วงในเชื่อปิดดีลควบรวมธุรกิจ “ทรู-ดีแทค” ต้องหาวเรอรอเก้ออีก หลัง กสทช. นัดเคาะดีลครั้งประวัติศาสตร์วันนี้ แต่สุดท้ายยังต้องปูเสื่อรอความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกาอยู่ดี ด้าน ส.ส.ก้าวไกล ขู่ฟ้อง กสทช. กราวรูดเหตุละเว้นปฏิบัติหน้าที่
แม้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะบรรจุวาระการพิจารณากรณีควบรวมธุรกิจ ระหว่างบริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ “ดีแทค” ให้ที่ประชุม กสทช. ในวันที่ 14 ก.ย.นี้ หลังจากสำนักงาน กสทช. ได้นำเสนอการบ้านจำนวน 6 ข้อ ที่ กสทช. สั่งให้ไปดำเนินการศึกษาวิเคราะห์เพิ่มเติม พร้อมรายงานสรุปอื่นๆ เสนอต่อที่ประชุมไปแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมทั้งกรณีที่สำนักงาน กสทช. ได้เข้าชี้แจงความจำเป็นที่ กสทช. ต้องขอความเห็นในปัญหาข้อกฎหมายจากคณะกรรมการกฤษฎีกาในประเด็นเกี่ยวกับอำนาจในการพิจารณาดีลควบรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทคล่าสุดด้วย
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคม แสดงความเห็นเชื่อว่า ที่ประชุมบอร์ด กสทช. น่าจะยังไม่สามารถพิจารณาหรือลงมติกรณีดีลควบรวมในครั้งนี้ได้ เนื่องจากจำเป็นต้องรอหนังสือตอบกลับจากคณะกรรมการกฤษฎีกา กรณีที่สำนักงาน กสทช. ได้ขออนุเคราะห์ความเห็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ต่อการพิจารณาดีลควบรวมธุรกิจครั้งประวัติศาสตร์ ไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อนหน้านี้ ซึ่งคาดว่ากฤษฎีกาคงจะมีหนังสือตอบกลับมาภายในเดือนนี้
"แม้นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. จะยืนยันว่า ได้เช้าชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นที่ กสทช. และสำนักงานฯ ต้องขอคามเห็นประเด็นข้อกฎหมายจากคณะกรรมการกฤษฎีกาไปแล้ว แต่เชื่อแน่ว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาคงใช้เวลาพิจารณากรณีดังกล่าวพอสมควร เพราะกรณีนี้ถือเป็นการก้าวล่วงอำนาจของที่ปรึกษากฎหมายของรัฐต่อองค์กรอิสระที่หมิ่นเหม่ต่อปัญหาข้อกฎหมาย จำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ จึงเชื่อว่าที่ประชุม กสทช. คงจะรอหนังสือตอบกลับอย่างเป็นทางการแล้วจึงจะพิจารณาเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง"
กสทช. แจงเหตุขอพึ่งพิงกฤษฎีกา
ก่อนหน้านี้ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. ออกมาระบุว่า กสทช. มีความจำเป็นที่ต้องหารือต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาในประเด็นข้อกฎหมายที่มีความสำคัญและส่งผลโดยตรงต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. และสำนักงาน กสทช. เกี่ยวกับการกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคม เพื่อก่อให้เกิดการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม ส่งเสริมและสนับสนุนการแข่งขันและการพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคมอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ เนื่องจากความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือในการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐ
ประกอบกับการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรูฯ และดีแทค เป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานด้านการโทรคมนาคมของประเทศ และการรวมธุรกิจดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ผู้บริโภค รวมไปถึงธุรกิจอื่น ๆ อีกหลายภาคส่วน เพื่อให้การดำเนินการทุกขั้นตอนเป็นไปโดยรอบคอบและถูกต้องตามกฎหมาย สอดรับกับระยะเวลาเร่งรัดที่ กสทช. จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาอันสมควร จึงจำเป็นต้องขอรับความเห๋นจากคณะกรรมการกฤษฎีกา
กก. ขู่ดำเนินคดี ม.157 กสทช.
