บอร์ด กสทช. เผชิญแรงกดดันรอบด้านก่อนพิจารณาเคาะดีลการรวมธุรกิจ “ทรู-ดีแทค” ถกหนักกว่า 11 ชั่วโมง ก่อนไฟเขียวดีลควบรวมธุรกิจ พร้อมกำหนดมาตรการเฉพาะรองรับผลกระทบ สุดมึน ประธาน กสทช. ใช้สิทธิ์ลงคะแนนเบิ้ลลากดีลควบรวมออกจากประกาศ กสทช. ปี 49 ขณะ กสทช. เสียงข้างน้อยไม่เล่นด้วย ขอสงวนสิทธิ์ไม่ร่วมสังฆกรรม ขณะ “ธนาธร” เครือข่ายผู้บริโภค ผนึกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ตบเท้าค้านอย่างหนัก ลั่นไฟเขียวเมื่อไหร่ เจอกันที่ศาลสถานเดียว
ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (20 ต.ค. 65) ถึงการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นัดพิเศษเพื่อหารือเรื่องการควบรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็สคอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค หลังจากที่เรื่องดังกล่าวยืดเยื้อมากว่า 10 เดือน นับตั้งแต่ผู้บริหารของทั้งสองบริษัทได้เปิดแถลงความร่วมมือในการร่วมจัดตั้งบริษัทเทคคอมปานี เมื่อปลายเดือน พ.ย.64 โดยคาดว่า การประชุมในวันนี้จะมีข้อยุติอย่างหนึ่งอย่างใดออกมาอย่างแน่นอน
โดยก่อนการประชุมวันนี้ ปรากฏว่า มีตัวแทนสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ตัวแทนสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบริษัทเอ็นที (NT) พร้อมเครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายภาคประชาชน ต่างนัดหมายกันไปร่วมแสดงพลังและยื่นหนังสือต่อ กสทช. คัดค้านการควบรวมกิจการโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคม ระหว่างทรูกับดีแทคในครั้งนี้กันพร้อมหน้า โดยอ้างว่า จะส่งผลก่อให้เกิดการผูกขาด ส่งผลให้ประชาชนเข้าถึงบริการในราคาที่แพงขึ้น ซึ่งมีงานวิจัยได้บ่งชี้ประสบการณ์จากหลายประเทศ
นอกจากนี้ ยังมี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า พร้อม น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล เดินทางมาร่วมสังเกตการณ์ด้วย โดยนายธนาธร กล่าวว่า การรวมตัวของภาคประชาชน และกลุ่มภาคประชาสังคมหลายส่วนในวันนี้ เพื่อรอฟังผลการตัดสินการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทคของ กสทช. ซึ่งยืนยันที่ชัดเจน คือ ไม่เห็นด้วยกับการควบรวมดังกล่าว เพราะอาจทำให้เกิดผู้เล่นในตลาดโทรคมนาคมของประเทศไทย จาก 3 ราย เหลือเพียง 2 ราย ซึ่งอาจทำให้ค่าบริการแพงขึ้น แต่คุณภาพต่ำลง การแข่งขันลดลง ไม่เป็นผลดีต่อประชาชนผู้บริโภค และการพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศไทย
โดยวันนี้ คณะก้าวหน้าและพรรคก้าวไกล พร้อมยืนเคียงข้างประชาชน เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน และส่งเสียงดังๆ ว่า ไม่ต้องการเห็นการผูกขาดในธุรกิจโทรคมนาคม แต่อยากเห็นการแข่งขันที่จะนำไปสู่การให้บริการที่มีคุณภาพมากขึ้น การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ และราคาที่ถูกลงสำหรับการเข้าถึงทั้งโทรศัพท์และเน็ตบ้าน
ขณะที่มีรายงานสะพัดในช่วงเที่ยงวันนี้ว่า ที่ประชุม กสทช. มีมติ 3 ต่อ 2 เห็นชอบการควบรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทคแล้ว แต่ยังมีปัญหาในเรื่องมติที่จะออกมาว่า จะใช้คำว่า “เห็นชอบ” หรือ “รับทราบ” การควบรวมธุรกิจเท่านั้น แต่หลังการตรวจสอบอย่างละเอียด พบว่า เป็นเพียงการเห็นชอบในอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ต่อการพิจารณาการควบรวมธุรกิจที่จะมีขึ้น โดยที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่เห็นว่า กสทช. มีอำนาจตามกฎหมายตาม พ.ร.บ.กสทช. และกฏหมายที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาอนุมัติ หรือไม่อนุมัติ ดีลควบรวมธุรกิจในครั้งนี้ ก่อนที่ในช่วงบ่ายจะเป็นการประชุมเพื่อลงมติ
