นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า วันที่ 24 ม.ค. 66 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอ และมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ก่อนประกาศใช้บังคับต่อไป โดยร่าง พ.ร.ก. ดังกล่าว มีสาระสำคัญ ดังนี้
1. สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจ มีอำนาจแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีและธุรกรรมของลูกค้าผ่านระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูล
2. ผู้ให้บริการโทรคมนาคม มีอำนาจแลกเปลี่ยนข้อมูล และให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงาน ปปง. และหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตเข้าถึงข้อมูลที่มีการแลกเปลี่ยนได้
3. สำนักงาน กสทช. เป็นหน่วยงานจัดทำระบบฐานข้อมูลกลางเท่าที่จำเป็น เกี่ยวกับข้อมูลการลงทะเบียนผู้ใช้งาน ข้อความสั้น เพื่อใช้ในการสืบสวนสอบสวนและป้องกัน
4. ขั้นตอนในการระงับการทำธุรกรรม อาทิ
• กรณีสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจพบเหตุอันควรสงสัยเองหรือได้รับแจ้งจากเจ้าพนักงาน ให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจระงับการทำธุรกรรม แล้วแจ้งให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจที่รับโอนระงับการทำธุรกรรมต่อไปทันทีเป็นการชั่วคราว หากตรวจสอบแล้วไม่พบเหตุสงสัย ให้สามารถดำเนินการทำธุรกรรมต่อไปได้
• กรณีได้รับแจ้งจากผู้เสียหาย ให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจระงับการทำธุรกรรมและแจ้งให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจที่รับโอนระงับการทำธุรกรรมไว้ทันทีเป็นการชั่วคราว เพื่อให้ผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนภายในเวลา 48 ชั่วโมง และให้พนักงานสอบสวนดำเนินการเกี่ยวกับบัญชีและกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์นั้นภายในเวลา 7 วัน นับแต่วันได้รับแจ้ง
5. การแจ้งข้อมูลหรือหลักฐาน สามารถแจ้งผ่านทางโทรศัพท์หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้
6. กำหนดบทลงโทษ แบ่งเป็น 2 กรณี ดังนี้
1) ห้ามมิให้ผู้ใดเปิดบัญชี บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่ได้มีเจตนาใช้เพื่อตน และห้ามไม่ให้ผู้ใดยินยอมให้บุคคลอื่นใช้หรือยืมใช้ซิมโทรศัพท์ของตนในทั้งที่รู้หรือควรจะรู้ ซึ่งอาจจะนำไปใช้ในการทุจริตหรือทำผิดกฎหมาย ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2) ห้ามไม่ให้ผู้ใดเป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใดๆ เพื่อให้มีการซื้อหรือขายบัญชี บัตรอิเล็กทรอนิกส์ กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือซิมโทรศัพท์ ซึ่งอาจก่อให้เกิดการกระทำความผิดอาญา ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 200,0000 บาท ถึง 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ ร่างพระราชกำหนดดังกล่าว มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามการหลอกลวงให้ประชาชนโอนเงินโดยผ่านการติดต่อทางโทรศัพท์หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ และผู้ทำการเปิดบัญชี บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำเงินหรือทรัพย์สินมาใช้ในการกระทำความผิดอาญา โดยให้อำนาจแก่หน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแลธุรกรรมทางการเงิน สามารถระงับหรือหน่วงการทำธุรกรรมทางการเงินในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ในกรณีที่พบพฤติกรรมผิดปกติหรือเมื่อมีผู้ร้องเรียนต่อธนาคาร และให้อำนาจธนาคารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเปิดเผย เชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดออนไลน์ผ่านระบบฐานข้อมูลกลาง เพื่อใช้ในการป้องกัน ระงับ ยับยั้ง การก่ออาชญากรรมออนไลน์ รวมทั้งยกเว้นข้อจำกัดการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลข้อมูลส่วนบุคคล อันเป็นการขจัดปัญหาข้อกฎหมายบางประการที่ทำให้การบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ต้องติดขัดหรือล่าช้าไม่ทันต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาการฉ้อโกงประชาชนผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
“การจัดทำกฎหมายฉบับนี้ เป็นความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ทั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงาน กสทช. ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เป็นต้น และเชื่อมั่นว่ากฎหมายฉบับนี้ จะช่วยในการแก้ปัญหา ซิมผี บัญชีม้า และลดปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ได้อย่างแน่นอน” นายชัยวุฒิ กล่าว
ด้าน ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า หลังจากได้เข้าชี้แจง ร่าง พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ฯ ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ร่าง พ.ร.ก.ฉบับนี้ ยังต้องส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจพิจารณาก่อนประกาศใช้บังคับต่อไป