“นายกฯ ป้อม” จ่อเรียกแขกให้งานเข้า หลังใช้อำนาจนายกฯ ชงกฤษฎีกาฯ ช่วยตีความอำนาจ กสทช. ชี้ขาดดีลควบรวมทรู-ดีแทค วงในหวั่นพากัน “ตกพุ่มซวย” ขัด รธน.-ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ จับตากฤษฎีกาชุด “มีชัย” นั่งหัวโต๊ะหวั่นตีความเข้ารกเข้าพงซ้ำรอยปมนายกฯ 8 ปี จ่อเรียกแขกให้งานเข้า กลายเป็น “ทุกขลาภ” ของ “ว่าที่นายกฯ ตัวจริง” สำหรับ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือ “บิ๊กป้อม” ที่กำลังฟิตปั๋งปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีด้วย “ใจบันดาลแรง” หลังจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เซ่นปม “วาระนายกฯแห่งชาติ 8 ปี” ว่าขัดบทบัญญัติมาตรา 158(4) ของรัฐธรรมนูญฯปี 2560 หรือไม่?ด้วย “เผือกร้อน” กรณี “ดีล” ควบรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (ทรู) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเช็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “ดีแทค” ที่คาราคาซังมากว่า 9 เดือน นับจากทั้งสองบริษัทเซ็น MOU ระหว่างกันไปเมื่อปลายปีก่อนจนป่านนี้ก็ยัง “ปิดดีลไม่ลง” ด้วยเหตุที่ “คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ” หรือ กสทช. ที่แม้จะ “พลิกตำรา” พิจารณาดีลควบรวมธุรกิจทุกรูปแบบ ตั้งอนุกรรมการไม่รู้กี่ชุดต่อกี่ชุด ว่าจ้างที่ปรึกษาหมดไปไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ สุดท้ายกลับได้แต่ “ซื้อเวลา-ไม่กล้าชี้ขาด” กรณีดังกล่าว เพราะยังควานหาอำนาจตัวเองไม่เจอ!!! ล่าสุด กสทช. ได้สั่งให้สำนักงาน กสทช. ทำหนังสือที่ สทช 2402/38842 ลงวันที่ 25 ส.ค.65 เพื่อขอให้นายกฯ พิจารณาสั่งการให้คณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นในประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ต่อดีลควบรวมธุรกิจดังกล่าว แม้ว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาจะเคยมีหนังสือปฏิเสธการให้ความเห็นในกรณีดังกล่าวมาแล้ว เพราะถือเป็นอำนาจของ กสทช.ตามบทบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ทั้งยังเป็นกรณีที่กฤษฎีกาไม่อาจก้าวล่วงได้เนื่องจากประเด็นที่หารือ ยังเป็นคดีความอยู่ในชั้นศาล หลายฝ่ายเชื่อว่า นายกฯ ป้อม คงจะไม่ “ตกหลุมพราง” เพราะอาจเป็นการ “ก้าวล่วง” ใช้อำนาจฝ่ายบริหารแทรกแซงการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญจนกลายเป็น “ทุกขลาภ” ที่ทำให้ “นายกฯ ป้อม” อาจมีชะตากรรมไม่ต่างจาก “นายกฯลุงตู่” เอาได้ แต่ที่ไหนได้วันวาน พล.อ.ประวิตร ในฐานะรักษาการแทนนายกฯ กลับสั่งการให้ สำนักงานเลธิการนายกฯ ทำหนังสือที่ นร 0403 (กน)/12008 ลงวันที่ 5 ก.ย. 65 แจ้งมายังสำนักงาน กสทช. ว่า พล.อ.ประวิตร ได้มีบัญชา “เห็นชอบ” ตามที่สำนักงาน กสทช. ร้องขอ และได้แจ้งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับทราบแล้ว ทำเอาแวดวงสื่อสารโทรคมนาคมได้แต่ “อึ้งกิมกี่” ไม่นึกว่า รักษาการนายกฯ จะลากสังขารเข้าไปแบกรับเผือกร้อน และกล้าใช้อำนาจฝ่ายบริหารล้วงลูกการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญได้ถึงเพียงนี้ แต่ที่ทำเอาแวดวงโทรคมนาคม “อึ้งกิมกี่” หนักเข้าไปอีก เมื่อสืบสาวราวเรื่องไปถึงคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1 ที่นัยว่า เคยมีหนังสือลงวันที่ 27 ก.