ผู้ว่าฯ รฟม. จ่องานงอก ควันหลงสางคดี ”แอชตันอโศก” หลังศาลปกครองสูงสุดมีแนวโน้มชี้ขาดการขออนุมัติใช้ทางผ่านเข้า-ออกชอบด้วยกฎหมาย ย้อนแย้งกับเหตุผล รฟม. ที่ไม่ยอมเรียกเก็บค่าธรรมเนียมร่วม 100 ล้าน อ้างผิดวัตุประสงค์เวนคืนและขัดประกาศ รฟม.
จากการที่ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาคำอุทธรณ์ของผู้อำนวยการเขตวัฒนา , สำนักงานโยธา กทม. และบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด หรือ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ทู จำกัด เจ้าของคอนโดมิเนียมหรู “แอชตัน อโศก” ในฐานะผู้ร้องสอด ต่อกรณีที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้ “เพิกถอน” ใบอนุญาตก่อสร้างโครงการ “แอชตัน อโศก” ซึ่งเป็นอาคารสูง 51 ชั้น มีห้องพัก 783 ยูนิต มูลค่าโครงการ 6,481 ล้านบาท เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 64 ตามที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน (นายศรีสุวรรณ จรรยา) และประชาชนรวม 16 คน ที่อาศัยในพื้นที่ร่วมกันฟ้องร้อง
ล่าสุด มีแนวโน้มที่ชัดเจนออกมาแล้วว่า ทางตุลาการผู้แถลงคดีมีความเห็นว่า คำอุทธรณ์คดีของ กทม. และบริษัทฟังขึ้น โดยเห็นว่า หน่วยงานรัฐที่ถูกฟ้องคดีกระทำโดยชอบแล้ว ทั้งการทำสัญญาขอใช้ประโยชน์ที่ดินเวนคืนของ รฟม. มาสร้างเป็นทางเข้า-ออกโครงการ และเป็นไปตามกฎหมายของ รฟม. โดยที่ รฟม. ยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินอยู่ รวมทั้งการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารของ กทม. ก็เป็นไปอย่างถูกต้อง จึงมีความเห็นให้ยกฟ้องคดี แต่ทั้งนี้จะต้องรอผลการประชุมขององค์คณะตุลาการเจ้าของสำนวนที่จะพิจารณาอีกครั้งในปลายปีนี้ จึงจะถือว่าคดีสิ้นสุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลพวงของคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดข้างต้น กำลังทำให้ฝ่ายบริหารการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นั่งไม่ติด เนื่องจากเหตุผลสำคัญที่ทำให้ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาก่อนหน้าให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโครงการดังกล่าวนั้น ก็เพราะทาง รฟม. อ้างว่า การอนุญาตให้บริษัทใช้ทางผ่านเข้า-ออกสถานีรถไฟฟ้าของ รฟม. ที่ฝ่ายบริหาร รฟม. ดำเนินการไปในช่วงก่อนหน้าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัด พ.ร.บ.เวนคืนที่ดินก่อสร้างรถไฟฟ้า เป็นการอนุญาตให้ใช้ที่ดินเวนคืนในเชิงพาณิชย์ที่ขัดกฎหมายเวนคืน จึงทำให้ รฟม. ไม่สามารถจะเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมผ่านทางเข้า-ออก หรือเงินผลประโยชน์อื่นใด จากบริษัทได้
นอกจากการปฏิเสธรับเงินค่าธรรมเนียมผ่านทางเข้า-ออก ร่วม 100 ล้านบาทแล้ว ฝ่ายบริหาร รฟม. ยังส่งเรื่องให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ตรวจสอบกรณีดังกล่าว โดยมีการส่งเอกสาร หลักฐานเพื่อยืนยันว่า การอนุมัติให้ใช้ที่ดินเวนคืนเป็นทางเข้า-ออกโครงการแอชตันอโศก เป็นการดำเนินการที่ผิดวัตถุประสงค์การเวนคืน ทำให้ สตง. มีคำสั่งให้ รฟม.ดำเนินการไล่เบี้ยเอาผิดคณะกรรมการ และฝ่ายบริหาร รฟม. ที่ทำให้เกิดความเสียหาย พร้อมส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อเอาผิดทางอาญากับเจ้าหน้าที่รัฐผู้เกี่ยวข้องอีกด้วย ขณะนี้เรื่องยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของ ป.ป.ช.
อย่างไรก็ตาม เมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเบื้องต้นออกมาแล้วว่า การอนุมัติให้ใช้ที่ดินเวนคืน เป็นทางผ่านเข้า-ออก เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย และเป็นเรื่องที่ฝ่ายบริหาร รฟม. ดำเนินการโดยชอบแล้ว จึงไม่เพียงจะเป็นการหักล้างผลตรวจสอบของ สตง. ก่อนหน้านี้ ที่เป็นไปโดยปราศจากการขาดความรอบคอบรัดกุมแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นว่า การดำเนินการของฝ่ายบริหาร รฟม. ที่ปฏิเสธรับเงินค่าธรรมเนียมผ่านทางเข้า-ออกร่วม 100 ล้านบาท จึงเป็นการดำเนินการโดยปราศจากความรอบคอบ และก่อให้เกิดความเสียหายต่อ รฟม. โดยตรง จำเป็นที่ต้นสังกัดจะต้องดำเนินการตั้งคณะกรรมการสอบสวนเอาผิดกับฝ่ายบริหาร รฟม. ที่ทำให้หน่วยงานต้องสูญเสียผลประโยชน์ไปนับ 100 ล้านบาท