ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคม พร้อมด้วย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร , พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. และคณะทำงาน ร่วมกันแถลงข่าวผลการปิดล้อมตรวจค้น 6 จุดเป้าหมาย โดยมีจุดเชื่อมต่อชายแดน 1 จุด ในจังหวัดสระแก้วและจังหวัดจันทบุรี ตามยุทธการ SHUT DOWN กวาดล้างจับกุมบัญชีม้าทั่วประเทศ
โดย นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ขอชื่นชมสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เอาจริงเอาจังในการปราบปรามผู้กระทำความผิดอย่างเต็มที่ ซึ่งสามารถจับกุมได้ทั้งบัญชีม้า และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้อินเทอร์เน็ต ตลอดจนผู้ที่ลักลอบนำสัญญาณไปขายให้ประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงขบวนการที่หลอกลวงทั้งหมด ซึ่งจับกุมและดำเนินคดีไปได้จำนวนมาก ต่อไปถ้ามีการป้องกันการใช้งานซิมโทรศัพท์มือถือ สายอินเทอร์เน็ตที่ข้ามไปประเทศเพื่อนบ้านไม่ถูกต้อง อาชญากรรมเหล่านี้จะหมดไป
ทั้งนี้ ในกรณีมีเจ้าหน้าที่บางคนอำนวยความสะดวกหรือสนับสนุนผู้กระทำผิด เพื่อหวังผลตอบแทน ถ้าในส่วนบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ หากมีเจ้าหน้าที่ลักลอบนำสัญญาณอินเทอร์เน็ตไปขายให้กับประเทศเพื่อนบ้านนั้นมีความผิด ถือเป็นการทุจริตตามกฎหมาย ซึ่งจะส่งเรื่องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจรวบรวมพยานหลักฐานและหาข้อเท็จจริงก่อนจะส่งเรื่องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีต่อไป
ด้าน พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. กล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 27 เม.ย. ที่ผ่านมา มีผู้เสียหายมาแจ้งความร้องทุกข์ ถูกกลุ่มคนร้ายชักชวนหลอกให้ลงทุน โดยพฤติการณ์กลุ่มคนร้ายได้เปิดเว็บไซด์ชื่อ AMATA ชักชวนให้ลงทุน โดยมีการเสนอผลตอบแทนในจำนวนที่สูงกว่าที่สถาบันการเงินทั่วไปให้ได้ ผู้เสียหายหลงเชื่อและได้นำเงินลงทุน ต่อมาเมื่อครบกำหนดกลับไม่ได้ผลตอบแทนตามที่ตกลง ผู้เสียหายพยายามขอเงินคืน แต่กลับให้นำเงินมาลงทุนเพิ่มเติมอีก ส่งผลให้เกิดความเสียหาย จำนวน 257,115.16 บาท จึงได้แจ้งความร้องทุกผ่าน www.thaipoliceonline.com ซึ่งต่อมาชุดสืบสวนตรวจสอบพบมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับเครือข่ายอินเตอร์เน็ตของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (NT) โดยมีนายมโนรม สม (MR.MONOROM SOM) ชาวกัมพูชา เป็นผู้ยื่นคำขอใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสำหรับองค์กร จากการตรวจสอบพบมีค่าบริการรายเดือนกว่า 200,000 บาท เป็นการขอใช้บริการภายในประเทศ แต่เมื่อลงพื้นที่ตรวจสอบกลับไม่พบจุดติดตั้งอินเตอร์เน็ตภายในประเทศดังกล่าวแต่อย่างใด จึงตรวจสอบทางเทคนิคพบว่ามีการเชื่อมต่อสัญญาณอินเตอร์เน็ตข้ามไปฝั่งประเทศกัมพูชา สอดคล้องกับข้อมูลของ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด ไม่พบว่ามีสัญญาให้ใช้บริการระหว่างประเทศ ซึ่งเชื่อว่ามีการลักลอบนำสัญญาณอินเตอร์เน็ตจากประเทศไทยเข้าไปใช้ในกัมพูชา
อย่างไรก็ตาม ปฏิบัติการดังกล่าวจะนำไปสู่การตัดวงจรขบวนการคอลเซ็นเตอร์ให้ได้มากที่สุด โดยเน้นในเรื่องของการตัดวงจร ซิม-สาย-เสา ซึ่งในส่วนของซิม มีการปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นกวาดล้างโดยตรวจยึดซิมโทรศัพท์มากกว่า 2 แสนเบอร์ ส่งผลให้สถานการณ์ลดลงไปกว่าร้อยละ 25 แต่สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือเรื่องของสายและเสา ซึ่งหากสามารถตัดสัญญาณที่มีการลักลอบลงก็จะทำให้สถานการณ์คลี่คลายลง เพราะขบวนการดังกล่าวทำมานานกว่า 12 ปี อีกทั้งมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องโดยขั้นตอนต่อไปทางบช.สอท. ร้องทุกข์ต่อ บก.ปปป. ให้ดำเนินการ หากพบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการตามมาตรา 157 ต่อไป และหากพบว่าใครมีส่วนรู้เห็นต่อการกระทำความผิด เป็นตัวการในการสนับสนุนก็จะต้องดำเนินการตามม.83 อีกด้วย