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมในวันนี้ใข้เวลากว่า 9 ชั่วโมง จนถึงเวลา 18.30 น. ก็ยังไม่มีมติใด ๆ ออกมา ขณะที่กระแสข่าวสะพัดว่า บอร์ด กสทช. ได้เห็นชอบดีลควบรวมธุรกิจไปแล้ว ยังคงมีมาอย่างต่อเนื่อง และอยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการเฉพาะจำนวน 14 ข้อ ที่จะใช้บังคับให้ผู้ขอควบรวมจะต้องดำเนินการทั้งก่อนและหลังการควบรวม แต่ก็ยังไม่เป็นที่ยืนยัน
ประธาน กสทช. ออกเสียง "เบิ้ล" เห็นชอบ
จนกระทั่งเวลา 20.30 น. หลังจากที่ กสทช. ใช้เวลาถกเครียดมาราธอนกว่า 11 ชั่วโมง ในที่สุดมีรายงานว่า ที่ประชุม กสทช. ได้ไฟเขียวอนุมัติดีลควบรวมธุรกิจระหว่าง "ทรูและดีแทค" แล้ว โดย กสทช. เสียงข้างน้อยได้ขอสงวนความเห็น ไม่ขอรับทราบและไม่ขอลงมติต่อดีลควบรวมในครั้งนี้ เพราะเป็นเรื่องที่ไม่สามารถอนุญาตให้ได้
ก่อนที่สำนักงาน กสทช. จะเผยแพร่รายละเอียดของการประชุมในครั้งนี้ว่า ในการพิจารณาว่า การรวมธุรกิจกรณีนี้เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกับตามข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่องมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาด หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 โดยนัยของผลตามข้อ 9 ของประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม และให้พิจารณาดำเนินการตามประกาศฉบับปี 2561 หรือไม่นั้น
ผลของการลงมติต่อประเด็นดังกล่าว ปรากฏว่า คะแนนที่ออกมา คือ 2-2 โดยประธาน กสทช. และ กสทช. ต่อพงศ์ เห็นว่า การรวมธุรกิจในกรณีนี้ ไม่เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันตามข้อ 8 ของประกาศ กทช.ฯ ปี 2549 จึงเห็นควรให้พิจารณาดำเนินการตามประกาศฉบับปี 2561 โดย “รับทราบ” การรวมธุรกิจ และเมื่อ กสทช. ได้รับรายงานการรวมธุรกิจแล้ว กสทช. มีอำนาจกำหนดเงื่อนไข/มาตรการเฉพาะตามข้อ 12 ของประกาศฉบับปี 2561
แต่ รศ.ดร.ศุภัชฯ และศาสตราจารย์ ดร. พิรงรอง เห็นว่า กรณีนี้เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน และให้พิจารณาดำเนินการพิจารณาตามข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาด หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม ในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 โดย กสทช. อาจ “สั่งห้ามการถือครองกิจการ” หรือกำหนดมาตรการเฉพาะตามหมวด 4 ของประกาศดังกล่าว
ขณะที่ พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ฯ ขอ งดออกเสียง เนื่องจากยังมีประเด็นปัญหาการตีความในแง่กฎหมาย จึงยังไม่สามารถพิจารณาได้ โดยจะขอทำบันทึกในภายหลัง ทำให้คะแนนเสียงที่ออกมาเท่ากัน 2-2 แต่ประธาน กสทช. ได้อาศัยอำนาจตามข้อ 41 ของระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุม กสทช. พ.ศ. 2555 ออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด ทำให้มติที่ออกมาเป็น 3 ต่อ 2 ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการลงมติที่ขัดต่อระเบียบการประชุม เพราะกรณีนี้เป็นการประชุมวาระพิเศษ ที่ไม่ได้เป็นการประชุมวาระปกติ ประธาน กสทช. จึงไม่มีสิทธิ์ที่จะออกเสียงซ้ำ เพื่อชี้ขาด และเห็นว่ามติดังกล่าวนั้น ถือว่า ตกไปแล้วตั้งแต่ต้น ไม่สามารถจะดันทุรังพิจารณาต่อไป
