หลังจากผู้ว่าฯ กทม. ถูกลูบคม กรณีพยายามจะเสนอญัตติขอรับความเห็นจากสภา กทม. ในเรื่องการจัดเก็บอัตราค่าโดยสาร สายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 และการบริหารรถไฟฟ้าสายสีเขียวในอนาคต ที่นัยว่า ผู้ว่าฯ กทม. ตั้งแท่นจะไม่ต่อขยายสัญญาสัมปทานสายสีเขียวให้บีทีเอส (BTS) แน่ หลังสิ้นสุดสัญญาในปี 2572
แต่ถูกสภา กทม. สอนมวยไล่กลับไปศึกษาข้อกฎหมายให้ดีว่า การกำหนดค่าโดยสาร และการบริหารโครงการสายสีเขียวในอนาคตนั้น เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าฯกทม. และสภา กทม. หรือไม่ โดยเฉพาะคำสั่งของหัวหน้า คสช. ที่ 3/2562 ลงวันที่ 11 เม.ย. 2562 เพื่อที่ผู้ว่าฯ กทม. จะได้ไม่หลงทางอีก ก่อนที่สภา กทม. จะชิงถอนวาระดังกล่าวออกไป ทำเอาผู้ว่าฯ ที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพีแทบไปไม่เป็น!
พลิกคำสั่ง คสช. ค้ำคอ “สายสีเขียว”
ย้อนรอยไปพิจารณาคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2562 ลงวันที่ 11 เม.ย. 62 เรื่อง การดําเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โอนโครงข่ายส่วนต่อขยาย 2 สายทางสายสีเขียวที่ก่อสร้างแล้วเสร็จมาให้ กทม. บริหารจัดการเพื่อเชื่อมต่อให้เป็นโครงข่ายเดียวกัน
หัวหน้า คสช. ได้สั่งการให้ กทม. ดำเนินการจ้างผู้ประกอบการเอกชนติดตั้งระบบรถไฟฟ้า และบริหารจัดการเดินรถส่วนต่อขยายที่ 2 ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อแก้ปัญหาการจราจรและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยคำนึงถึงการให้ประชาชนได้ใช้บริการรถไฟฟ้าโดยเร็ว สะดวก และประหยัดค่าโดยสาร รวมทั้งเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการเดินรถเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้ากับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว และโครงการส่วนต่อขยายที่ 1
พร้อมให้กระทรวงมหาดไทยตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่ง มีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน และกรรมการที่ล้วนเป็นระดับผู้บริหารสูงสุดของแต่ละหน่วยงานร่วมเป็นกรรมการ โดยมีปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นกรรมการและเลขานุการ ทั้งนี้ เพื่อให้คณะกรรมการชุดดังกล่าว กำหนดหลักเกณฑ์แบ่งปันผลประโยชน์จากค่าโดยสาร รวมถึงหลักเกณฑ์อื่นเพื่อประโยชน์ในการรวมโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวโครงการส่วนต่อขยายที่ 1 และ ส่วนต่อขยายที่ 2 และเจรจากับผู้รับสัมปทาน โดยเมื่อได้ข้อยุติ ให้กรุงเทพมหานครเสนอร่างสัญญาร่วมลงทุนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อไป โดยให้ถือว่าเป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562
ทั้งนี้ รมต.มหาดไทย มีคำสั่งแต่งตั้ง คณะกรรมการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่มีปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 62 และได้ดำเนินการเจรจากับคู่สัญญาเอกชน คือ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC จนนำไปสู่การขยายสัญญาสัมปทานโครงการออกไปอีก 30 ปี จนถึงปี 2562 ก่อนนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจพิจารณาให้ความเห็นชอบไปเมื่อ 11 พ.ย. 62
แต่เมื่อกระทรวงมหาดไทยดำเนินการรวบรวมข้อสังเกตของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และร่างสัญญาที่สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาแล้วเสร็จ เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเวลาต่อมา ก็ถูกกระทวงคมนาคมลุกขึ้นมาฟ้อนเงี้ยวทำเรื่องทักท้วงการต่อขยายสัญญาสัมปทานบีทีเอส ด้วยข้ออ้างค่าโดยสารแพงกว่ารถไฟฟ้าใต้ดิน รฟม. และยังมีปัญหาเรื่องความครบถ้วนของการดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งข้อสังเกตอื่น ๆ ที่ผุดตามมาอีกเป็นดอกเห็ด ที่สุดก็ทำให้เส้นทางการต่อขยายสัญญาสัมปทาน “คาราคาซัง” มากระทั่งปัจจุบัน
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้กระทรวงมหาดไทย มีหนังสือลงวันที่ 13 มิ.ย. 65 ไปถึงผู้ว่า กทม. ขอทราบแนวทางการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาเสนอ ครม.ต่อไป เพราะก่อนหน้านี้ กทม. ได้มีหนังสือลงวันที่ 18 มี.ค. 65 ถึงกระทรวงมหาดไทยเพื่อขอความเห็นชอบการขยายสัญญาสัมปทานให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BTSC เป็นเวลา 30 ปีตั้งแต่ปี 2572-2602 โดยมีเงื่อนไข BTSC จะแบกรับภาระหนี้สินที่ กทม. มีอยู่กับบริษัทและ รฟม. พร้อมกับแบ่งรายได้ให้ กทม. ตลอดสัมปทานไม่น้อยกว่า 200,000 ล้านบาท โดย กทม. กำหนดเงื่อนไขให้ BTSC จัดเก็บค่าโดยสารสูงสุดได้ไม่เกิน 65 บาท
ปลดล็อคคำสั่ง คสช.
