สภาองค์กรของผู้บริโภค ร่วมกับ 16 องค์กร อาทิ กลุ่มผู้บริโภคค้่นการควบรวมทรู ดีแทค กลุ่มพลเมืองเพื่อเสรีภาพการสื่อสาร เครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ ออกแถลงการณ์ร่วม “ย้ายค่าย” ค้านควบรวม พร้อมจัดการ กสทช. หากทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายแพง กลุ่มผู้บริโภคค้านการควบรวมทรู-ดีแทค ประกาศ “พร้อมย้ายค่ายมือถือ” ใช้ “อำนาจไม่ซื้อ” แสดงพลังผู้บริโภคคัดค้านการดำเนินการควบรวมสองค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ ค่ายทรู-ดีแทค ที่จะต้อนผู้บริโภคเข้าคอกเดียวกัน เพื่อนำไปสู่การผูกขาด พร้อมจะแสดงให้ผู้ประกอบการเห็นว่า ผู้บริโภคไม่ใช่ของตายที่จะปฏิบัติต่อผู้บริโภคเหมือนสิ่งของไว้ แลกเปลี่ยน หรือต่อรองทางการตลาดไม่ได้ และคาดโทษคณะกรรมการ กสทช. หากไม่ปฎิบัติหน้าที่ในฐานะตัวแทนประชาชน ที่ปกป้องผลประโยชน์สาธารณะเป็นหลัก เป็นเหตุให้ผู้บริโภคต้องมีภาระจ่ายค่าบริการมือถือและอินเทอร์เน็ตแพงขึ้น ก็จะดำเนินการต่อ กสทช. ให้ถึงที่สุดที่ผ่านมา แม้มีการโฆษณา ออกข่าวชวนเชื่อว่าการควบรวมกิจการระหว่างสองค่ายมือถือจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค แต่ในความเป็นจริงเมื่อเกิดการควบรวมแล้วก็จะนำไปสู่การผูกขาดของสองค่ายใหญ่ คือ บริษัทใหม่ของทรูและดีแทค กับ บริษัท เอไอเอส ที่จะควบคุมการดำเนินการตลาดมือถือแบบเบ็ดเสร็จ จากข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้จากนักวิชาการได้แสดงว่าผู้บริโภคต้องมีค่าใช้จ่ายมากกว่าเดิม ระหว่าง 2.03% ถึง 244.5% เนื่องจากในภาวะตลาดผูกขาด สองบริษัทนี้จะลดการแข่งขันลง และเพิ่มการ “ฮั้ว” ในธุรกิจกินรวบผู้บริโภค โดยที่สองบริษัทนี้รวมกันจะมีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 97% ที่จะทำให้ผู้บริโภคไม่มีทางเลือก หมดอำนาจการต่อรอง ไม่มีอะไรที่รับประกันต่อผู้บริโภคได้ว่า หลังการควบรวม ที่เหลือคู่แข่งเพียงสองรายในตลาดแล้วจะไม่มีการขึ้นราคา เพราะแม้แต่การแถลงการประกาศการควบรวมของบริษัท ทรู-ดีแทค ก็ยังไม่มีการแสดงความจริงใจว่าค่าบริการจะไม่เพิ่มขึ้น โดยที่ตัวแทนของสองบริษัทใช้คำพูดว่า “เรื่องราคา กสทช. ดูแลอยู่แล้ว” ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคไม่อาจยอมรับได้ดังนั้น “ย้ายค่าย” คือคำตอบสุดท้ายของผู้บริโภคส่วนบทบาทของคณะกรรมการ กสทช. นั้น กลุ่มผู้บริโภคค้านการควบรวมรู้สึกผิดหวังในการทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนประชาชนของ กสทช. ไม่ดำรงในความเป็นอิสระที่มีหน้าที่ตามบทรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม และ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ที่ต้องยืนหยัดในการรักษาผลประโยชน์สาธารณะเป็นที่ตั้ง ด้วยการไม่ใช้อำนาจของตนเอง แต่ยกการพิจารณาตีความอำนาจของตนเองไปให้ศาลและคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งการแสดงออกเช่นนั้นเป็นความไม่รับผิดชอบต่อสังคม หรือประชาชนโดยรวมแม้ขณะปัจจุบันที่ได้มีการตีความอย่างชัดเจนแล้วว่า กสทช. มีอำนาจพิจารณา อนุมัติ หรือไม่อนุมัติการควบรวมครั้งนี้ในวันที่ 12 ตุลาคม 2565 ก็ยังมีทีท่าว่า กสทช. อาจจะอนุมัติการควบรวมที่นำไปสู่ตลาดผูกขาด ด้วยการออกมาตรการเยียวยา 14 ข้อ ก่อนการพิจารณาอนุมัติ ซึ่งในมาตรการดังกล่าวคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมและนักวิชาการชี้แล้วว่า เป็นมาตรการที่หละหลวม ลอยแพผู้บริโภค เมื่อเป็นเช่นนี้ กลุ่มผู้บริโภคค้านการควบรวมจะดำเนินการต่อ กสทช. ถึงที่สุดหาก กสทช. หักหลังประชาชนในฐานะตัวแทนตามกฏหมายจึงขอเชิญชวนประชาชนทุกคน ทุกค่ายมือถือร่วมกันส่งเสียงคัดค้านการควบรวม ให้ กสทช. พิจารณา “ไม่อนุญาต” ให้ควบรวมในการประชุมวันที่ 12 ตุลาคมที่จะถึงนี้ และชวนให้ผู้ที่อยู่ในค่าย ทรู และ ดีแทค “เท” สองค่ายนี้ ด้วยการย้ายค่ายเพื่อสร้างอำนาจการต่อรองของผู้บริโภคให้เห็นว่า ผู้บริโภคไม่ใช่จำนวนตัวเลขในมือค่ายมือถือ แต่เป็นผู้ที่มีสิทธิในการใช้อำนาจ “ซื้อ” หรือ “ไม่ซื้อ” ที่เปลี่ยนอำนาจการต่อรองกลับมาสู่ผู้บริโภค