เตือน รถไฟ-สกพอ. ดั้นเมฆแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน “ไฮสปีดเทรน” เอื้อเอกชน ร่นเวลาจ่ายเงินชดเชยก่อสร้างของรัฐเร็วขึ้น แลกเอกชนแบกรับค่าก่อสร้าง “ซุปเปอร์สตรัคเจอร์” ย้อนบทเรียนอดีตผู้ว่ารถไฟต้องโทษจำคุกด้วยเหตุแก้สัญญาแบบเดียวกันนี้มาแล้ว
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้า โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา) ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ลงนามกับบริษัท เอเชียเอราวัน จำกัด ในเครือ ซีพี. ตั้งแต่ 24 ต.ค.62 หรือเกือบ 3 ปีมาแล้ว แต่จนถึงเวลานี้โครงการยังไม่มีความคืบหน้า การรถไฟฯ ยังไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้บริษัท และออกหนังสือ NTP ให้เอกชนเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ คาดว่าจะต้องเลื่อนการก่อสร้างไปต้นปีหน้า
ขณะที่ความชัดเจนที่เห็น กลับเป็นเรื่องที่การรถไฟฯ และ สกพอ. ต่างขานรับการแก้ไขสัญญาสัมปทานกับบริษัทเอกชน โดยล่าสุด สกพอ.เปิดเผยว่า ได้รายงานการจัดทำร่างแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ไปยังคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ที่มี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เป็นประธานแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาคาดว่าจะได้ข้อสรุปไม่เกิน 1 เดือนจากนี้
เปิด 2 เงื่อนไขแก้สัญญาร่วมลงทุน
ทั้งนี้ การแก้ไขสัญญาสัมปทานร่วมลงทุน เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาทับซ้อนงานโยธา ระหว่างโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน กับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง โดยเอกชนจะแบกรับก่อสร้างงานโยธา Super structure ซึ่งมีค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้น 9,207 ล้านบาท แลกกับการร่นเวลาจ่ายเงินชดเชยการก่อสร้างหรือเงินร่วมลงทุนโครงการตามมติคณะรัฐมนตรี จากที่รัฐจะทยอยจ่ายเมื่อโครงการแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการในปีที่ 6-15 ระยะเวลา 10 ปี รวม 149,650 ล้านบาท โดยระบุว่า ทำให้รัฐประหยัดเงินลงทุน และดอกเบี้ยไปราว 27,000 ล้านบาท และสามารถแก้ปัญหาโครงสร้างทับซ้อนได้
รวมไปถึงกรณีการชำระเงินค่าสิทธิรับโอนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยมีการแก้ไขการชำระเงินค่าสิทธิเอกชนร่วมลงทุน จำนวน 10,671.09 ล้านบาท จากเดิมที่ต้องชำระภายใน 2 ปี คือ 24 ต.ค. 2564 เป็นการแบ่งชำระงวดละ 1,067.11 ล้านบาทต่อปี ไม่เกิน 7 งวด
เปิดทางเอกชนจับเสือมือเปล่า?
