพื่อเป็นการรักษาชื่อเสียงอันดีงามของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสืบต่อไป