“พระเอกขี่ม้าขาว” ในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ ปีหน้า และปีต่อๆ ไป อย่างธุรกิจบริการและการท่องเที่ยว กำลังจะถูกท้าทายจาก นโยบาย “ปิดสวิทซ์ - ธุรกิจหลังพระอาทิตย์ตกดิน” จึงจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องเร่งหยุดปฏิบัติการสิ้นคิด! นี้...โดยพลัน
ธุรกิจบริการและการท่องเที่ยว...ได้ชื่อว่าเป็น “พระเอกขี่ม้าขาว” ของเครื่องยนต์เพียงไม่กี่ตัวที่เหลืออยู่ในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจไทย ยามนี้ และในอนาคตเบื้องหน้า ต่อเนื่องได้อีกหลายปี
ทว่าจู่ๆ อุตสาหกรรมบริการและท่องเที่ยวที่สร้างรายได้เข้าประเทศจำนวนมหาศาลในปี 2565 กว่า 1.5 ล้านล้านบาท จากจำนวนตัวเลขของนักท่องเที่ยวทะลุ 10 ล้านคน ไปแล้วนั้น กลับจะโดน “มือดี” เข้ามากระตุก! จนอาจกลายเป็นเรื่องเศร้า...เขย่าขวัญเศรษฐกิจไทยรอบใหม่
เรื่องนี้ มีที่มาและที่ไปอย่างไร? สำนักข่าวเนตรทิพย์...มีคำตอบ!!!
ย้อนกลับไปดูข้อมูลสำคัญที่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ในสังกัดธนาคารกรุงไทย ได้จัดทำรายงานและเผยแพร่เอาไว้เมื่อช่วงกลางเดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่ง ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย ออกมาระบุถึงการคาดการณ์ เกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยในปี 2566 ว่า...
“ปีหน้าจะเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความท้าทายในหลายด้าน ซึ่งล้วนเป็นโจทย์ใหม่ที่ยังไม่ทราบคำตอบที่แน่ชัด จึงมีความเสี่ยงใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงการเปลี่ยนผ่าน หรือเป็น Transition Risk รูปแบบหนึ่ง โดยเศรษฐกิจโลกจะเป็นการเปลี่ยนผ่านจากการฟื้นตัวไปสู่ภาวะชะลอตัวหรือถดถอยแบบไร้ตัวช่วย ทั้งนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง กรณีสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวแต่อาจไม่เกิดภาวะถดถอย เนื่องจากตลาดแรงงานยังแข็งแกร่ง ขณะที่ยุโรปเสี่ยงเผชิญภาวะถดถอยเพราะประสบกับปัญหาการขาดแคลนพลังงาน ส่วนจีนชะลอตัวจากปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์และความไม่แน่นอนภายหลังทางการผ่อนคลายมาตรการ Zero COVID เงื่อนไขเหล่านี้จะทำให้การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของประเทศหลักในปีหน้ามีความซับซ้อนและหาสมดุลได้ยาก”
สำหรับไทยนั้น ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ประเมินว่า เศรษฐกิจในปี 2566 จะขยายตัวที่ 3.4% สูงกว่าปี 2565 ที่คาดว่าจะขยายตัว 3.2% แต่ก็ต่ำกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ จากแรงกดดันของเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแรงลง กระทบต่อภาคการส่งออกซึ่งคาดว่ามูลค่าการส่งออกจะขยายตัวได้เพียง 1.2% เท่านั้น และภาวะการเงินในประเทศที่จะตึงตัวมากขึ้นจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยส่งสัญญาณถึงความต้องการให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดปรับตัวสูงขึ้นเพื่อจัดการกับเงินเฟ้อที่จะยังสูงกว่ากรอบเป้าหมายที่ 3%
สรุปให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ในปีหน้าเศรษฐกิจไทยอาจต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ พร้อมกันในหลายด้าน โดยเฉพาะปัญหาดอกเบี้ยขาขึ้น สำทับด้วยปัจจัยลบอีกหลายตัว ที่จะทำให้ “ต้นทุนการผลิตและการดำเนินชีวิตของคนไทย...แพงขึ้น” จนส่งกระทบต่อกำลังซื้อคนไทยในภาพรวม
ในข่าวร้าย...ก็พอจะมี “ข่าวดี” ให้ได้พอชื่นใจ นั่นคือ...จำนวนตัวเลขของนักท่องเที่ยวในปี 2566 ที่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS คาดการณ์ว่า...จะมีไหลกันเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากถึง 21.4 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปี 2565 และสิ่งนี้...จะช่วยสนับสนุนดุลบัญชีเดินสะพัดของให้กลับมาเกินดุล หลังจากที่วิกฤตไวรัสโควิด-19 กระหน่ำซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกมาตลอดช่วงเวลา 3 ปีที่มีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง
พูดให้ชัด! ปีหน้า...เศรษฐกิจไทยหวังได้จากภาคธุรกิจบริการและการท่องเที่ยวมากที่สุด!
