
18 ม.ค.65 นี้ มีรายงานสะพัดว่า “ที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด” จะมีการประชุมเพื่อชี้ชะตา “โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม” มูลคากว่า 1.427 แสนล้าน!
โดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองจะเป็นการพิจารณาอุทธรณ์ของ “การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)” และ คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือก ต่อกรณีที่ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษา กรณีปรับเปลี่ยนแปลงเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกที่ไม่เป็นไปตามเอกสารประกวดราคา (RFP) และการที่ผู้ว่าการ รฟม. ออกประกาศยกเลิกการประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 64 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โดยศาลเห็นว่า แม้คณะกรรมการคัดเลือก และ รฟม. จะมีอำนาจสามารถกระทำได้ แต่ต้องไม่เกินขอบเขตอำนาจหน้าที่ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนฯ ประกอบกับการแก้ไขเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกดังกล่าว มาจากข้อเรียกร้องจากเอกชนผู้ซื้อซองประมูลอีกราย ศาลจึงเห็นว่า กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม การแก้ไขเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเพิ่มเติม จึงเป็นการดำเนินการที่น่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความไม่ชอบด้วยกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม รฟม. ได้อุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าว โดยยืนยันว่า ดำเนินการถูกต้อง เพราะโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเป็นโครงการขนาดใหญ่ งานก่อสร้างเป็นงานใต้ดินตลอดเส้นทางที่ต้องใช้เทคนิคชั้นสูง จึงจำเป็นต้องได้เอกชนที่มีศักยภาพเพื่อให้การดำเนินโครงการสัมฤทธิ์ผลตามเป้าหมาย
อีกทั้งผลของคดี นอกจากจะมีผลต่อการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ยังมีผลต่อคดีความอื่นๆ อีกหลายคดี โดยเฉพาะบริษัทเอกชนยื่นฟ้องฝ่ายบริหาร รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกรวม 7 คน ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งแม้ศาลจะมีคำพิพากษายกฟ้อง ด้วยเห็นว่าจำเลยทั้ง 7 คน ที่ร่วมกันมีมติเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมเอกสารประกวดราคา ทำไปตามอำนาจหน้าที่เพื่อให้รัฐได้รับประโยชน์สูงสุด แต่บริษัทเอกชนได้ยื่นอุทธรณ์คดีดังกล่าว ด้วยเห็นว่า ศาลยังไม่ได้มีคำสั่งรับคดีเพื่อดำเนินการพิจารณาเอกสารหลักฐานแต่อย่างใด
ดังนั้น คำวินิจฉัยของที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดจึงมีความสำคัญต่อชะตากรรมของรถไฟฟ้าสายสีส้ม และโครงการเมกะโปรเจ็กต์รัฐโครงการอื่นๆ ในอนาคต โดยหากศาลมีคำวินิจฉัยยืนตามคำพิพากษาศาลปกครองกลาง รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกนอกจากต้องกลับไปนับ 1 ใหม่แล้ว ผลแห่งคำพิพากษาคงทำให้ทั้งบอร์ด รฟม. ฝ่ายบริหาร และคณะกรรมการคัดเลือก อาจต้องเซ่นสังเวยความเสียหาย และความล่าช้าในการดำเนินโครงการที่เกิดขึ้น
แต่หากที่ประชุมใหญ่ของศาลปกครองสูงสุด “หักดิบ” คำพิพากษาของศาลปกครองกลางว่า การเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลคัดเลือกของคณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. เป็นเรื่องที่ “ชอบด้วยกฎหมาย” และอยู่ในอำนาจที่จะกระทำได้แล้ว คำวินิจฉัยดังกล่าวจะกลายเป็น “บรรทัดฐาน” ทางประวัติศาสตร์ที่ทำให้การประมูลโครงการรัฐใดๆ ในอนาคต หน่วยงานเจ้าของโครงการจะลุกขึ้นมาแก้ไขเกณฑ์ประมูลคัดเลือกอย่างไรหรือเมื่อใดก็ได้
ทั้งยังจะเป็น “ตราบาป” ที่ส่งผลเสียหายแก่ประเทศไป “ชั่วลูกชั่วหลาน” ไม่ต่างจากกรณี “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” ที่เคยมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 12 มี.ค.57 ต่อร่างพระราชบัญญัติเงินกู้ 2 ล้านล้าน เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขัดรัฐธรรมนูญฯ ที่มีวลีเด็ดของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญท่านหนึ่งที่ถูกจารึกเอาไว้ยันชั่วลูกชั่วหลาน..
“เอาถนนลูกรังให้หมดไปจากประเทศไทยเสียก่อน ทำสิ่งต่างๆ ให้เสร็จก่อนไปคิดถึงรถไฟความเร็วสูง ความเห็นส่วนตัวคิดว่า รถไฟความเร็วสูงยังไม่จำเป็นสำหรับประเทศไทย และเงินกู้ 2 ล้านล้านนี่คุณชัชชาติตายไปเกิดใหม่มารุ่นลูกรุ่นหลานก็ยังใช้หนี้ไม่หมดเลย ....”
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศสุดล้าหลังด้านระบบขนส่งทางราง โดยเฉพาะการลงทุน โครงการรถไฟความเร็วสูงมากระทั่งปัจจุบัน และต้องถูก สปป.ลาว ปาดหน้าเปิดให้บริการรถไฟลาว-จีนไปเรียบร้อย ขณะที่โครงการรถไฟความเร็วสูงที่ถูกรัฐบาล คสช. ปัดฝุ่นขึ้นมาดำเนินการใหม่ โดยใช้งบประมาณของรัฐในเวลาต่อมา ไม่เพียงจะแปรสภาพเป็นรถไฟฟ้าธรรมดา (ความเร็ว 160-200 กม./ชั่วโมง) ยังเป็นรถไฟฟ้า 7 ชั่วโคตร ที่ต้องรอให้ถนนลูกรังหมดประเทศเสียก่อนจึงจะเริ่มสร้างได้
ที่สำคัญคำวินิจฉัยของที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดยังมี “เดิมพัน” ของเม็ดเงินภาษีนับแสนล้านบาท ที่ประเทศชาติอาจต้องแลกมา หากกรณีการเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย และคงถูกสังคมตั้งข้อกังขาถึงคำวินิจฉัยที่ออกมา ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า คงจะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของสถาบันตุลาการโดยรวมตามมา
*แน่นอน! ประชาชนทุกคนต่างเคารพคำตัดสินของศาล และเชื่อในความเป็น “สถาบัน” แห่งความสถิตยุติธรรมที่อยู่เหนือผลประโยชน์ใดๆ ทั้งปวง!
หมายเหตุ: อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง..
-เนตรทิพย์: Special Report
ผ่าทางตัน “รถไฟฟ้าสายสีส้ม”
http://www.natethip.com/news.php?id=6253