อีอีซี เชื่อม สมาคมธุรกิจแห่งเยอรมนีฯ (OAV) ดึงทุนบริษัทชั้นนำจากยุโรป ร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายภายใต้เศรษฐกิจ BCG ที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม พร้อมพัฒนาบุคลากรแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ สร้างโอกาสลงทุนพื้นที่อีอีซีได้ตามเป้า 2.2 ล้านล้านในปี 2570
เมื่อวันที่ 15 พ.ย.2565 นายคณิศ แสงสุพรรณ ประธานที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี พร้อมด้วย นางนงนุช เพ็ชรรัตน์ ที่ปรึกษาพิเศษด้านการต่างประเทศ ให้การต้อนรับและกล่าวเปิดการประชุมร่วมกับ สมาคมธุรกิจแห่งเยอรมนีและเอเชียตะวันออกและอาเซียน (OAV) ซึ่งได้เชิญนักธุรกิจจากบริษัทชั้นนำในประเทศเยอรมนีเดินทางมาประเทศไทย และจะเข้าเยี่ยมชมพื้นที่ อีอีซี ระหว่างวันที่ 15 -16 พ.ย.นี้ โดยคณะนักธุรกิจฯ ได้รับฟังบรรยายสรุปจาก นาย Georg Schmidt เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย และร่วมรับฟังการเสวนาในหัวข้อ “Business Opportunities in Thailand and EEC” โดยมีผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมบรรยาย อาทิ นายวิรัตน์ ธัชศฤงคารสกุล รองเลขาธิการ บีโอไอ นางสาวพริ้วแพร ชุมรุม ผู้อำนวยการสำนักเจรจาการค้าบริการและการลงทุน กระทรวงพาณิชย์ นางลัษมณ อรรถาพิช ที่ปรึกษาผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) นายชาลี ขันศิริ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกันนำเสนอข้อมูลโอกาสทางธุรกิจในประเทศไทยและ อีอีซี ความก้าวหน้าโครงการสำคัญในพื้นที่อีอีซี สิทธิประโยชน์แนวทางส่งเสริมการลงทุน เพื่อจูงใจและเป็นข้อมูลสำคัญให้นักธุรกิจจากเยอรมนีที่สนใจการลงทุนในไทย
การจัดประชุมฯ ครั้งนี้ นับเป็นการต่อยอดความสำเร็จ การจัดเวทีต้อนรับกระทรวงการลงทุน และการจับคู่นักลงทุนซาอุดีฯ เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2565 ที่ผ่านมา และสานต่อการเยือนประเทศเยอรมนีของคณะเลขาธิการ สกพอ. เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมปี 2565 ที่ได้มีการพบปะนักลงทุนเยอรมนีเพื่อสร้างโอกาสการลงทุนในไทย และได้ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน จัดเวทีเสวนาให้นักธุรกิจและนักลงทุนเยอรมัน ได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสและสิทธิประโยชน์ การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายในอีอีซี โดยเฉพาะด้าน ยานยนต์แห่งอนาคต การขนส่งโลจิสติกส์ ดิจิทัล ที่สอดคล้องกับการลงทุนเศรษฐกิจสีเขียว BCG อันเป็นนโยบายสำคัญของประเทศไทยในการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ
ในโอกาสนี้ คณะนักธุรกิจเยอรมนี จะเข้าเยี่ยมชมโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังเฟส 3 เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) EEC Automation Park และ ศูนย์จีโนมิกส์ ในมหาวิทยาลัยบูรพา และโรงงานพลังงานบริสุทธิ์ ( EA) โดยจะมีการพบปะกับผู้บริหารของบริษัทเยอรมนีที่มีการลงทุนในพื้นที่ อีอีซี เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมองด้านการลงทุนที่โรงแรมเซ็นทารา มิราจ บีช รีสอร์ท พัทยา และ สกพอ. จะจัดการบรรยายสรุปที่อมตะซิตี้ จังหวัดชลบุรี เกี่ยวกับโอกาสการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัล และความร่วมมือเพื่อพัฒนาบุคลากรป้อนภาคอุตสาหกรรมเป้าหมาย อีกด้วย
สำหรับประเทศเยอรมนี นับเป็นคู่ค้าสำคัญและลงทุนในไทยมากเป็นอันดับที่ 4 ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ปัจจุบัน มีบริษัทเยอรมันมากกว่า 600 บริษัทเข้ามาลงทุนในไทยโดยเฉพาะนักลงทุนรายใหญ่ชื่อเสียงระดับโลกเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ บริษัท Siemen บริษัท Mercedes Benzบริษัท BMW บริษัท Schaeffler บริษัท Robert Bosch และบริษัท Continental เป็นต้น โดยภาคเอกชนเยอรมันได้แสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซีมากขึ้น ด้วยเชื่อมั่นในศักยภาพของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการลงทุนที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจและส่งผลให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางบก เรือ อากาศ ของภูมิภาคในอนาคตอันใกล้
การเดินทางมาไทยและเยี่ยมชมพื้นที่อีอีซีของคณะนักธุรกิจเยอรมนีครั้งนี้ จะช่วยสร้างโอกาสการลงทุนระยะ 2 ตามเป้าหมายของอีอีซี ให้เกิดการลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งคาดว่า จะมีเงินลงทุนประมาณปีละ 400,000 - 500,000 ล้านบาท (ปี 2566 - 70) รวมทั้งย้ำความมุ่งมั่นที่จะทำให้พื้นที่อีอีซี เป็นพื้นที่การลงทุนอุตสาหกรรม BCG ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่จะเป็นเทรนด์สำคัญของโลกเพิ่มแรงจูงใจและรองรับนักธุรกิจจากทั่วโลกให้เข้ามาลงทุนได้ต่อเนื่อง