หากจะถามว่า สิ่งที่ผู้ว่าฯ กทม. ดำเนินการไปก่อนหน้าในความพยายามที่จะกระเตงสัญญาจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า สายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 รวมทั้งส่วนต่อขยายที่ 2 ที่ กทม. รับโอนมาจาก รฟม. เพื่อขอรับความเห็นจากสภา กทม. เพื่อกำหนดอัตราจัดเก็บค่าโดยสารเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามครรลองที่กำหนดไว้ในสัมปทานโครงการนี้หรือไม่
ผู้คว่ำหวอดในโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ตั้งข้อสังเกตว่า ตัวผู้ว่าฯ กทม. ควรกลับไปศึกษารายละเอียดคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2562 ให้ดีก่อน เพราะได้กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาหมักหมมของ กทม. เอาไว้อย่างครบถ้วนแล้ว โดยได้วางแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการครอบคลุมทั้งโครงข่ายเดิม และส่วนต่อขยายที่ 1-2 แล้ว
การที่ผู้ว่าฯ กทม. อ้างว่า การทำสัญญาจ้างเดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 ยังขาดความชัดเจน เพราะมีทั้งที่เสนอให้สภา กทม. ให้ความเห็นชอบ และที่ไม่มีการนำเสนอร่างสัญญาให้สภา กทม. เห็นชอบก่อนลงนามในสัญญา ทำให้เกิดปัญหาว่าเป็นสัญญาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น ชี้ให้เห็นว่ายังไม่ได้ศึกษาคำสั่งหัวหน้า คสช. อย่างละเอียดถี่ถ้วน เพราะในคำสั่งหัวหน้า คสช. ดังกล่าว กำหนดขอบเขตการดำเนินโครงการนี้ครอบคลุมไปทั้งสายสีเขียวเดิม และส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 เอาไว้แล้ว นั่นแปลว่าหัวหน้า คสช. ได้ให้การ “รับรอง” หรือ “ให้สัตยาบัน” ความชอบด้วยกฎหมายไปแล้ว ไม่จำเป็นที่ กทม. จะกลับไปฟื้นฝอยหาตะเข็บอะไรอีก
และตราบใดที่คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2562 ยังคงมีอยู่ ไม่ได้ถูกยกเลิกไป ผู้ว่าฯ กทม. และฝ่ายบริหาร กทม. ไม่สามารถจะตีกรรเชียง เลี่ยงบาลี ไปดำเนินการแก้ไขสัญญา หรือดำเนินการที่แตกต่างออกไปได้ แม้แต่แนวความคิดที่จะไม่ต่อขยายสัมปทานให้บริษัทเอกชนรายเดิมหลังสัญญาสัมปทานเดิมสิ้นสุดในปี 2572 โดยอาจเปิดประมูลหาเอกชนรายใหม่เข้ามาดำเนินการทั้งระบบ หรือแสวงหารูปแบบการดำเนินการอื่น ๆ แม้แต่การยกโครงการนี้กลับไปให้รัฐบริหารจัดการเองก็ตาม
“แต่ตราบใดที่คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2562 ที่กำหนดแนวทางการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเอาไว้ และมติคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เมื่อ 11 พ.ย. 62 ที่เห็นชอบแนวทางการแก้สัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ระหว่าง กทม.และ BTSC ไปแล้ว แต่ยังไม่ได้นำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้เสร็จสิ้นตามกระบวนการ กทม. และกระทรวงมหาดไทยก็ยังคงต้องปฏิบัติตามประกาศฉบับดังกล่าว ไม่สามารถจะไปดำเนินการในแนวทางอื่นๆ ได้”