กลัวงานเข้าเพิ่มมาตรการเฉพาะเป็นบัญชีหางว่าว
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาข้อกังวล (Point of concern) จำนวน 5 ข้อ และเห็นชอบเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะดังนี้ 2.1 ข้อกังวลเรื่องอัตราค่าบริการและสัญญาการให้บริการ มีเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ ดังนี้
1) การกำหนดเพดานราคาของอัตราค่าบริการเฉลี่ย
ก. อัตราค่าบริการเฉลี่ยลดลงร้อยละ 12 โดยใช้วิธีการเฉลี่ยราคาใหม่ ด้วยการถ่วงน้ำหนักตามจำนวนผู้ใช้บริการในแต่ละรายการส่งเสริมการขาย (WEIGHTED AVERAGE) ภายใน 90 วันหลังจากมีการควบรวม)
ข. ให้มีทางเลือกของราคาที่แยกรายบริการเพื่อให้เป็นทางเลือก
ค. ให้นำส่งข้อมูลต้นทุนและข้อมูลที่จำเป็นโดยให้มีหน่วยงานตรวจสอบ
ง. ให้ผู้แจ้งการรวมธุรกิจประกาศให้ผู้ใช้บริการรับทราบ เพื่อมีการตรวจสอบและมีบทลงโทษกรณีทำไม่ได้ เช่น ปรับเป็นจำนวนร้อยละของรายได้ หรือปรับเป็นขั้นบันได และเพิกถอนใบอนุญาต
2) การกำหนดราคาค่าบริการ โดยใช้ราคาเฉลี่ยทางเศรษฐศาสตร์ (Average Cost Pricing)
ก. ให้นำส่งข้อมูลตามประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำรายงานบัญชีแยกประเภทในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2564 ให้ครบถ้วน โดยให้แยกรายละเอียดเป็นรายเดือน และนำส่งสำนักงาน กสทช. ทุก 3 เดือน หรือเมื่อ กสทช. ร้องขอ
ข. จัดให้มีที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญด้านการสอบทาน (Verify) ข้อมูลโครงสร้างต้นทุน อัตราค่าบริการ หรือข้อมูลด้านอัตราต่างๆ ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในต่างประเทศมาไม่น้อยกว่า 5 ปี โดยให้ กสทช. เป็นผู้กำหนด และให้ผู้ยื่นคำร้องรวมธุรกิจเป็นผู้รับผิดชอบภาระค่าใช้จ่ายทั้งปวงที่เกิดขึ้น
ค. จัดให้มีที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญเช่นเดียวกับข้อ (ข) เพื่อทำหน้าที่สอบทาน (Verify) ความถูกต้องของข้อมูลตามข้อ (ก) ตรวจสอบโครงสร้างต้นทุน โครงสร้างอัตราค่าบริการ และนำมาคำนวณหาต้นทุนเฉลี่ย (AC) และต้นทุนส่วนเพิ่ม (MC) ที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบันของแต่ละรายบริการ เช่น บริการเสียง บริการข้อมูล บริการส่งข้อความ เป็นต้น ปีละ 4 ครั้ง (รายไตรมาส) โดยต้องจัดให้มีที่ปรึกษาเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี หรือตลอดระยะเวลาอายุใบอนุญาตสิ้นสุดลงในกรณีที่อายุใบอนุญาตน้อยกว่า 10 ปี โดยให้ กสทช. เป็นผู้กำหนด
ง. ต้องมีการกำหนดและแสดงอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ แยกตามรายบริการ (Unbundle) เช่น บริการเสียง บริการข้อมูล บริการส่งข้อความ เป็นต้น หรือการส่งเสริม การขายแบบแยกรายบริการ (Unbundle Package) เพื่อให้ผู้ใช้บริการปลายทางได้รับทราบก่อน ทั้งนี้ การกำหนดอัตราตามต้นทุนเฉลี่ยรายบริการ (Average Cost Pricing) ให้นำไปใช้กับกรณีค่าบริการส่วนเกินที่เกิดขึ้นจากการใช้บริการรายการส่งเสริมการขายแบบแยกรายบริการ (Unbundle Package) และการส่งเสริมการขายแบบรวมรายบริการ (Bundle Package) ด้วย
3) การคงทางเลือกของผู้บริโภค การกำหนดให้บริษัท TUC และ บริษัท DTN ยังคงแบรนด์การให้บริการแยกจากกัน เป็นระยะเวลา 3 ปี