ประเทศไทยโชคดีที่มี “แต้มต่อ” ในด้านการท่องเที่ยวมากมาย ไม่เพียงความสวยงามของธรรมชาติ...ทะเล ภูเขา น้ำตก ฯลฯ
หากยังมีความหลากหลายของอาหารการกิน ตั้งแต่ระดับ “สตรีทฟู้ดส์” ไปจนถึง ภัตตาคารเลิศหรูในโรงแรมระดับ 5 ดาว
นอกจากนี้ ยังจะห้องพักอาศัยที่มีให้เลือก ตามระดับราคาและคุณภาพ รวมถึงการให้บริการที่เข้าถึงจิตใจของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในราคาที่เหมาะสม
หันมองที่ความสวยงาม ความสะอาด และความเป็นระเบียบของบ้านเมือง ผสานกับระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย โดยเฉพาะระบบการคมนาคมขนส่ง ผ่านเส้นทางรถไฟฟ้าที่หลากหลาย นำพาพวกเขาเดินทางไปสู่แหล่งท่องเที่ยวและช้อปปิ้งกลางมหานครกรุงเทพฯ ได้ง่ายๆ
นี่ยังไม่รับรวมเส้นทางเดินเรือกลางลำน้ำเจ้าพระยา ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถจะชมความงดงามของ 2 ฝั่งลำน้ำ ทั้งในยามก่อนและหลังห้วงเวลาพระอาทิตย์ตกดิน
ยิ่งเป็น...อารยธรรมไทยด้วยแล้ว ไม่ว่าจะมองผ่านความเป็น...วัด วัง โบราณสถาน และบ้านเมือง (สิ่งปลูกสร้าง) ที่ผสมผสานความเก่าใหม่ ระหว่าง...อดีต ปัจจุบันและอนาคต ได้อย่างลงตัว
ทั้งหมดทั้งมวล ได้กลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน ที่สร้างความแตกต่างขึ้นในใจของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านของไทย
และสิ่งที่มักจะถูกกล่าวขาน...พูดถึงอยู่เสมอ ก็คือ “หัวใจ(คน)ไทย” ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า... “คนไทยใจดี” และ “เมืองไทยปลอดภัย”
กลายเป็น “อัตลักษณ์” ที่ยากจะหาที่ใดเสมือนได้
แม้กระทั่ง ธุรกิจที่ให้บริการแก่ลูกค้าชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตลอด 24 ชั่วโมง อย่าง...ร้านสะดวกซื้อบางแห่ง? หรือตลาดนัดขนาดใหญ่ ทั้งในยามกลางวันและกลางคืนบางที่? ต่างก็ถูกบรรดา “ยูทูบเบอร์ต่างชาติ” นำไปผลิตเป็นคอนเทนท์มากมายในหลายมุมมอง โปรโมตการท่องเที่ยวของประเทศไทย
และสิ่งนี้...ล้วนถูก “ส่งต่อ” ออกไปสู่สายตาประชาคมโลก ผ่านคลิปวีดิโอ ที่บรรดา “ยูทูบเบอร์” จากทั่วทุกมุมโลก ได้นำเสนอเรื่องราวและสิ่งดีๆ ของประเทศไทย โดยที่รัฐบาลไทย...ไม่ต้องควักจ่ายเงินสักแดงเดียว!!!
แต่จู่ๆ กลับจะมี “มือดี” (ที่อาจไม่ดีนัก) คิดจะสร้างมาตรการขึ้นมาขจัดธุรกิจบริการและการท่องเที่ยวหลังพระอาทิตย์ตกดินเสียนี่???
ด้วยเหตุผลเดิมๆ คือ ประหยัดไฟ ลดใช้พลังงานในการผลิตกระแสไฟฟ้า!!??
ทั้งๆ ที่ ประเทศไทย โดยเฉพาะเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงจังหวัดใหญ่ๆ สามารถจะสร้างรายได้จำนวนมหาศาลจากธุรกิจหลังพระอาทิตย์ตกดิน...ตลอด 24 ชั่วโมง
แต่กำลังจะถูกปฏิเสธอย่างไม่ใยดี เรื่องนี้...มันร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจไทยเลยนะวิ!!!
