กำลังเป็นประเด็นสุดฮอต เป็น Talk of the Town กระหึ่มเมือง!
กับ "วาระนายกฯ แห่งชาติ" ของ พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา ที่กำลังเป็นข้อถกเถียงของผู้คนในสังคมว่า จะ(แถ)การนับวาระ 8ปี ของนายกฯ “ลุงตู่” กันอย่างไร จึงจะไม่เข้าเกณฑ์นั่งอยู่ในตำแหน่งจนรากงอกครบ 8 ปีแล้ว ตามบทบัญญัติมาตรา 158(4) ของรัฐธรรมนูญฯ ปี 2560
อุตส่าห์ไป "ปลุกผี" ยืมมือ นายมีชัย ฤชุพันธ์ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้ "ขี่ม้าขาว" มาช่วยตีความ และทำจดหมายยืนยัน นั่งยืน ไปยังศาลรัฐธรรมนูญว่า ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560 ที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ส่วนที่นั่งอยู่ก่อนหน้าก็ให้หลับหูหลับตาถือซะว่า ไม่ถือว่าอยู่ในตำแหน่งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับนี้
ทั้งยังอ้างด้วยว่ามติ กรธ. ครั้งที่ 500 วันที่ 7 ก.ย. 61 ที่เคยมีการหารือประเด็นการนับอายุการดำรงตำแหน่งนายกฯต่อเนื่องที่มีการเผยแพร่ในโลกโซเชียลกระหึ่มเมืองนั้น เป็นการจดบันทึกถ้อยคำที่ไม่ครบถ้วน และเข้าใจผิดไปเองของฝ่ายเลขา ทางกรธ.ยังไม่เคยมีมติหรือให้การรับรองใดๆ
แต่ดันมา “โป๊ะแตก!” เพราะมติ กรธ. ครั้งนั้น ได้รับการรับรองแล้ว โดยไม่มีการแก้ไขถ้อยความใดๆ ตั้งแต่ปีมะโว้ ในการประชุม กรธ.ครั้งที่ 501 เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 61 ก่อนสิ้นสุดการทำหน้าที่ กรธ. ซึ่งก็แปลว่า การนับอายุการดำรงตำแหน่งของนายกฯ ลุงตู่นั้น ต้องนับต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 57 ไม่ต้องไปตีความออกน้ำออกทะเลไปไหนต่อไหนให้เมื่อยตุ้ม
จาก 8 ปีรันเวย์ “ลุงตู่..ถึงรถไฟฟ้าสายสีส้ม”
เห็นมหกรรมแห่งความย้อนแย้งเพื่อหารันเวย์ให้ “ลุงตู่” อยู่ในตำแหน่งนายกฯ ให้รากงอกกันไปข้างแล้ว เลยพาลให้นึกย้อนไปถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงินลงทุนกว่า 1.427 แสนล้าน ที่ “การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)” โม่แป้งมาตั้งแต่ปี 62 และหวังจะอุ้มสมกลุ่มทุนการเมือง "กากี่นั๊ง" เข้ามา “ชุบมือเปิบ” โครงการนี้ ก็มีเส้นทางที่ไม่ต่างไปจาก “นายกฯ แห่งชาติ” ยังไงยังงั้น !
