เมื่อ กสทช. บ้อท่าในการบังคับใช้กฎเหล็ก Must Have - Must Carry ปล่อยให้ “ทรูวิชั่นส์” ชุบมือเปิบลิขสิทธิ์บอลโลกไปทำมาหากินได้อย่างเอิกเกริก โดยไม่สนกฎเหล็กที่ว่านี้ แล้ว “มาตรการเฉพาะ” 14 ข้อที่ กสทช. จะออกมากำหนดเป็นเงื่อนไขให้ “ทรู-ดีแทค” จะต้องปฏิบัติตามก่อนการควบรวมธุรกิจจะไปมีความหมายอะไร กสทช. จะมีปัญญาบังคับใช้กับผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ไม่อยู่ใต้ชายคาตนเองได้หรือ?
และแล้วประชาชนคนไทยก็ได้เห็น “ทาสแท้” กลุ่มทุนธุรกิจที่รุกคืบเข้ามา “ชุบมือเปิบ” ผลประโยชน์จากลิขสิทธิ์ถ่ายถอดสดบอลโลก 2022 ชนิดที่ “สลึงก็ไม่ยอมให้กระเด็น”
หลัง “มหกรรมฟุตบอลโลก 2022” ระเบิดแข้งกันไปเมื่อค่ำวันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่ประเทศกาตาร์ โดยที่คอบอลไทยต้องลุ้นระทึกไปถึงวินาทีสุดท้ายว่า จะได้ดูบอลโลกสมใจอยากหรือไม่ ด้วยไม่มีนักลงทุนรายใดกล้าเสี่ยงควักเม็ดเงินลงทุนกว่า 43 ล้านเหรียญฯ หรือกว่า 1,600 ล้าน ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดจาก FIFA เข้ามาทำตลาดในไทย เพราะนัยว่าต้องเจอกับ “กฎเหล็ก” Must Have -Must Carry ของ กสทช. หรือประกาศ กสทช. ว่าด้วยการเผยแพร่กิจการโทรทัศน์เป็นการทั่วไปปี 2555 ที่กำหนดให้ต้องเผยแพร่รายการให้คนไทยได้เข้าถึงในทุกแพลตฟอร์ม
ที่สุด กสทช. ต้อง “ไถ่บาป” ด้วยการเจียดงบ 600 ล้าน จาก “กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ” หรือ “กทปส.” ไปให้การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) จัดซื้อลิขสิทธิ์บอลโลกที่ว่านี้ จากที่ขอมา 1,600 ล้านบาท ส่วนที่เหลือให้ กกท. ไปหาทางระดมทุนเพิ่มเติมเอาเอง
แต่ไม่รู้ กกท. ไปทำอิท่าไหน ทำไปทำมากลับกลายเป็นว่า “กลุ่มทรูคอร์ป” และ “ทรูวิชั่นส์กรุ๊ป” ที่กำลังมีประเด็นการขอควบรวมธุรกิจกับดีแทค ที่จ่ายเงินร่วมลงขันไปแค่ 300 ล้าน กลับ “ชุบมือเปิบ” ลิขสิทธิ์บอลโลกที่ว่านี้ไป โดยไม่เพียงจะได้สิทธิ์เลือกคู่ “ไฮไลท์” 32 แมตช์ จาก 64 แมตช์ ของการแข่งขันไปถ่ายทอดผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ของทรูวิชั่นส์ก่อน ส่วนที่เหลือ 32 แมตช์ที่เหลือ จึงให้ 17 ช่องทีวีดิจิตอลที่เหลือแบ่งสรรกันไปคนละ 2-3 นัด พอซังกะตายให้หายอยาก
กลุ่มทรูวิชั่นส์ยังออกแถลงการณ์ว่า ได้รับสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ในครั้งนี้แบบเบ็ดเสร็จแต่เพียงผู้เดียวอีกด้วย โดยบริษัทกำหนดช่องทางการเผยแพร่ผ่านระบบโทรทัศน์ภาคพื้นเดิม และจะนำไปเผยแพร่ตามประกาศ กสทช. ได้เฉพาะการรับชมผ่านระบบดาวเทียมและเคเบิ้ลทีวีเท่านั้น จะไม่อนุญาตให้มีการเผยแพร่ทางช่องทางอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น IPTV Internet Mobile TV หรือ OTT ซึ่งถือเป็นการ ”หักดิบ” กฎเหล็ก ”มัสต์แคร์รี่” ของ กสทช. โดยตรง
และนั่นทำให้ “สมาคมทีวีดิจิตอล” ต้องลุกขึ้นมาฟ้อนเงี้ยว ยื่นเรื่องให้ กสทช. ออกมาชี้ขาด เพราะทุกฝ่ายรู้กันอยู่เต็มอก ลิขสิทธิ์บอลโลก 2022 ที่ประเทศไทยต้องจ่ายแพงลิบลิ่วจนไม่มีนักลงทุนรายใดเสี่ยงจัดซื้อเข้ามาทำตลาดนั้น ก็เพราะทางฟีฟ่ารู้ว่าประเทศไทยมี ”กฎเหล็ก” กสทช. ที่กำหนดให้ต้องถ่ายทอดสดให้คนไทยได้ดูฟรีผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทีวีดิจิทัล IPTV Internet TV หรือระบบ OTT จึงกำหนดค่าลิขสิทธิ์เอาไว้แพงลิบลิ่ว!