วิว่าไงไม่รู้? แต่คนที่รับผิดชอบต่ออุตสาหกรรมการบริการและท่องเที่ยวของไทย...ต่างรู้สึกไม่พอใจกับวิธีคิดและแนวทางปฏิบัติของ นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ที่ออกมาระบุว่า...
“แนวโน้มความต้องการใช้พลังงานขั้นต้นของประเทศในปี 2566 จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 เนื่องจากการเดินทางที่มีแนวโน้มกลับมาเป็นปกติ ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ รวมทั้งการขยายตัวของการลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ โดยคาดว่า การใช้น้ำมันจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 การใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 และการใช้ไฟฟ้าพลังน้ำและไฟฟ้านำเข้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 โดยมีปัจจัยเสี่ยง คือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศหลักที่จะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและภาคการส่งออก สถานการณ์ความไม่สงบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดและอนุญาตให้มีการเดินทางระหว่างประเทศของประเทศจีน ซึ่งกระทรวงพลังงานจะติดตามและบริหารนโยบายพลังงานในช่วงวิกฤตราคาพลังงานอย่างใกล้ชิด เพื่อหาแนวทางและมาตรการในการช่วยเหลือประชาชนในช่วงวิกฤติพลังงานต่อไป”
ผลจากการคาดการณ์ข้างต้นของ สนพ. อาจมีนัยสำคัญที่จะส่งผลไปถึงการกำหนดนโยบายบางเรื่อง ที่อาจกระทบกับธุรกิจบริการและการท่องเที่ยวของไทย โดยเฉพาะการประเมินแนวโน้มราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกที่ยังคงผันผวน อาจส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้น ทำให้ปีหน้าคนไทยยังคงต้องจ่ายค่าไฟฟ้าในอัตราที่แพงเช่นเดิม แต่ยังคงจ่ายในอัตราที่ไม่สูงเกินกว่า 5 บาท/หน่วย ซึ่งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) คงจะเคาะ 3 แนวทางการปรับขึ้นชัดเจนเร็วๆ นี้ โดยยังมีมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ
นอกจากนี้ สนพ.เตรียมเสนอแผนพลังงานชาติ (NEP) ให้กระทรวงพลังงาน รับทราบภายในเดือนธันวาคม 2565 และเปิดรับฟังความคิดเห็นในช่วงเดือนมกราคม 2566 จากนั้นจะเสนอให้ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา คาดว่าจะประกาศใช้แผนอย่างเป็นทางการช่วงไตรมาส 2/2566 โดยเบื้องต้นจะประกอบด้วยแผนพัฒนากำลังการผลิตพลังงาน (PDP 2022) ที่จะกำหนดสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนร้อยละ 50 ก๊าซธรรมชาติร้อยละ 40 ถ่านหินร้อยละ 10 ที่เหลือจะเปิดโอกาสให้พลังงานไฮโดรเจนและนิวเคลียร์ เป็นต้น
ผลจากคาดการณ์ข้างต้นนั้น กำลังจะนำไปสู่แนวคิดบางประการ ที่อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อธุรกิจบริการและภาคการท่องเที่ยวของไทย นั่น
เพราะ...ประเด็นปัญหาวิกฤตราคาพลังงานไฟฟ้านั้น ได้ทำให้หน่วยงานของรัฐ อย่าง สนพ. กำลังจะเสนอขอความร่วมมือจากภาคเอกชน เพื่อควบคุมกิจกรรมในช่วงกลางคืน
ประมาณว่า...จะเสนอให้ภาคธุรกิจบริการต่างๆ ต้องปิดกิจการในยามราตรี เพียงเพื่อจะได้ประหยัดไฟฟ้า โดยไม่มององคาพยพในมิติอื่นๆ อย่างรอบด้าน
เหตุผลที่ ผู้อำนวยการ สนพ. ยกมาให้ฟังข้างต้นนั้น ใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อ...ก็คงไม่แปลกอะไร? หากแต่ผลของมัน หากเกิดขึ้นจริง! ก็น่าส่งผลกระทบตามมาอย่างรุนแรง สมควรที่...รัฐบาลและคณะรัฐมนตรี รวมถึงทุกฝ่าย ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรจะหันมาพูดจา เพื่อหาข้อยุติให้ได้โดยเร็ว และต้องไม่ปล่อยให้สิ่งนี้...ทำลายขวัญของผู้ประกอบการ-นักธุรกิจในยามพระอาทิตย์ตกดิน เหมือนเช่นที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้
ในเมื่อข้อมูลเชิงวิชาการก็ระบุชัด! เศรษฐกิจไทยในปีหน้าและปีต่อๆ ไป ยังพอคาดหวังได้จากธุรกิจบริการและการท่องเที่ยว เพราะถือเป็น “พระเอกขี้ม้าขาว” ที่เหลืออยู่ แล้วรัฐบาล...ยังจะปล่อยให้ใครหน้าไหน? มาทำร้ายและทำลายกระนั้นหรือ?