ทั้งที่จะว่าไป หาก รฟม. ดำเนินการประมูลไปตามปกติ ตาม “ไทม์ไลน์” ที่วางไว้ก็เชื่อว่า กลุ่มทุนรับเหมายักษ์อย่าง กลุ่ม ช.การช่าง และบริษัทลูก BEM ซึ่งรับสัมปทานเดินรถไฟฟ้าใต้ขายคา รฟม. อยู่แล้ว ย่อมมีโอกาสชนะประมูลชนิดนอนมาอย่างเห็นๆ เพราะ รฟม.เอง ก็ยืนยันนั่งยันมาโดยตลอดว่า หากเปรียบเทียบอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าใต้ชายคา รฟม. กับรถไฟฟ้า BTS ของ กทม. แล้ว ค่าโดยสารรถไฟฟ้า รฟม. ก็ต่ำกว่าเห็นๆ
ซึ่งแปลว่า ศักยภาพและประสิทธิภาพในการเดินรถไฟฟ้าของ BEM นั้น เหนือกว่าคู่แข่ง BTS เห็นๆ แต่ไม่รู้ผู้บริหาร รฟม. คิดอะไรอยู่ ถึงลุกขึ้นมาปรับรื้อเกณฑ์ประมูลสายสีส้มกลางอากาศ แถมยังดั้นเมฆปรับแก้ไขเกณฑ์ประมูล จนเรียกแขกให้งานเข้า ทำเอาโครงการที่ควรจะได้ผู้ชนะประมูลร่วมลงทุนตั้งแต่ปีมะโว้ เมื่อ 2-3 ปีก่อน กลับต้องคาราคาซังมาจนกระทั่งปัจจุบัน
ล่าสุด แม้ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะตีปี๊บผลงาน “ชิ้นโบแดง” ในการประกวดราคาโครงการนี้ที่ได้ผู้ชนะการประมูลไปแล้ว นั่นคือ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BEM ที่ร่วมกับบริษัทแม่ กลุ่ม ช.การช่าง CK นั่นแหละ โดยเสนอผลประโยชน์สุทธิ (ผลตอบแทนตลอดอายุสัมปทานหักลบด้วยวงเงินชดเชยค่าก่อสร้างตามมูลค่าปัจจุบัน NPV) เท่ากับ -78,287.95 ล้านบาท เฉือนคู่แข่งกลุ่ม ITD Group ที่เสนอ 102,635.55 ล้านบาทแบบขาดลอย
แต่ผลการประมูลที่ออกมาก็หาได้ยังประโยชน์ต่อรัฐ และ รฟม. อย่างที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด ตรงกันข้ามกลับทำให้รัฐสูญเสียประโยชน์ไปมหาศาลมูลค่านับแสนล้านบาท เพราะราคาประมูลสุทธิดังกล่าว เมื่อเทียบกับข้อเสนอราคาของกลุ่ม BSR ที่ “เจ้าสัวคีรี กาญจนพาสน์” แห่ง BTS Group ที่เคยยื่นข้อเสนอเอาไว้ในการประมูลครั้งแรก แต่ถูก รฟม. ยกเลิกการประมูลไป โดยที่ศาลปกครองมีคำพิพากษาไปก่อนหน้าว่า เป็นการออกประกาศยกเลิกประกวดราคาโดยมิชอบ และกำลังลุ้นระทึกอยู่ว่า ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบจะฟันซ้ำกราวรูดผู้เกี่ยวข้องอีกระลอกหรือไม่ ในวันที่ 27 ก.ย.ศกนี้
นัยว่า ราคาประมูลดังกล่าวสูงกว่าที่กลุ่ม BTS-BSR เสนอเอาไว้นับแสนล้านบาทเลยทีเดียว!!!
“เจ้าสัวคีรี” ทิ้งบอมบ์ รฟม.
ล่าสุด “เจ้าสัวคีรี” ได้ขอรับซองข้อเสนอคืนจาก รฟม. ไปแล้ว เมื่อวันจันทร์ที่ 12 ก.ย. ที่ผ่านมา ก่อนเปิดให้สื่อมวลชนได้เห็นข้อเสนอราคาอย่างพร้อมเพรียง โดยกลุ่ม BSR นั้น เสนอผลตอบแทนแก่รัฐตลอดสัมปทานคิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน NPV 70,144 ล้านบาท และขอรับเงินสนับสนุนงานโยธา สายสีส้มตะวันตก 79,280 ล้านบาท หรือเท่ากับเสนอผลประโยชน์สุทธิ -9,676 ล้านบาท เทียบกับข้อเสนอ BEM ที่เป็นผู้ชนะประมูลอยู่ถึง 68,000 ล้านบาท
ซึ่งนั่นหมายความว่า หาก รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ไม่ยกเลิกประมูลในครั้งก่อน และไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนแก้ไขคุณสมบัติของผู้เข้าประมูลใหม่ จนทำให้ผู้รับเหมาจากทั่วโลกรวมทั้งกลุ่ม BSR ไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้ ไม่เพียงแต่รัฐบาล หรือ รฟม. จะได้ผลประโยชน์ตลอดอายุสัมปทานเพิ่มขึ้นนับแสนล้านบาทแล้ว
เม็ดเงินผลประโยชน์ตลอดอายุสัมปทาน 30 ปี เมื่อคำนวณเป็นมูลค่าปัจจุบัน (NPV) และหักลบด้วยเงินชดเชยค่าก่อสร้างสายสีส้มตะวันตกแล้ว รัฐ และ รฟม. ก็ยังคงได้รับผลประโยชน์สุทธิเหนือกว่าผลประมูลที่ออกมานี้ ไม่น้อยกว่า 68,000 ล้านบาท และอาจมากกว่าแสนล้านบาทด้วยซ้ำ หากคำนวณผลประโยชน์ตอบแทนตลอดระยะเวลาสัมปทาน
“เม็ดเงินส่วนต่างผลประโยชน์สุทธิตามมูลค่าปัจจุบัน (NPV) ของกลุ่ม BSR ที่ต่ำกว่าข้อเสนอของ BEM มากกว่า 68,000 ล้านบาทนั้น ส่วนต่างราคาดังกล่าวสามารถก่อสร้างงานโยธารถไฟฟ้าสายอื่น ๆ ได้ตลอดทั้งสายไม่ว่าจะสายสีชมพู สีเหลืองหรือสีเทา หรือแม้แต่นำไปชดเชยก่อสร้างส่วนต่อขยายสายสีเขียว 2 สายทาง ที่มีมูลค่าลงทุนราว 53,000 ล้านบาท”
รฟม. กับความย้อนแย้งในตัวเอง!
