ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ วิศวกรผู้เชี่ยวชาญระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ และรองหัวหน้าพรรค ปชป. ได้ประมวลผลงานรัฐบาล คสช.ในอดีต กับรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ที่ "เปลี่ยนไป" จากหน้ามือเป็นหลังมือ เปิดทางกลุ่มทุนการเมืองเข้าแทรกงานประมูลโครงการก่อสร้าง-รถไฟฟ้าจนเสียศูนย์ เกิด "รอยด่าง" ในระบบขนส่งรถไฟฟ้า แถมยังจ่อจะเรียกแขกให้งานเข้าไปจนชั่วลูกชั่วหลาน..
โดย ดร.สามารถ ระบุว่า.. การก่อสร้างทางรถไฟ และรถไฟฟ้าหลากหลายระบบ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟลอยฟ้า รถไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) รถไฟฟ้าล้อยางวิ่งบนพื้นคอนกรีต ที่เรียกว่า APM (Automated People Mover) และรถไฟความเร็วสูง เกิดขึ้นมากในสมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้ระบบรางของไทยก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่น่าเสียดายที่มี “รอยด่าง” เกิดขึ้นช่วงที่ท่านเป็นนายกฯ ในสมัยรัฐบาลปัจจุบัน
1. ระบบรางในสมัยรัฐบาล คสช.
ในสมัยรัฐบาล คสช. มีการประมูลทั้งรถไฟทางคู่ และรถไฟฟ้า ซึ่งการประมูลเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีการเปลี่ยนข้อกำหนดของผู้ว่าจ้าง (Terms of Reference หรือ TOR) กลางอากาศ ที่สำคัญ ผู้เกี่ยวข้องกับการประมูลเปิดใจรับฟังคำทักท้วง นำข้อเสนอแนะไปปรับแก้
1.1 การประมูลรถไฟทางคู่
ในปี 2560 หลังจากที่ผมได้ทักท้วงว่า การประมูลรถไฟทางคู่สายใต้ช่วงนครปฐม-หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร มีความไม่ชอบมาพากล ปรากฏว่า ได้มีการยกเลิกการประมูล พร้อมทั้งมีการปรับแก้การประมูลโดย (1) ปรับลดราคากลางลงให้เหมาะสม และ(2) ปรับแก้ TOR เปิดโอกาสให้บริษัทผู้รับเหมาขนาดกลางเข้าร่วมประมูลได้ด้วย
ผลจากการปรับแก้ดังกล่าว ทำให้การประมูลใหม่มีการแข่งขันกันมากกว่าเดิม ปรากฏว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สามารถประหยัดค่าก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ทั้งสาย (ช่วงนครปฐม-หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร) ได้ 2,039 ล้านบาท จากราคากลาง 36,021 ล้านบาท คิดเป็น 5.66% ในขณะที่ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ สามารถประหยัดค่าก่อสร้างได้ถึงประมาณ 20%
1.2 การประมูลรถไฟฟ้า
การประมูลรถไฟฟ้าในปี 2559 เช่น รถไฟฟ้าสายสีชมพู และสายสีเหลือง ไม่มีการเปลี่ยน TOR กลางอากาศ ไม่มีการล้มประมูล ไม่มีการกีดกันและเอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายใดรายหนึ่ง ทำให้มีการแข่งขันกันอย่างจริงจัง เป็นผลให้รัฐสามารถประหยัดเงินสนับสนุนได้เฉียด 3 แสนล้านบาท !
ผลการประมูลรถไฟฟ้าสายสีชมพูปรากฏว่า บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูล ขอรับเงินสนับสนุนจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) น้อยกว่าบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ถึง 124,658.15 ล้านบาท นั่นหมายความว่า รฟม. สามารถประหยัดเงินสนับสนุนได้มากถึง 124,658.15 ล้านบาท
ส่วนผลการประมูลรถไฟฟ้าสายสีเหลืองปรากฏว่า BTSC ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลขอรับเงินสนับสนุนจาก รฟม. น้อยกว่า BEM ถึง 135,634.75 ล้านบาท นั่นหมายความว่า รฟม. สามารถประหยัดเงินสนับสนุนได้มากถึง 135,634.75 ล้านบาท
1.3 การแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน
ในสมัยรัฐบาล คสช. มีปัญหารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และช่วงหัวลำโพง-บางแค กล่าวคือหากผู้เดินรถไม่ใช่ BEM ซึ่งเป็นผู้เดินรถสายสีน้ำเงินส่วนหลัก ผู้โดยสารจะต้องเปลี่ยนขบวนรถ ไม่สามารถเดินทางแบบต่อเนื่อง (Through Operation) ได้ และจะต้องเสียค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน รฟม. (โดยคณะกรรมการตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ที่ 42/2559) จึงแก้ปัญหาโดยให้ BEM เป็นผู้รับสัมปทานลงทุนงานระบบรถไฟฟ้า อาณัติสัญญาณ สื่อสาร และระบบตั๋ว และให้บริการเดินรถตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560-2592 เพื่อให้มีการเดินรถแบบต่อเนื่อง และไม่มีค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน
เนื่องจากสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายมีผู้โดยสารน้อย ทำให้ BEM ขาดทุน ด้วยเหตุนี้ รฟม. (โดยคณะกรรมการตามคำสั่ง คสช.) จึงขยายสัมปทานสายสีน้ำเงินส่วนหลักให้ BEM เป็นเวลา 20 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2572-2592 เพื่อนำรายได้จากส่วนหลักมาชดเชยการให้บริการเดินรถส่วนต่อขยาย
2. ระบบรางในสมัยรัฐบาลปัจจุบัน
ในสมัยรัฐบาลปัจจุบัน การประมูลรถไฟทางคู่สายเหนือและสายอีสาน และรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกได้สร้างความกังขาให้กับผู้คนจำนวนมาก
2.1 การประมูลรถไฟทางคู่
ในปี 2564 มีการประมูลรถไฟทางคู่สายเหนือช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และสายอีสานช่วงบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ซึ่งเป็นการประมูลที่สร้างความประหลาดใจให้กับผู้คนจำนวนมาก เนื่องจากราคาที่ได้จากการประมูลต่ำกว่าราคากลางเพียงนิดเดียวเท่านั้น อีกทั้ง ยังต่ำกว่าราคากลางเป็นสัดส่วนที่เท่ากันอีกด้วย นั่นคือแค่ 0.08% เท่านั้น พูดได้ว่า ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ !
สายเหนือประหยัดได้เพียง 60 ล้านบาท จากราคากลาง 72,918 ล้านบาท คิดเป็น 0.08% และสายอีสานประหยัดได้แค่ 46 ล้านบาท จากราคากลาง 55,456 ล้านบาท คิดเป็น 0.08% เท่ากับสายเหนือ
2.2 การประมูลรถไฟฟ้า
ในปี 2563 รฟม. ได้ประกาศเชิญชวนเอกชนให้ร่วมลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) และเดินรถตลอดสายทั้งช่วงตะวันตกและตะวันออก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี) แต่ในระหว่างการประมูล รฟม. ได้เปลี่ยนเกณฑ์ประมูล และในที่สุดได้ล้มการประมูล ต่อมาในปี 2565 รฟม. ได้เปิดประมูลใหม่ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตว่ามีการกีดกันและเอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายใดรายหนึ่งหรือไม่ ?
ผลพวงจากการประมูลถึง 2 ครั้ง อาจทำให้ รฟม. ต้องเสียเงินค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นถึง 68,612.53 ล้านบาท !
2.3 การแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว
ในช่วงปลายของรัฐบาล คสช. ต่อเนื่องถึงรัฐบาลปัจจุบัน มีปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-คูคต กล่าวคือหากผู้เดินรถไม่ใช่ BTSC ซึ่งเป็นผู้เดินรถสายสีเขียวส่วนหลักและส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า และช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง ผู้โดยสารจะต้องเปลี่ยนขบวนรถ ไม่สามารถเดินทางแบบต่อเนื่องได้ และจะต้องเสียค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน กทม.จึงแก้ปัญหาโดยว่าจ้างให้ BTSC เดินรถส่วนต่อขยายที่ 2 แต่การเดินรถส่วนต่อขยายประสบภาวะขาดทุน ทำให้ กทม. เป็นหนี้ BTSC จนถึงวันนี้ประมาณ 4.6 หมื่นล้านบาท
กทม. (โดยคณะกรรมการตามคำสั่ง คสช. ที่ 3/2562) จึงเสนอให้ขยายสัมปทานสายสีเขียวส่วนหลักให้ BTSC เป็นเวลา 30 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2572-2602 เพื่อนำรายได้จากส่วนหลักมาชดเชยการให้บริการเดินรถส่วนต่อขยาย โดยมีเงื่อนไขให้ BTSC รับผิดชอบหนี้ทั้งหมดแทน กทม. แต่จนถึงวันนี้ ยังไม่มีการขยายเวลาสัมปทานให้ BTSC แทนการชำระหนี้ที่พอกพูนขึ้นทุกวัน
3. นายกฯ ประยุทธ์ เปลี่ยนไป ?
การประมูลรถไฟทางคู่ และรถไฟฟ้าในสมัยรัฐบาล คสช. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี สามารถประหยัดค่าก่อสร้างได้เป็นกอบเป็นกำ อีกทั้ง ยังสามารถแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินได้อีกด้วย แต่การประมูลรถไฟทางคู่และรถไฟฟ้าในสมัยรัฐบาลนี้ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีเช่นเดียวกันกลับต้องเสียค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นเป็นเงินก้อนมหึมา อีกทั้ง ยังปล่อยให้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวคาราคาซังมาจนถึงวันนี้ ทำให้เกิด “รอยด่าง” ใน “ระบบราง” ซึ่งท่านนายกฯ ประยุทธ์ ได้เคยสร้างผลงานดีๆ ไว้มากมาย น่าเสียดายจริงๆ
ถามว่ารัฐบาล คสช. ที่มีนายกรัฐมนตรีชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถทำให้การประมูลรถไฟทางคู่และรถไฟฟ้าประหยัดค่าก่อสร้างได้มาก และสามารถแก้ปัญหาการเดินรถไฟฟ้าได้ด้วย แล้วทำไมรัฐบาลนี้ที่มีนายกรัฐมนตรีชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เหมือนกัน จึงทำไม่ได้ ?
ผมไม่สามารถบอกได้ว่า ท่านนายกฯ ประยุทธ์ เปลี่ยนไปหรือไม่ ? แต่บอกได้ว่า “เรื่องการประมูลถ้ามีอะไรที่ไม่ถูกต้อง มันจะย้อนกลับมาเมื่อหมดอำนาจ”
หมายเหตุ : ข้อสงสัยดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นข้อกังขาที่ผมและประชาชนทุกคนชอบที่จะต้องขอคำชี้แจงให้สิ้นสงสัยจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ด้วยเจตนาที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้นเท่านั้นเอง