4) สัญญาการให้บริการ บริษัท TUC และบริษัท DTN จะต้องคงไว้ซึ่งเงื่อนไขของสัญญาและข้อตกลงระหว่างบริษัทและผู้ใช้บริการ รวมถึงผลประโยชน์ที่ได้รับตามที่ได้มีการทำสัญญาหรือข้อตกลงไว้ตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญา เว้นแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของสัญญาที่เป็นคุณหรือเป็นประโยชน์และได้รับการยินยอมจากผู้ใช้บริการแล้ว
5) การประชาสัมพันธ์การให้บริการเพื่อความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการ ภายหลังการรวมธุรกิจ บริษัท TUC และบริษัท DTN จะต้องประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะ เพื่อให้ผู้ใช้บริการทราบถึงการคงไว้ซึ่งคุณภาพในการให้บริการและค่าบริการที่เป็นธรรม และจะต้องกำหนดแนวทางการปฏิบัติเพื่อรักษาคุณภาพของสินค้าและบริการหลังการรวมธุรกิจ โดยสำนักงาน กสทช. อาจกำหนดแนวทางและระยะเวลาการดำเนินการ รวมถึงเงื่อนไขในการปฏิบัติในเรื่องการประชาสัมพันธ์ เพื่อให้บริษัท TUC และบริษัท DTN ดำเนินการต่อไป
2.2 ข้อกังวล อุปสรรคการเข้าสู่ตลาด-ขาดประสิทธิภาพการแข่งขัน และการสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย มีเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ ดังนี้
1) เงื่อนไขบังคับก่อน (Ex Ante) ให้ผู้ยื่นคำร้องขอรวมธุรกิจจัดทำแผนการจัดให้มีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน (MVNO) โดยจะต้องมีรายละเอียด ดังนี้ จัดให้มีหน่วยธุรกิจเพื่อให้บริการโครงข่ายแก่ผู้ให้บริการ MVNO โดยมีการแยกระบบการบริหารจัดการ ระบบบัญชี ออกจากหน่วยธุรกิจหลักที่เกิดขึ้นจากการรวมธุรกิจในครั้งนี้, จัดให้มีระบบการให้บริการโครงข่ายที่พร้อมรองรับการเข้าใช้บริการโครงข่ายสำหรับผู้ให้บริการ MVNO ภายหลังจากมีการรวมธุรกิจโดยทันที
2) มาตรการเฉพาะภายหลังการรวมธุรกิจ (Ex Post) ผู้รับใบอนุญาตที่เกิดขึ้นจากการรวมธุรกิจตลอดจนบริษัทย่อยที่อยู่ภายใต้การควบคุม ต้องดำเนินการให้ผู้รับใบอนุญาต MVNO สามารถใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายกับผู้รับใบอนุญาตรายอื่นได้เช่นเดียวกับตนเอง , ผู้รับใบอนุญาต MVNO จะต้องได้รับสิทธิในการใช้บริการจากคลื่นความถี่ในทุกย่านของผู้รวมธุรกิจที่มีสิทธิในการใช้งานทั้งสิทธิทางตรงและสิทธิที่ได้รับช่วงมาภายใต้มาตรฐานเทคโนโลยีเดียวกัน , การเข้าใช้บริการโครงข่ายสำหรับผู้รับใบอนุญาต MVNO จะต้องได้รับการประกันสิทธิ ในการได้รับบริการภายใต้คุณภาพการให้บริการ (QoS) ตามมาตรฐานการให้บริการที่ กสทช. กำหนด
2.3 ข้อกังวลคุณภาพการให้บริการ มีเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ ดังนี้
1) บริษัท TUC และบริษัท DTN จะต้องคงคุณภาพในการให้บริการ ดังนี้
1.1) คุณภาพของสัญญาณในการให้บริการ บริษัท TUC และ DTN จะต้องคงคุณภาพในการให้บริการ จะต้องไม่ลดคงจำนวนระบบสื่อสัญญาณ (cell sites) ของทั้งสองบริษัทลงจากเดิม เพื่อรักษาคุณภาพและมาตรฐานของบริการที่ให้ประชาชนได้รับให้ไม่ต่ำไปกว่าเดิม และจะต้องรักษาคุณภาพและมาตรฐานของบริการตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานของคุณภาพการให้บริการโทรคมนาคม อย่างเคร่งครัด
1.2) คุณภาพในการให้บริการลูกค้า บริษัท TUC และบริษัท DTN จะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับจำนวนลูกค้าที่จะเพิ่มขึ้นจากการรวมธุรกิจเพื่อให้คุณภาพในการให้บริการต่อผู้ใช้บริการไม่ต่ำกว่าเดิม เช่น จำนวนเจ้าหน้าที่ที่เพียงพอเพื่อรองรับการให้บริการทั้งในส่วนของศูนย์บริการ และพนักงานรับสาย (Call center) รวมถึงขนาดพื้นที่ของศูนย์บริการลูกค้าที่สามารถรองรับการเข้ามาติดต่อของผู้ใช้บริการ