ก่อนหน้านี้ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ วิศวกรรมผู้เชี่ยวชาญโครงการขนาดใหญ่และรองหัวหน้าพรรค ปชป. ออกมาสัพยอกกรณีที่ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกว่า หาก รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกยึดถือหลักเกณฑ์ตามประกาศคณะกรรมการพีพีพีอย่างเข้มงวดตามที่กล่าวอ้างจริง กลุ่ม ITD ก็ไม่สมควรจะได้รับการพิจารณาให้ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติเบื้องต้นของการประมูลตั้งแต่แรกแล้ว
ด้วยเข้าข่ายมีคุณสมบัติต้องห้ามตามประกาศคณะกรรมการพีพีพี เพราะกรรมการบริหารบริษัทถูกดำเนินคดีอาญาถึงขั้นต้องโทษจำคุกจากกรณี “เสือดำ” ที่เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามการเข้าร่วมลงทุนหรือทำสัญญากับหน่วยงานภาครัฐ
โดยประเด็นในเรื่องคุณสมบัติต้องห้ามดังกล่าว ผู้แทน สคร. และสำนักงบประมาณที่อยู่ในคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ทักท้วงในที่ประชุมแล้ว แต่ก็ไม่สามารถจะจัดทานเสียงข้างมากที่ยังคงดั้นเมฆต้องเร่งปิดดีลโครงการนี้ ด้วยอ้างว่า หากมีความผิดพลาดก็เป็นความรับผิดชอบของบริษัทเองในการตรวจสอบและรับรองคุณสมบัติของตนเอง หากในภายหลังปรากฏข้อเท็จจริงใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรับรองเอกสารดังกล่าว คณะกรรมการคัดเลือกฯ ก็มีสิทธิ์ปฏิเสธการทำสัญญากับเอกชนรายนั้นๆ ได้อยู่แล้ว
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการปรับเปลี่ยนแก้ไขเกณฑ์คุณสมบัติของผู้เข้าประมูลที่ล้วนมีความย้อนแย้งในตัวเอง เพราะในขณะที่ รฟม. ดำเนินการในทุกวิถีทางในอันที่จะตีกันไม่ให้กลุ่ม BSR เข้าร่วมประมูลได้ แต่กลับมีการแก้ไขประกวดราคาที่เอื้อให้กับกลุ่มทุนอีกรายคือ ITD ให้สามารถเข้าร่วมประกวดราคาเป็นคู่เทียบกับกลุ่ม ช.การช่าง CK-BEM ได้อย่างผิดปกติ
เห็นได้ชัดจากกรณีการแก้ไขคุณสมบัติของผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าที่เดิมในการประมูลครั้งที่ 1 กำหนดให้ต้องมีประสบการณ์ในการจัดหาและติดตั้งระบบรถไฟฟ้า มูลค่าไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท จนทำให้ไม่มีผู้ให้บริการเดินรถต่างประเทศรายใดผ่านเกณฑ์เข้าร่วมประมูลได้
แต่ในการประมูลครั้งที่ 2 รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกได้ตัดคุณสมบัติดังกล่าวออกไป ทำให้ ITD สามารถดึงผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าจากเกาหลี คือ กลุ่ม Inchon Transit Corp. เข้ามาร่วมประมูลได้ ท่ามกลางข้อกังขาจากผู้คนในสังคม เหตุใด รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกถึงยอมตัดเงื่อนไขสำคัญในเรื่องคุณสมบัติของผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าออกไป ทั้งที่ต้องดูแลการเดินรถไฟฟ้าถึง 30 ปี