ค. 65 ตอบปฏิเสธไม่อาจรับข้อหารือของสำนักงาน กสทช. เอาไว้พิจารณาได้ เนื่องจากประเด็นที่ขอหารืออยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ปี 2553 อยู่แล้วนั้น ล่าสุด กลับปรากฏว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1 ได้นัดประชุมเรื่องดังกล่าว ในวันที่ 13 ก.ย. 65 นี้ โดยขอให้สำนักงาน กสทช. ส่งผู้แทนเข้าร่วมชี้แจงต่อที่ประชุมด้วย ซึ่งสำนักงาน กสทช. ได้ส่ง นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช. รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. พร้อมนายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ กสทช. เข้าร่วมชี้แจง ด้วยความคาดหวังว่าคงจะผ่าทางตันปัญหากลัดหนองของ กสทช. ชุดนี้ไปได้ และเมื่อพลิกไปดูรายชื่อคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1 ที่ว่านี้ ทุกฝ่ายต้อง “อึ้งกิมกี่” กันอีกครั้งเมื่อพบว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาชุดนี้ มีประธานที่ชื่อ “นายมีชัย ฤชุพันธ์” ที่กำลัง “เสียรังวัด” แบบหมดรูปจากปม “วาระนายกฯ แห่งชาติ” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่นายมีชัย ในฐานะอดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐฐธรรมนูญ (กรธ.) ทำจดหมายยืนยัน นั่งยันไปยังศาลรัฐธรรมนูญว่า ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย.2560 ที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ส่วนมติ กรธ. ครั้งที่ 500 วันที่ 7 ก.ย. 61 ที่เคยมีการหารือประเด็นการนับอายุการดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อเนื่องที่มีการเผยแพร่ในโลกโซเชียลกระหึ่มเมืองนั้น นายมีชัยอ้างว่า เป็นการจดบันทึกถ้อยคำที่ไม่ครบถ้วน และเข้าใจผิดไปเองของฝ่ายเลขา ทาง กรธ. ยังไม่เคยมีมติหรือให้การรับรองใดๆ แต่ถ้อยแถลงของนายมีชัย ดันมา “โป๊ะแตก!” เพราะมติ กรธ. ครั้งนั้น ได้รับการรับรองแล้วโดยไม่มีการแก้ไขถ้อยความใดๆ ในการประชุม กรธ. ครั้งที่ 501 เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 61 ก่อนสิ้นสุดการทำหน้าที่ กรธ. ซึ่งก็แปลว่า การนับอายุการดำรงตำแหน่งของนายกฯ ลุงตู่นั้น ต้องนับต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 57 ไม่ต้องไปตีความออกน้ำออกทะเลให้เมื่อยตุ้ม ผลพวงจากการรับหน้าเสื่อแก้ต่างให้ “นายกฯ ลุงตู่” เพื่อหวังจะให้นั่งตำแหน่งนายกฯ ให้รากงอกกันไปข้าง ก็ทำเอา “นายมีชัย” ถูกวิพากษ์วิจารณ์จนแทบจะเสียผู้เสียคนไปแล้ว เมื่อจู่ ๆ คณะกรรมการกฤษฎีกาชุดนี้กลับลำเรียกประชุมคณะกรรมการขึ้นมา แถมยังเชื้อเชิญผู้แทน กสทช. ให้เข้าไปชี้แจงรายละเอียดต่อที่ประชุมด้วยอีก ทุกฝ่ายจึงได้แต่ส่ายหน้า ด้วยเกรงว่าอาจจะมีการตีความอำนาจ กสทช. ออกน้ำออกทะเล ที่อาจทำให้นายมีชัยและคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดนี้ต้อง ”มัวหมอง” ลงไปอีก!!!หากทุกฝ่ายจะย้อนกลับไปพิจารณาอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่กำหนดเอาไว้ตามระเบียบข้อ 3 ปี 2522 นั้น กำหนดให้คณะกรรมการหฤษฎีกามีหน้าที่ให้ความเห็นทางกฎหมายแก่หน่วยงานรัฐ กระทรวง ทบวง กรม รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองท้องถิ่น หรือตามคำสั่งการของนายกฯและมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) มอบหมายเท่านั้น ทุกฝ่ายจึงได้แต่ตั้งข้อกังขา ไม่เข้าใจว่า เหตุใด กสทช. ถึงยังคง “ดั้นด้น” จะให้นายกฯ หรือนายกฯ รักษาการ (พลเอกประวิตร) ใช้อำนาจนายกฯ สั่งการให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาให้ความเห็นถึงอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ต่อการพิจารณาดีลควบรวมนี้อยู่อีก ทั้งที่ กสทช. และสำนักงาน กสทช. ไม่ใช่หน่วยงานรัฐ แต่เป็นองค์กรอิสระที่จะตั้งขึ้นโดย พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ปี 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติมปี 2562 และตามบทบัญญัติมาตรา 60 ของรัฐธรรมนูญฯ ปี 2560 อีกทั้งในส่วนของ กสทช. เอง ยังมีการตั้งอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายที่มี ศ.