อีกทั้ง กสทช. ที่เป็นสปอนเซอร์หลักในการเจียดเงินจากกองทุน กทปส. 600 ล้าน สนับสนุนการจัดซื้อลิขสิทธิ์ในครั้งนี้ ก็มีข้อกำหนดชัดเจนที่จะต้องให้ทีวีดิจิทัลทุกช่องได้รับสิทธิ์ถ่ายทอดอย่างทัดเทียมกัน เพราะไม่ได้หวังผลกำไร แต่ต้องให้คนไทยได้ดูมหกรรมบอลโลกที่ว่าในทุกช่องทาง แถม กสทช. เองยังมีกฎเหล็ก “มัสต์แคร์รี่” ที่บังคับใช้มาเป็นสิบปีสำทับไว้อีกชั้น
แต่จู่ๆ กลับกลายเป็นว่าไม่เพียง “กลุ่มทรูวิชั่นส์” จะฮุบลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดบอลโลกไปอยู่ในมือแต่เพียงรายเดียว ยังกำหนดช่องทางการถ่ายทอดที่ขัดประกาศ กสทช. โดยตรง โดยที่หน่วยงานกำกับดูแล กสทช. ได้แต่นั่งทำตาปริบๆ ไม่สามารถจะทำอะไรได้
สะท้อนให้ทุกฝ่ายได้เห็นว่ากฎเหล็ก “มัสต์แคร์รี่” ที่ว่านั้น ไม่มีอยู่จริง หรือต่อให้มีอยู่ กสทช. ก็ “บ้อท่า” ไม่สามารถจะใช้บังคับอะไรได้จริง!
ถ้อยแถลงของกลุ่มทรูวิขั่นส์ที่ออกมายืนยันว่า ตนเองได้สิทธิ์ถ่ายทอดสดบอลโลก 2022 จาก กกท. แต่เพียงรายเดียว และยังกำหนดช่องทางการรับชมและถ่ายทอดผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยไม่สนกฎเหล็กของ กสทช. ที่มีอยู่ ทำให้การถ่ายทอดมหกรรมกีฬาฟุตบอลโลกในช่องทางอื่น ๆ ถูกปิดกั้นไปโดยปริยาย ต้องเกิดกรณี “จอดำ” อันเป็นความชอกช้ำที่ประชาชนคนไทยเคยได้รับมาครั้งแล้วครั้งเล่านั้น
เลยพาลให้ทุกฝ่ายนึกเลยไปถึง “ดีลควบรวมธุรกิจ” ที่กำลังเป็นประเด็นสุดร้อนของ กสทช. อยู่ในขณะนี้ หลังจาก กสทช. ไฟเขียวอนุมัติดีลควบรวมธุรกิจออกไป ด้วยข้ออ้าง “ไม่มีอำนาจพิจารณา” ทำได้แค่การนำ “มาตรการเฉพาะ” จำนวน 14 ข้อที่กำหนดให้ผู้ขอควบรวมจะต้องปฏิบัติทั้งก่อนและหลังการควบรวมกิจการมาใช้เท่านั้น จนทำให้สภาองค์กรของผู้บริโภคและเครือข่ายร่วมกันยื่นฟ้อง กสทช. ต่อศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนมติอัปยศที่ว่า ทั้งยังยื่นเรื่องร้องคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อให้ดำเนินคดีทุจริตเอากับบอร์ด กสทช. ชุดนี้ด้วยนั้น
แต่จากความล้มเหลวในการบังคับใช้ประกาศ กสทช. ว่าด้วยการแพร่ภาพรายการโทรทัศน์ หรือกฎเหล็ก “มัสต์แฮฟ-มัสต์แคร์รี่” ข้างต้น จึงทำให้ทุกฝ่ายตั้งคำถามไปยังหน่วยงานของรัฐที่เป็นอิสระแห่งนี้ว่า หากแม้แต่กฎเหล็ก “มัสต์แคร์รี่” ที่ กสทช. ใช้บังคับมาเป็นสิบปีแล้ว ยังไม่มีปัญญาบังคับให้ผู้ประกอบการใต้ชายคาต้องปฏิบัติตามแล้ว
แล้ว “มาตรการเฉพาะ” จำนวน 14 ข้อ ที่ กสทช. อ้างว่าจะเป็น “มาตรการเยียวยา” เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะไม่ให้ประชาชนผู้ใช้บริการถูกเอารัดเอาเปรียบจากการควบรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทคที่จะมีขึ้นนั้น มันจะไปมี “น้ำอิ๊ว” อะไรได้ หากผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้งทรูและดีแทค ที่ไม่ได้เป็นธุรกิจที่รับใบอนุญาตจาก กสทช.โดยตรงยืนกรานจะไม่ปฏิบัติตามเสียอย่าง กสทช.จะมีน้ำยาทำอะไรได้
เพราะขนาดผู้ประกอบการทีวีที่รับใบอนุญาตโดยตรงจาก กสทช. แหกกฎเหล็ก “มัสต์แฮฟ-มัสต์แคร์รี่” ของตนเองอย่างชัดแจ้งเช่นนี้ ที่หากเป็นองค์กรกำกับในต่างประเทศเป็นได้ถูกถอนใบอนุญาตสิ้นซากไปแล้ว แต่กับ กสทช. ชุดนี้กลับ “บ้อท่า” ได้แต่นั่งทำตาปริบๆ แบ๊ะ ๆ ๆ ทำอะไรไม่ได้สักกระผีกนั้น
จึงไม่แปลกหากจะถูกผู้คนในสังคมสัพยอกว่า กสทช. ยุคนี้ “มีก็เหมือนไม่มี”