แล้วเหตุใดกับข้อทักท้วงในเรื่องการกำหนดคุณสมบัติด้านเทคนิคและผลงานที่เป็น Local content ของผู้รับเหมาที่จะเข้าประมูลอย่างประสบการณ์ก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินมูลค่าไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ที่ถูกวิพากษ์อย่างหนักว่าเป็นเงื่อนไขปิดกั้นการแข่งขัน ตีกันรับเหมาจากทั่วโลกไม่สามารถจะเข้าประมูลได้ เพราะทั่วทั้งโลกมีกลุ่มรับเหมาก่อสร้างยักษ์ของไทยเพียง 2 รายเท่านั้นที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามเกณฑ์นี้
แต่ รฟม. ก็ไม่ยี่หร่ะต่อข้อทักท้วงดังกล่าว ทั้งที่หาก “ปลดล็อค” เปิดกว้างให้ผู้รับเหมาสามารถนำผลงานในต่างประเทศ หรือผลงานในประเทศที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ แต่ยังไม่เปิดให้บริการมาเสนอได้ อย่างเช่น โครงการประมูลก่อสร้างรถไฟฟ้า สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย หรือสายสีม่วงใต้ของ รฟม. เอง จะทำให้มีผู้รับเหมาอีก 3-4 ราย สามารถเข้าร่วมประมูลได้ รวมทั้งกลุ่ม BSR เอง
ทั้งหมดจึงดูเป็นมหกรรมแห่งความย้อนแย้งที่ทำให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มนี้ ถูกตั้งคำถามอย่างหนักว่า จะปล่อยให้ขบวนการจัดฮั้วราคาลอยนวลกันไปเช่นนี้แน่หรือ เพราะหากโครงการที่มีการจัดฮั้วประมูลกันอย่าง “โจ๋งครึ่ม” เช่นนี้ ถูกปล่อยผ่านโดยที่หน่วยงานตรวจสอบทั้งหลายได้แต่นั่งทำตาปริบๆ ก็เห็นทีการประมูลโครงการรัฐนับจากนี้จะไม่สามารถอ้างอิงหลักเกณฑ์ใดชี้ขาดได้อีกแล้ว นอกจากมือใครยาวสาวได้สาวเอาเท่านั้น
หากเป็นการประมูลในช่วงปี 2557 ที่รัฐบาล คสช. ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีอำนาจตาม ม.44 อยู่เต็มมือ เชื่อแน่ว่า สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้น หน่วยงานรัฐหน้าไหนต่อให้กินดีหมี ดีเสือมาอย่างไรก็ไม่กล้าบิดเบือนการประมูลหลุดโลกได้ ป่านนี้ เพราะเกรงกลัวในอำนาจเด็ดขาดที่ คสช. มีอยู่
แม้แต่ในรัฐบาลนายใหญ่แห่งนครดูไบ ที่ใครต่อใครก็สัพยอกว่า ทุจริตทุกเม็ดก็ยังไม่กล้าดำเนินการประมูลกัน “โจ๋งครึ่ม” ได้ถึงเพียงนี้ แต่ รฟม. และกระทรวงคมนาคมยุคนี้ที่อยู่ในห้วง “สุญญากาศ” ของอำนาจ และปราศจากการตรวจสอบของทุกองค์กรที่มีนั้น จะเอาแบบนี้เสียอย่างใครจะทำไม!
หมายเหตุ: อ่านประเด็นที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม:
เนตรทิพย์:Hot Issue
“ดร.สามารถ” ฟาด รฟม.อีกระลอก! อุ้มกลุ่มทุน ITD ผ่านคุณสมบัติได้อย่างไร? ทั้งที่กรรมการบริษัทต้องโทษจำคุกคดีเสือดำ ขัดประกาศคณะกรรมการพีพีพีชัดเจน!
http://www.natethip.com/news.php?id=5756