จะว่าไปแล้ว...รัฐบาลที่เหลืออายุงานได้ไม่นานนัก ควรจะตัดสินใจให้มันชัดๆ เลยว่า...จะเอาอย่างไรกับแผนการ “ปิดสวิตซ์ - ธุรกิจหลังพระอาทิตย์ตกดิน” ตามที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงานเสนอมา
นั่นเพราะ...การหยุดกิจกรรมในช่วงกลางคืน โดยเสนอให้ปรับเปลี่ยนมาทำกิจกรรมในช่วงกลางวันนั้น จะยิ่งเป็นการเพิ่มภาระมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปรับเวลาขนส่งของจากกลางคืนเป็นกลางวัน นับว่ายิ่งเป็นการเพิ่มการจราจรบนท้องถนน ส่งผลให้มีการใช้พลังงานที่สูงขึ้น หรือหากพูดถึงอาชีพที่เกิดขึ้นในช่วงเวลากลางคืน พ่อค้าแม่ค้า ที่อาศัยแสงสว่างของร้านค้า 24 ชั่วโมงเป็นจุดตั้งขายของ ก็คงต้องปรับตัวกันถ้วนหน้า หรือถึงขั้นที่ว่าต้องหยุดค้าขายกันเลยทีเดียว หรือถ้าใครจำเป็นต้องออกไปข้างนอกตอนกลางคืน หากมีการปิดร้านสะดวกซื้อหรือซูเปอร์มาเก็ต จริงๆ เวลาเดินกลางค่ำกลางคืนคงต้องระมัดระวังมากกว่าเดิม
บทสรุปจากวิกฤตราคาพลังงาน จะกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจหลังพระอาทิตย์ตกดินจริงหรือไม่? ประเด็นนี้ น่าสนใจและทุกฝ่ายควรคิดไตร่ตรองให้รอบด้านมากกว่านี้...
การประหยัดพลังงาน โดยไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจบริการและภาคท่องเที่ยวเที่ยว ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย สามารถทำได้ง่ายๆ และเคยทำจนเห็นผลเป็นที่ประจักษ์กันมาแล้ว มิต่างจากวลีที่ว่า... แค่เราปรับ โลกก็เปลี่ยน!
จะดีกว่าไหม? หากภาครัฐ โดยเฉพาะ สพน. จะทำหน้าที่เป็น “แกนหลักสำคัญ” ในการรณรงค์เชิญชวนให้คนไทย หันมาช่วยประเทศชาติประหยัดพลังงานแบบง่าย ๆ
เพียงแค่ปรับ...นิสัยการใช้ไฟฟ้าและเลือกใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า ให้เหมาะสมกับสภาพการใช้งานจริงๆ ในแต่ละสถานการณ์ แต่ละสถานที่ และในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน
หากมองในมุมของ สำนักข่าวเนตรทิพย์ฯ แล้วล่ะก็ ขอเสนอเลย...
ใครหรืออะไรก็ตาม? ที่จะทำตัวให้เป็นปัญหาหรืออุปสรรคขัดขวางเครื่องยนต์ตัวเดียวที่พอจะเหลืออยู่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในปีหน้า...จำเป็นจะต้องแก้ไข หรือไม่ก็ต้องใช้ “อำนาจรัฐ” ขจัดออกไป!
นาทีนี้...ไม่ควรที่รัฐบาลจะเลือกใช้คนที่คิดและวางแผนในการกำหนดนโยบายหรือมาตรการใดๆ ก็ตาม ที่จะ “ซ้ำเติม” ปัญหาเศรษฐกิจ ทำลายและทำร้ายธุรกิจบริการและการท่องเที่ยว ซึ่งกำลังทำหน้าที่เป็น “พระเอกขี่ม้าขาว” อย่างเด็ดขาด!
ที่สำคัญ รัฐบาลจะต้องรีบ หยุดปฏิบัติการ “ปิดธุรกิจอาทิตย์ตกดิน” โดยเร็วและรีบทำเสียแต่บัดนี้ ก่อนที่อะไรๆ จะสายเกินไป!!!.