ด้วยเหตุนี้ หากผู้ว่าฯ กทม. ไม่คิดจะดำเนินการแก้ไขปัญหาสายสีเขียวตามแนวทางที่ กทม. และกระทรวงมหาดไทย ดำเนินการค้างเอาไว้ แต่อยากจะแสวงหารูปแบบการแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่น ๆ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ก็ต้องไปหารือกับ รมต.มหาดไทยเพื่อรายงานเหตุผลที่จะไม่ดำเนินการตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ดังกล่าว และเสนอแนวทางอื่นที่เหมาะสมต่อไปแทน ซึ่งนั่นต้องมั่นใจว่า เป็นแนวทางสางปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งโครงการได้จริง ไม่ทิ้งปัญหาเอาไว้ให้ กทม. แบกหนี้ ที่สำคัญสามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารได้ต่ำกว่าแนวทางที่ กทม. และบีทีเอส (BTS) ได้เจรจาจัดทำร่างสัญญาขยายสัมปทานเอาไว้นี้ หาไม่แล้วก็เชื่อแน่ว่า ทั้งกระทรวงมหาดไทย และ ครม.คงไม่เอาด้วยแน่
“แต่สิ่งที่ ผู้ว่าฯ กทม. ดำเนินการไปในช่วงที่ผ่านมา กลับเป็นการเล่นเอาเถิดกับโครงการนี้ ทั้งกรณีการเปิดไส้ในโครงการที่สุดท้ายแล้วก็ไม่สามารถจะไปเปลี่ยนแปลงอะไรได้ หรือการที่จู่ๆ จะไปออกประกาศจัดเก็บค่าโดยสารสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 ในอัตรา 15 บาทรวด ซึ่งหากรวมค่าโดยสารเดิมเลยกลายเป็นตลอดสาย 74 บาทในทันที จึงโดนสภา กทม. "ด่าเปิง" แบบไม่ไว้หน้า ก่อนโยนเรื่องกลับให้ผู้ว่าฯ กทม. กลับไปศึกษาคำสั่งหัวหน้า คสช. ให้ดีเสียก่อน”
ระวังหนี้ 4 หมื่นล้าน.. ดินพอกหางหมู
เช่นเดียวกับปัญหาหนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้า และหนี้จัดหาและวางระบบรถไฟฟ้ากว่า 40,000 ล้านบาท ที่ก่อนหน้าทางบีทีเอสได้ฟ้องศาลปกครองให้ กทม. เร่งชำระหนี้ค้างจ้างเดินรถก้อนแรกไปแล้วร่วม 12,000 ล้านบาท และศาลได้มีคำพิพากษาให้ กทม. ดำเนินการชำระหนี้ภายใน 180
แต่ล่าสุด ผู้ว่าฯ กทม. กลับอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองด้วยข้ออ้าง การประเมินและคำนวณค่าจ้างเดินรถมีความคลาดเคลื่อน ไม่สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริง อันเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า การพิจารณาของศาลปกครองที่ใช้เวลามากว่าขวบปีในการพิจารณามูลหนี้ที่ BTS เรียกร้องนั้น มีความคลาดเคลื่อนและผิดพลาดไม่ได้พิจารณาอย่างรอบคอบ ทำให้ กทม. ไม่สามารถจะยอมรับได้ จึงได้ขออุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองกลางดังกล่าว
“ทั้งที่หาก กทม. เห็นว่าตัวเลขที่ถูกต้องควรจะเป็นเท่าไหร่ ก็ควรจะได้แสดงให้ศาลและสาธารณะได้รับรู้ และดำเนินการจ่ายหนี้ค้างที่มีอยู่บางส่วนไปก่อน เพื่อจะได้ไม่เป็นภาระและดินพอกหางหมู ไม่ใช่เอาแต่ซื้อเวลาไปเช่นนี้ เพราะนั่นจะยิ่งทำให้หนี้ค้างที่มีอยู่พอกพูนเป็นดินพอกหางหมู”
เพราะอย่างที่ทุกฝ่ายรู้แก่ใจกันดี ยิ่งทอดยาวไปเท่าไหร่มูลหนี้และดอกเบี้ยปรับก็ยิ่งพอกพูนเพิ่มขึ้นเป็นทวี ขนาดค่าโง่โฮปเวลล์ 11,888 ล้านบาท ที่การรถไฟฯ และกระทรวงคมนาคม ดองเค็มซื้อเวลาไม่จ่ายคืนไม่ถึง 10 ปี ยังทะลักขึ้นมากว่า 27,000-28,000 ล้านบาทแล้วในปัจจุบัน แล้วหนี้ BTS ก้อนนี้ที่มีอยุ่กว่า 40,000 ล้าน มันจะไม่ยิ่งกว่าหรือท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติ ที่เคารพ!!!