ขณะเดียวกัน น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล และประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ได้กล่าวถึงกระแสข่าวที่ว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1 ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานได้มีคำวินิจฉัยออกมาแล้วว่า กสทช. ไม่มีอำนาจพิจารณาอนุมัติ-ไม่อนุมัติกรณีดีลควบรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทคนั้น ส่วนตัวถือได้ว่าเกินความคาดหมาย
แต่การที่ กสทช. พยายามหาหลังพิงจากการตีความของกฤษฎีกา เชื่อว่า ไม่เพียงพอที่จะหลุดรอดการใช้อำนาจของตัวเองไปได้ จึงอยากให้ กสทช. คิดใหม่ เพราะความเห็นของกฤษฎีกาไม่มีผลผูกพันต่อองค์กรอิสระ กสทช. ไม่สามารถเป็นที่พิงหลังให้กับ กสทช. ได้. ขณะเดียวกันเรื่องที่มีการฟ้องร้องในชั้นศาลปกครองก็เป็นเพียงความเห็นเบื้องต้น ยังไม่เป็นที่สิ้นสุด การที่ กสทช. อาจใช้อำนาจของตัวเองอนุมัติอนุญาตการควบรวมครั้งนี้ก็ทำได้ แต่การถอยร่นไปจนถึงว่า ตัวเองไม่มีอำนาจหรือพยายามที่จะตัดอำนาจให้พ้นตัว หากมองอีกมุมก็เป็นคนไม่หวงอำนาจ หรือไม่ใช้อำนาจของตัวเองอย่างเต็มความสามารถเพื่อทำหน้าที่ตามพรบ.กสทช.และตามรัฐธรรมนูญเพื่อปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชน
ส่วนกรณีที่ว่า กสทช. จะเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่นั้น พรรคก็อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าขัดต่อมาตรา 157 หรือไม่ แต่เนื่องจากยังมีกระบวนการเตะถ่วงยื้อเวลาไปเรื่อย ทำให้พรรคยังไม่สามารถยื่นฟ้องความผิดฐานขัดมาตรา 157 ได้ แต่เมื่อไหร่ที่รับคำวินิจฉัยการตีความทางกฎหมายของกฤษฎีกาก็จะเริ่มกระบวนการยื่นฟ้องทันที ส่วนการพยายามยืมมือ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกรัฐมนตรี ให้ออกกคำสั่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเข้ามาพิจารณาเรื่องนี้ ขึ้นอยู่กับองค์กรที่ตีความ แต่เชื่อว่ากฤษฎีกาที่ตีความ ทั้งๆที่รู้อยู่ว่าไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายก็จะรอด แต่คนที่คิดว่าจะไม่รอดก็น่าจะเป็น กสทช. เอง
เครือข่ายผู้บริโภคตั้งแท่นรอเช็คบิล!
ขณะที่ น.ส.กชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า กสทช. มีอำนาจล้นมือแต่ไม่กล้าใช้ แต่กลับส่งเรื่องให้กฤษฎีกาตีความว่า กสทช. มีอำนาจหรือไม่ วิธีการแบบนี้ ทำให้เข้าใจได้ว่า “จ้องลงมติถือหางเอกชนหรือไม่” จึงขอให้ กสทช. กล้าใช้อำนาจของตัวเอง เพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภค เพราะ รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 60 ระบุไว้ชัดเจน “คลื่นความถี่เป็น สมบัติของชาติ ... เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน” โดยไม่ว่าการใช้ประโยชน์แบบใด ก็ “ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน โดย กสทช. มีหน้าที่ป้องกันมิให้มีการแสวงหาผลประโยชน์จากผู้บริโภค โดยไม่เป็นธรรม หรือ สร้างภาระแก่ผู้บริโภค เกินความจำเป็น”
นอกจากนี้ พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 มาตรา 27 (11) “กสทช. สามารถกำหนดมาตรการ เพื่อมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาด หรือ ทำลายการแข่งขันทางการค้า” ทั้งนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ส่งหนังสือถึง สำนักงานแข่งขันทางการค้า หรือ กขค. เรื่องการขอให้ตรวจสอบการควบรวมกิจการธุรกิจโทรคมนาคม โดยอ้างถึง หนังสือมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ มพบ.362/2564 เรื่อง ขอให้ดำเนินการตรวจสอบการควบรวมค่ายมือถือ DTAC และ TRUE ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 ตามหนังสือที่อ้างถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ขอให้ดำเนินการตรวจสอบการควบรวมกิจการ ระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)
โดย สำนักงาน กขค. ได้แจ้งผลการดำเนินการกลับมายังมูลนิธิฯ ดังนี้ว่า สำนักงาน กขค. ได้ตรวจสอบพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 และประกาศที่เกี่ยวข้อง พบว่า กรณีการรวมธุรกิจของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม การกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นผู้กำกับดูแลภายใต้กฎหมายเฉพาะคือ พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 พระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2560 และประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณากำหนดผู้มีอำนาจเหนือตลาดในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2557 ดังนั้น กรณีการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมดังกล่าว ไม่อยู่ในการกำกับดูแลของ กขค. แต่อยู่ในการกำกับดูแลของ กสทช. ตามที่กฎหมายกำหนด