
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจโครงสร้างพื้นฐานประเทศไทย โพสต์ระบุว่า..หลายๆ คนน่าจะยังจำได้ เรื่องการพัฒนาเมืองใหม่ในพื้นที่ ห้วยใหญ่ บางละมุง เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ และการเงิน แห่งใหม่ของภูมิภาค โดยมีรายละเอียดล่าสุดของโครงการที่น่าสนใจ!
เป้าศูนย์ธุรกิจ EEC-เมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ
โครงการนี้ตั้งเป้าให้เป็น “ศูนย์กลางธุรกิจ และการเงินระดับภูมิภาค เป็นเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ 1 ใน 10 ของโลก ในปี 2580” ซึ่งแหล่งที่อยู่อาศัยแห่งอนาคต โดยธรรมชาติ มนุษย์ และเทคโนโลยีอยู่ร่วมกัน มุ่งสู่เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (BGC Economy) พื้นที่นวัตกรรม และคุณภาพชีวิตระดับสากลของประเทศไทย



- สถานที่ตั้งโครงการ อยู่ในพื้นที่ ตำบลห้วยใหญ่ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ริมทางหลวงสาย 331
- โดยพื้นที่ทั้งหมด 15,000 ไร่ ซึ่งในระยะแรกใช้พื้นที่ 5,795 ไร่ โดยใช้พื้นที่ สปก. โดยมีการจ่ายค่าทดแทนให้กับประชาชนในพื้นที่

ระยะทางจากจุดศูนย์กลาง สู่พื้นที่สำคัญ
- 15 กิโลเมตร จากสนามบินอู่ตะเภา
- 10 กิโลเมตร จากพัทยา
- 160 กิโลเมตร จากกรุงเทพฯ

แบ่งการจัดการพื้นที่ สีเขียว 30% และพื้นที่พัฒนา 70% โดยการจัดวางโซนพื้นที่พัฒนาเมือง ได้แก่
- ศูนย์สำนักงานภูมิภาค และศูนย์ราชการ EEC
- ศูนย์กลางการเงิน EEC
- ศูนย์การแพทย์แม่นยำ และการแพทย์อนาคต
- ศูนย์การศึกษา วิจัยและพัฒนา นานาชาติ
- ศูนย์ธุรกิจอนาคต
- ที่พักอาศัยสำหรับคนทุกกลุ่ม

การจัดการน้ำ และสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การผลิตน้ำประปา การจัดเก็บน้ำฝน และบำบัดน้ำเสียเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่
การใช้พลังงานให้คุ้มค่ามากที่สุด และเป็นเมือง Carbon Net Zero ซึ่งใช้เทคโนโลยีด้านการผลิตไฟฟ้าหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีในการลดพลังงาน เช่น การทำความเย็นเป็นพื้นที่ (Cooling District)



การเดินทางภายในพื้นที่ จะมีการวางโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมด้วยการไม่ใช้เครื่องยนต์เป็นหลัก เช่น
- รถไฟเชื่อมโยง รถไฟความเร็วสูง
- รถไฟฟ้ารางเบาในเขตพื้นที่เมืองชั้นใน
- รถเมล์ไฟฟ้า
- เรือโดยสารภายในพื้นที่โครงการ

เมืองอัจฉริยะ EEC.. สร้างงาน 200,000 คน
โครงการฯ สามารถรองรับจำนวนประชากรในพื้นที่ 300,000 คน ในทุกกลุ่มประชากร แบ่งเป็น
- พื้นที่อยู่อาศัยรายได้เริ่มต้น-ปานกลาง 70%
- พื้นที่อยู่อาศัยรายได้สูง 30% โดยสามารถสร้างตำแหน่งงานในพื้นที่ 200,000 ตำแหน่ง
ทั้งนี้ มีแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเมือง 6 ด้าน ได้แก่
1. ออกแบบเพื่อการเจริญเติบโตของเมือง อย่างยั่งยืน

2. สร้าง platform ข้อมูลเมืองอัจฉริยะ

3. สร้างระบบเทคโนโลยีความน่าอยู่อัจฉริยะ 7 ด้าน

4. สร้างสภาพแวดล้อมรองรับ เศรษฐกิจนวัตกรรม

5. สร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชน

6. สร้างธรรมาภิบาลสากล และการร่วมมือนานาชาติ

เม็ดเงินลงทุน 1.34 ล้านล้านบาท!
โครงการฯมีมูลค่าการลงทุน รวม 1.34 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ
- ภาครัฐ 2.8% (ประมาณ 38,000 ล้านบาท)
- โครงการร่วมทุน (ppp) 9.7% (ประมาณ 133,000 ล้านบาท)
- เอกชนลงทุน 87.5% (ประมาณ 1,200,000 ล้านบาท)

อย่างไรก็ตาม ถ้าโครงการนี้เกิดขึ้นได้สมบูรณ์ และครบตามแผนที่วางไว้ เราจะได้เมืองคุณภาพเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของประเทศ และจะเป็นหนึ่งในปลายทางเพื่องรองรับการเข้ามาทำงานของแรงงานคุณภาพสูงทั้งคนไทย และต่างชาติ ในอนาคตแน่นอน!
ขอบคุณข้อมูล: เพจโครงสร้างพื้นฐานประเทศไทย