ดร.บวรศักด์ อุวรรณโณ เป็นประธาน และกอปรด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายในระดับบรมครูอยู่เต็มลำเรืออยู่แล้ว จึงไม่มีเหตุผลที่ กสทช. จะไปร้องขอให้นายกฯ ที่เป็นฝ่ายบริหารเข้ามาแทรกแซงกระบวนการทำงานใด ๆ ที่อาจหมิ่นเหม่ต่อการดำเนินการที่ขัดกฎหมายเอาได้ ยิ่งไปกว่านั้น หากทุกฝ่ายจะได้ย้อนกลับไปพิจารณา เมื่อครั้งที่ศาลปกครองมีคำสั่ง ลงวันที่ 16 มิ.ย. 65 ให้ยกคำร้องการขอทุเลาคำสั่งชั่วคราวของ นายณภัทร วินิจฉัยกุล อดีตกรรมการติดตามการปฏิบัติหน้าที่ หรือ “ซูเปอร์บอร์ด กสทช.” ที่ขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับหรือหยุดใช้ประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ลงวันที่ 4 ธ.ค. 60 เอาไว้จนกว่าจะมีคำพิพากษา แต่ศาลปกครองกลับมีคำสั่งให้ “ยกคำร้อง” ไป ด้วยเหตุผลที่ว่า “หากผู้ถูกฟ้องคดี (กสทช.) พิจารณาเห็นว่าการรวมธุรกิจดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการโทรคมนาคม ผู้ถูกฟ้องคดี (กสทช.) ก็มีอำนาจสั่งห้ามการรวมธุรกิจได้…” ซึ่งเท่ากับว่าศาลปกครองกลางชี้ชัดว่า กสทช. มีอำนาจในการพิจารณากรณีควบรวมทรู-ดีแทค อยู่แล้วนั่นเองน่าแปลก! ในขณะที่หลายฝ่ายมองว่า กสทช. มี “อำนาจเต็ม” ในการพิจารณาอนุญาต/หรือไม่อนุญาตกรณีควบรวมธุรกิจ “ทรู-ดีแทค” แต่ในส่วน กสทช. กลับพร่ำบอกกับตัวเองว่า “ไม่มีอำนาจ” จนต้องวิ่งพล่านไปขอพึ่งพา “ที่ปรึกษากฎหมายรัฐบาล” อย่าง คณะกรรมการกฤษฎีกา ทั้งที่ทุกฝ่ายรู้กันอยู่เต็มอก ต่อให้คณะกรรมการกฤษฎีกามีคำวินิจฉัยออกมาอย่างไร ก็หาได้มีผลผูกพัน กสทช. ให้ต้องปฏิบัติตาม เพราะ กสทช. ไม่อยู่ในฐานะขององค์กรรัฐ แต่เป็น “องค์กรอิสระ” และการที่ กสทช. โหยหาคำวินิจฉัยจากคณะกรรมการกฤษฎีกาจะยิ่งเป็นการ “เรียกแขกให้งานเข้า” เพราะเท่ากับ “เปิดทาง” ให้ฝ่ายบริหารเข้ามาแทรกแซงกระบวนการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ อันเป็นการกระทำที่ “ขัดบทบัญญัติมาตรา 60 ของรัฐธรรมนูญฯ รวมทั้งยังอาจเข้าข่าย ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่” ตามกฎหมายจัดตั้ง กสทช. และกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงอีกด้วย ไม่ใช่แค่ กสทช. ที่อาจถูกร้องถึงการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และกระทำการขัดรัฐธรรมนูญเท่านั้น ตัว “นายกฯ ลุงป้อม” เอง ยังอาจ “ตกพุ่มซวย” จากการ(งับ) รับลูก กสทช. ที่ขอให้ใช้อำนาจนายกฯ สั่งการให้คณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลเข้ามา “ก้าวล่วง” แทรกแซงการทำงานขององค์กรอิสระอย่าง กสทช. ด้วยอีก เพราะนั่นไม่เพียงจะเข้าข่ายกระทำการขัดรัฐธรรมนูญ ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ยังเป็นการกระทำผิดประมวลจริยธรรมข้าราชการการเมืองเอาด้วยอีก เตือนกันเอาไว้ขนาดนี้แล้ว หากทั้ง กสทช. และนายกฯ ลุงป้อม ยังทำเป็นทองไม่รู้ร้อน และ “ไม่รู้ ไม่รู้” แล้ว ก็ให้จงระวัง “เก้าอี้รักษาการแทนนายกฯ” อาจกลายเป็น “ทุกขลาภ” ของ “นายกฯ ป้อม” เอาได้ทุกเมื่อ!