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวในวงการก่อสร้างเปิดเผยว่า ความพยายามในการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน ระหว่างการรถไฟฯ, สกพอ. กับบริษัท เอเชียเอราวัน จำกัด นั้น เป็นสิ่งที่วงการรับเหมาและกระแสโซเชียลคาดการณ์กันมาแต่แรกแล้ว
เพราะหลังกลุ่มทุนรายดังกล่าว ประสบผลสำเร็จในการขอยืดเวลาจ่ายค่าสิทธิ์รับโอนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ จำนวน 10,671 ล้านบาท โดยอ้างผลกระทบจากวิกฤตไวรัสโควิด-19 และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ทำให้ปริมาณผู้โดยสารไม่เป็นไปตามคาดการณ์ ได้ก่อให้เกิดข้อกังขาจากผู้ที่เฝ้าติดตามโครงการนี้ว่า ขนาดค่าต๋งรับโอนสิทธิ์แค่หมื่นล้าน บริษัทยังไม่มีศักยภาพที่จะจ่ายให้รัฐได้ แล้วโครงการหลักที่จะต้องลงทุนกว่า 2.24 แสนล้านบาท และต้องกู้เงินไม่น้อยกว่า 180,000 - 200,000 ล้านบาท จะไม่ยิ่งกว่าหรือ
อย่างไรก็ตาม หนทางที่จะ “ล้วงตับ” ดึงเม็ดเงินสนับสนุนการก่อสร้างโครงการจากภาครัฐออกมาใช้ก่อน ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะตามเงื่อนไขประกวดราคา (TOR) และสัญญาร่วมลงทุนฯกำหนดไว้ชัดเจน รัฐบาลจะจ่ายเงินสนับสนุนการลงทุนตามมติ ครม. ในโครงการเมื่อผู้รับสัมปทานก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จและเปิดให้บริการแล้ว (ปีที่ 6 ของสัญญา) โดยจะชำระคืนในระยะเวลา 10 ปี พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 2.35% หรือตกปีละราว 13,900 ล้านบาท
ดังนั้น หนทางที่จะล้วงลูกดึงเงินสนับสนุนการลงทุนจากรัฐมาใช้ก่อสร้างก่อน จึงขัดแย้งกับเงื่อนไขการประมูล และสัญญาร่วมลงทุนอย่างเห็นได้ชัด เป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนคู่สัญญา เพราะการที่รัฐบาลตัดสินใจคัดเลือกกลุ่มทุนซีพี. เป็นผู้ชนะประมูลโครงการนี้ เพราะเชื่อในศักยภาพและสถานะด้านการเงินของบริษัท จึงกำหนดเงื่อนไขให้เอกชนต้องจัดหา Supplier Credit มาดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ รัฐจึงจะจ่ายเงินสนับสนุนการก่อสร้างให้ ไม่ใช่พยายามดึงเงินสนับสนุนของรัฐออกมาดำเนินการก่อสร้างให้ก่อน ดังที่การรถไฟ ฯและสกพอ.กำลังดำเนินการแก้ไขสัญญาอยู่นี้
“แม้จะอ้างว่า การแก้ไขสัญญาปรับร่นเวลาจ่ายเงินอุดหนุนของภาครัฐในลักษณะ “สร้างไป-จ่ายไป” ที่อ้างว่าทำให้รัฐประหยัดงบประมาณ และดอกเบี้ยลงไปกว่า 27,000 ล้านบาท ยังไม่รวมเงินลงทุนในส่วนงานที่เพิ่มขึ้นอีกกว่า 9,200 ล้านที่การรถไฟฯ ไม่ต้องแบกรับภาระเอง แต่ในส่วนของคู่สัญญาเอกชนที่ได้ไปจากการแก้ไขสัญญานั้น ไม่เพียงจะลดภาระการระดมทุนร่วม 200,000 ล้านบาทลงไปเหลืออยู่เพียง 79,000 ล้านบาท เพราะหันมาใช้เม็ดเงินลงทุนจากภาครัฐแทน ผลประโยชน์จากการลดต้นทุนดอกเบี้ยเงินกู้ ต้นทุนการระดมทุนของเอกชนที่ได้ไปแทบจะทำให้เอกชน “จับเสือมือเปล่า”
