ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๕ นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ได้เผยแพร่แถลงการณ์สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย โดยระบุว่า..
ตามที่นายกรัฐมนตรีได้แสดงปาฐกถาที่สำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๖๕ เนื่องในโอกาสวันต่อต้านการทุจริตสากล ทำนองว่า นายกรัฐมนตรีจะไม่ปล่อยให้เกิดการคอร์รัปชันในรัฐบาล ขอให้คนไทยทุกคนที่ทราบช่วยกันชี้เบาะแส นั้น
สมาคมทนายความแห่งประเทศไทยเห็นว่า การดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ซึ่งเป็นโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน น่าจะมีความไม่ชอบและไม่โปร่งใส ดังนี้
๑. โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง ๓๕.๙ กิโลเมตร มีการศึกษาโครงการมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๕ ครม. เห็นชอบแล้ว มีการทำ TOR โดย รฟม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงมีการประกาศเชิญชวนครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ แต่หลังจากการจำหน่ายซองยื่นข้อเสนอแล้ว การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้แก้ไขหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนผู้ร่วมโครงการ ทำให้ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ได้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง ต่อมา ศาลมีคำพิพากษาว่า "...การแก้ไขหลักเกณฑ์ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย..."
๒. แทนที่จะปฏิบัติให้เป็นไปตามคำสั่งศาลปกครองกลางให้ถูกต้อง รฟม. กลับใช้วิธีเลี่ยงบาลี ด้วยการยกเลิกการประกาศเชิญชวนดังกล่าว (ล้มประมูล) และประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนใหม่ ด้วยการกำหนดคุณสมบัติผู้เข้าร่วมลงทุนใหม่เอื้อแก่ผู้ประกอบการบางราย เป็นผลให้มีผู้ประกอบการเพียงรายเดียวที่มีคุณสมบัติตามประกาศเชิญชวนและเป็นผู้ชนะการเสนอราคา
๓. ตามประกาศเชิญชวนครั้งแรก หาก BTS เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโดยมีข้อเสนอให้รัฐช่วยอุดหนุน จำนวน ๙,๖๗๕ ล้านบาท แต่การยกเลิกประกาศทำให้ต้องประกาศเชิญชวนครั้งใหม่ เป็นผลให้มีผู้ประกอบการเพียงรายเดียวที่มีคุณสมบัติทำให้รัฐต้องอุดหนุนถึง ๗๘,๒๘๘ ล้านบาท หรือเป็นภาระแก่รัฐเพิ่มสูงถึง ๖๘,๖๑๓ ล้านบาท ทั้งที่มีเนื้องานเท่ากันกับการประกาศเชิญชวนครั้งแรกทุกประการ
สมาคมทนายความแห่งประเทศไทยเห็นว่า การกระทำของ รฟม. และเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด ได้สร้างความเสียหายให้กับรัฐโดยไม่มีเหตุอันควร อีกทั้งยังไม่สามารถตอบคำถามต่อสังคมได้ว่า เหตุใดจึงต้องกำหนดคุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ จนทำให้มีผู้ประกอบการเพียงรายเดียวที่ชนะการประกวดราคาครั้งใหม่ และเหตุใดระยะเวลาต่างกันเพียง ๒ ปี จึงทำให้การดำเนินโครงการเดียวกันที่มีเนื้องานเท่ากัน ทำให้รัฐต้องจ่ายเงินเพิ่มสูงถึง ๖๘,๖๑๓ ล้านบาท ซึ่งหากนายกรัฐมนตรีต้องการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติจริง ก็ควรดำเนินการให้มีการยกเลิกการประกาศเชิญชวนครั้งที่สอง และให้มีการประกาศเชิญชวนใหม่ภายใต้หลักเกณฑ์และกติกาการแข่งขันอย่างเป็นธรรมโดยไม่เอื้อประโยชน์ต่อฝ่ายใด ซึ่งสามารถกระทำได้โดยชอบเพราะเป็นการปกป้องประโยชน์ของประเทศชาติอันเป็นประโยชน์สาธารณะ
ส่วนการที่นายกรัฐมนตรีไม่โกง แต่ถ้ารู้แล้วยังปล่อยปละละเลยให้เกิดการ กระทำดังกล่าวและปล่อยให้เรื่องนี้ผ่านไป กฎหมายถือเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำหรือเป็นตัวการร่วมกันที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติเช่นกัน