เปิดโฉม “มือมืด” ดอดแก้ไขประกาศ กสทช. ว่าด้วยการควบรวมธุรกิจ ก่อนไขก๊อกสู่สนามการเมือง ทำเอาดีลควบรวมปั่นป่วนไปทั้งสามโลก จนบอร์ดใหม่ไปไม่เป็น ด้านเครือข่ายเพื่อผู้บริโภคหลายจังหวัดลุกฮือต้านหนัก
ควันหลงจากกรณีการควบรวมกิจการ ระหว่าง บมจ.ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ True และ บมจ.โทเทิ่ลแอ็คเซ็สคอมมูนิเคชั่น จำกัด หรือ "ดีแทค" ที่ทำเอาวงการสื่อสารโทรคมนาคมป่วนไปทั้งสามโลก หลังล่าสุดประธาน กสทช. ออกมาฟ้อนเงี้ยวกรณีสำนักงานฯ ได้เผยแพร่เอกสาร “ความจริง 5 ประการกรณีดีลควบรวม” ที่ทำเอาวงการสื่อสารโทรคมนาคมวิพากษ์ในวงกว้างถึงความกล้าหาญชาญชัยในการเปิดเผยเบื้องลึกเรื่องนี้ ก่อนจะถูกสั่งให้ถอดรายงานดังกล่าวกลางอากาศนั้น
หลายฝ่ายได้พยายามสืบเสาะหาผู้อยู่เบื้องหลังการแก้ไขประกาศ กสทช. ว่าด้วยมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ปี 2561 ที่อ้างว่า ทำให้ กสทช. ไม่มีอำนาจพิจารณาดีลควบรวมธุรกิจได้ต่อไป มีเพียงอำนาจในการออกมาตรการเฉพาะ เพื่อป้องกันความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะได้เท่านั้น ซึ่งจากการตรวจสอบย้อนหลังไปในช่วงปี 2560-61 พบว่า มีบุคคลในระดับรองประธาน กสทช. ที่ทำหน้าที่กลั่นกรองงานด้านกิจการโทรคมนาคมอยู่เบื้องหลังการผลักดันการแก้ไขประกาศ กสทช. ในครั้งนี้ โดยอ้างว่าประกาศเดิมที่ใช้ไม่สอดคล้องกับ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ และ พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม ปี 44 แม้ในที่ประชุม กสทช. จะมีการตั้งข้อสังเกตถึงผลกระทบจากการแก้ไขประกาศ กสทช. ดังกล่าว แต่ก็ไม่สามารถจะทัดทานได้ จนกระทั่งผ่านความเห็นชอบจากบอร์ด กสทช. ก่อนที่เจ้าตัวจะลาออกกระโจนสู่สนามการเมือง
โดยก่อนหน้านี้ เจ้าตัวที่สวมหมวกเป็นคีย์แมนของพรรคการเมืองใหญ่ ได้ออกมาหนุนการควบรวมธุรกิจทรูและดีแทค อย่างออกหน้า โดยระบุว่า กสทช. ควรยึดถือประกาศ กสทช. ปี 2561 ที่มีการแก้ไขผ่านความเห็นชอบจากบอร์ด กสทช. เมื่อปลายปี 60 ซึ่งเจตนารมณ์ของประกาศดังกล่าว ไม่ได้ให้อำนาจ กสทช. พิจารณาอนุมัติการควบรวมกิจการอีกแล้ว ทำได้เพียงการรับทราบและกำหนดมาตรการเฉพาะ เพื่อป้องกันความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะเท่านั้น ทั้งยังอ้างด้วยว่า กสทช. ไม่สามารถจะนำเอากฎหมายฉบับอื่นมาอ้างอิงแทนได้ ไม่ว่าจะเป็น ประกาศ กสทช. ปี 53 ที่ถูกยกเลิกไปแล้ว หรือประกาศ กสทช. ปี 49 ซึ่งเป็นเรื่องการเข้าซื้อกิจการ เพราะ กสทช. ได้ยกเลิกกฎหมายเหล่านี้ไปแล้ว อีกทั้งที่ผ่านมา มีการควบรวมธุรกิจภายใต้ ประกาศ กสทช. ดังกล่าวถึง 9 รายแล้ว “ขนาดเจ้าตัวพ้นจากบอร์ด กสทช. มากว่า 3 ปีแล้ว ยังออกมาเชียร์กรณีการควบรวมธุรกิจของทรูและดีแทคอย่างออกนอกหน้า ถ้าไม่ใช่มีกลุ่มทุนการเมืองเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้แก่พรรคก็ไม่รู้จะเรียกว่าอะไรดี”