ทำให้เกิดคำถามว่า เป็นธรรมกับผู้เข้าประมูลแข่งขันที่ไม่ถูกคัดเลือกหรือไม่ เพราะการที่รัฐชี้ขาดให้กลุ่มทุนซีพี. ชนะประมูลโครงการนี้ก็ด้วยข้ออ้างเอกชนเสนอเงื่อนไขขอรับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐต่ำกว่าอีกกลุ่ม แต่การแก้ไขสัญญาครั้งนี้ เห็นได้ชัดเจนว่าไม่น่าจะใช่แล้ว
บทเรียนอดีตผู้ว่ารถไฟ แก้สัญญาเอื้อเอกชน
แหล่งข่าวในกระทรวงคมนาคม เปิดเผยเพิ่มเติมว่า สิ่งที่ผู้บริหารรถไฟฯ และ สกพอ. ควรจะได้ศึกษาบทเรียนของผู้บริหารรถไฟในอดีต ต่อกรณีแก้ไขสัญญาสัมปทานที่ไม่เป็นไปตามเอกสารประกวดราคา (TOR) และสัญญาที่ลงนามกันไว้ จนศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบมีคำพิพากษาให้จำคุกผู้เกี่ยวข้องมาแล้ว ก็คือ
กรณีการแก้ไขสัญญาก่อสร้างระบบรถไฟฟ้า “แอร์พอร์ตลิงค์” ที่การรถไฟฯ เพิ่งชงแก้ไขยืดจ่ายค่าต๋งค่าสิทธิ์รับโอนโครงการไปล่าสุดนั่นแหล่ะ โดยแต่เดิมโครงการนี้การรถไฟฯได้เปิดประมูลหาเอกชนเข้ามาก่อสร้าง ภายใต้วงเงิน 25,917 ล้านบาท โดยเอกชนที่เข้ามาดำเนินการต้องจัดหา “ซัพพลายเออร์เครดิต” เข้ามาดำเนินการเช่นเดียวกับ “รถไฟไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน”
ก่อนที่ภายหลังจะมีการตรวจสอบพบว่า มีการแก้ไขสัญญาที่ไม่เป็นไปตามเอกสารประกวดราคา ในเรื่องของ “ค่าธรรมเนียมเงินกู้” ที่เดิมไม่ได้กำหนดเอาไว้ แต่ได้มีการแก้ไขสัญญากำหนดค่าธรรมเนียมขึ้นมาจำนวน 1,600 ล้านบาท ซึ่งจากการตรวจสอบในภายหลังพบว่า ผู้รับเหมามีการเบิกค่าธรรมเนียมไปเพียง 400 ล้านบาทเท่านั้น อีก 1,200 ล้านบาท ไม่รู้ไหลไปเข้ากระเป๋าใคร จนทำให้รัฐเสียหาย ก่อนจะมีการร้องเรียนไปยังคณะกรรมการ ปปช.
ท้ายที่สุด ปปช. มีมติชี้มูลความผิดอดีตผู้ว่าการรถไฟฯ กับพวก ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และเป็นโจทก์ฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ โดยตรง ก่อนที่ล่าสุดเมื่อ 16 ก.พ. 2564 ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุธรณ์ ให้จำคุกนายจิตต์สันติ ธนะโสภณ อดีตผู้ว่าการรถไฟฯ ในความผิดตาม ม.157 เป็นระยะเวลา 9 ปี แต่ให้การเป็นประโยชน์จึงลดโทษเหลือจำคุก 6 ปี เพราะมีพฤติกรรมเอื้อประโยชน์เอกชนในการแก้ไขสัญญาก่อสร้าง ที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขการประมูล (TOR)
แล้วกรณีแก้ไขสัญญาสัมปทานรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อมสามสนามบินที่มการแก้ไขสัญญายืดจ่ายค่าสิทธิ์รับโอนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ 10,671 ล้านบาท และล่าสุดยังรุกคืบแก้ไขสัญญาหลัก เพื่อปรับร่นเวลาจ่ายเงินสนับสนุนการก่อสร้างตามมติ ครม.ด้วยอีก
กรณีเช่นนี้ไม่ถือว่าเป็นการแก้ไขสัญญาสัมปทานเอื้อประโยชน์ต่อเอกชน ทำให้เอกชนแทบจะ “ชุบมือเปิบ”ยิ่งกว่าจับเสือมือเปล่าหรือไม่?