2) ความครอบคลุมของโครงข่าย บริษัท TUC และ/หรือบริษัท DTN จะต้องจัดให้มีโครงข่ายโทรคมนาคมเพื่อการประกอบกิจการด้วยเทคโนโลยี 5G ครอบคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 ของจำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศภายใน 3 ปี และร้อยละ 90 ของประชากรทั้งหมดของประเทศภายใน 5 ปีนับจากวันที่รวมธุรกิจ
2.4 ข้อกังวลการถือครองคลื่นความถี่/การใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน มีเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะนั้น ที่ประชุมเห็นว่า
1) การถือครองคลื่นความถี่ บริษัท TUC และบริษัท DTN จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับใช้งานคลื่นความถี่ในการประกอบกิจการโทรคมนาคม อย่างเคร่งครัด (การใช้คลื่นความถี่ตามมาตรา 41 วรรคสี่ มาตรา44/1 และมาตรา 44/3 แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม)
2) การใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน (Infrastructure Sharing) บริษัท TUC และบริษัท DTN จะต้องให้ผู้รับใบอนุญาตรายอื่นเช่าใช้โครงข่ายโทรคมนาคมของตนเองในการประกอบกิจการโทรคมนาคม และจะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้โครงข่ายโทรคมนาคม ของกสทช. อย่างเคร่งครัด
2.5 เศรษฐกิจของประเทศ นวัตกรรมและความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล (Digital divide) มี
1) ความครอบคลุมของโครงข่าย บริษัท TUC และ/หรือบริษัท DTN จะต้องจัดให้มีโครงข่ายโทรคมนาคมเพื่อการประกอบกิจการด้วยเทคโนโลยี 5G ครอบคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 ของจำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศภายใน 3 ปี และร้อยละ 90 ของประชากรทั้งหมดของประเทศภายใน 5 ปีนับจากวันที่รวมธุรกิจ
2) จัดให้มีรายการส่งเสริมการขายในราคาต่ำเป็นพิเศษสำหรับผู้มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาสในสังคม โดยให้มีการประชาสัมพันธ์ให้กับกลุ่มเป้าหมายได้รับทราบอย่างทั่วถึง
3) เสนอแผนการพัฒนานวัตกรรมที่เป็นรูปธรรมภายใน 60 วันหลังจากได้รับแจ้งเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ และเริ่มดำเนินการตามแผนภายใน 1 ปี
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ไม่มีเรื่องของการคืนคลื่นความถี่ที่ถือเกิน และ New MNO รวมทั้งไม่มีข้อห้าม TUC DTN ควบรวมกัน (ภายใน 3 ปี) แค่กำหนดให้แยก band แต่ไม่ห้ามควบรวม ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่า อาจมีการรวมคลื่นทั้งหมดเข้าด้วยกันได้
นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบกำหนดกลไกในการติดตามและประเมินผลการรวมธุรกิจ และมีการรายงานผลการประกอบธุรกิจ ภายใต้การดำเนินการตามกำหนดระยะเวลาและเงื่อนไขที่ได้รับจาก กสทช. ทุก 6 เดือน ในระยะเวลาอย่างน้อย 5 ปี
นอกจากนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. นำประเด็นไปหารือคณะอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของ กสทช. รวม 3 ประเด็น ได้แก่ เรื่องการเห็นชอบกลไกการขายหุ้นออกไปจนไม่มีอำนาจในการควบคุมเชิงนโยบาย (Divestiture) เรื่องการรวมธุรกิจของบริษัท TUC และบริษัท DTN ในอนาคต และเรื่องร้องเรียนคุณสมบัติของที่ปรึกษาอิสระ (บล.ฟินันซ่า) และเห็นชอบในหลักการในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อติดตามและประเมินผลการรวมธุรกิจตามประกาศปี 2561 ทั้งหมด