ล่าสุด เมื่อปลายเดือน ส.ค.65 ที่ผ่านมา นายเศรษพงศ์ มะลิสุวรรณ สมาชิกพรรคภูมิใจไทย ได้ออกมาให้ข่าวกรณีประธาน กสทช. สั่งคุมเข้มการเผยแพร่ข่าวปมควบรวมหลังสำนักงาน กสทช. ได้เผยแพร่รายงาน “5 Facts กรณีควบรวมทรู-ดีแทค” ว่า ถือเป็นเรื่องดีและทำถูกต้องแล้ว เพราะหากข้อมูลที่อยู่ระหว่างการพิจารณาที่ยังไม่ได้รับการลงมติ และข้อมูลที่อาจขาดความครบถ้วน หรือการอ้างถึงข้อเท็จจริง อาจจะทำให้สังคมเข้าใจคลาดเคลื่อน ซึ่งที่ผ่านมา กสทช. ก็ได้ออกประกาศ ข้อบังคับการประชุม กสทช. ปี 2555 ถึงความเหมาะสมในการเผยแพร่ข้อมูล เช่น ถ้าข้อมูลอยู่ระหว่างการพิจารณา หาก กสทช. ท่านใดท่านหนึ่ง รีบนำเสนอข้อมูลออกมาจะเป็นการกดดันการพิจารณาหรือไม่ การที่ ประธาน กสทช. ออกมาดำเนินการตั้งทีมตรวจสอบที่มา ถือได้ว่าเป็นกระบวนการที่สมควรทำ และถูกต้อง
ส่วนเหตุที่ยกเลิกประกาศปี 2553 ไปนั้น เพราะหลักเกณฑ์ไม่ตรงตามบัญญัติในกฎหมายแม่บท โดยพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ และ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคมฯ ไม่ได้ให้อำนาจ กสทช. ในการอนุญาตหรือไม่อนุญาตการรวมธุรกิจแต่อย่างใด ดังนั้น จึงเกิดประกาศเรื่องการรวมธุรกิจปี 2561 ออกมาใช้แทน เพื่อให้เกิดความชัดเจนและสอดคล้องกับ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ และ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคมฯ ดังนั้น การอ้างถึงหรือการนำประกาศ กสทช. ปี 2553 มาใช้ในการพิจารณาการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมจึงไม่ถูกต้อง เพราะประกาศ กสทช. ปี 2553 ถูกยกเลิกไปแล้ว
เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคลุกฮือต้าน
ขณะเดียวกันมีรายงานว่า เครือข่ายสภาองค์กรของผู้บริโภคในหลายจังหวัด อาทิ เครือข่ายสภาองค์กรของผู้บริโภคฉะเชิงเทรา ประจวบคีรีขันธ์ สงขลา สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง มีการเคลื่อนไหวบนโซเชียลมีเดีย เพื่อคัดค้านการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทคอย่างหนัก โดยระบุถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการควบรวมกิจการ ประกอบด้วย 1. ผู้บริโภคมีทางเลือกน้อยลง เกิดการผูกขาดตลาด เพราะสัดส่วนการแข่งขันในตลาดเปลี่ยนไป และในตลาดธุรกิจโทรคมนาคมที่มีผู้ให้บริการ 3 ราย เหลือเพียง 2 ราย ย่อมส่งผลต่อการแข่งขันทั้งด้านการพัฒนาบริการ และ 2. ผู้บริโภคต้องจ่ายค่าบริการแพงขึ้น อย่างน้อย 7-10% แม้จะแข่งขันกันตามกลไกตลาดก็ตาม