แม้ล่าสุด คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง “ป้ายทองคำ” สถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ ระบุว่า ประมูลโปร่งใสไร้ข้อกังวล..
ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ระบุว่า ข้อกังขาของป้ายราคา 33 ล้านบาท ชี้ให้เราเห็นว่าแม้โครงการขนาดเล็กก็อาจมีเงินรั่วไหล แล้วโครงการขนาดใหญ่ซึ่งยากที่จะตรวจสอบจะไม่มีเงินรั่วไหลหรือ ?
1. การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ควรขอพระราชทานชื่อสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางรางของประเทศไทย และเป็นสถานีรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ก่อนดำเนินการก่อสร้าง เพื่อลดค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อน เช่นเดียวกับ “สนามบินหนองงูเห่า” ซึ่งเป็นชื่อที่พวกเราเรียกขานกัน หรือ “ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ (New Bangkok International Airport : NBIA)” ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้สื่อสารตอนเริ่มดำเนินโครงการก่อนได้รับพระราชทานชื่อ “ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ” จากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2543 ก่อนเริ่มก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร
2. แม้ว่าผลการตรวจสอบของคณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริง การก่อสร้างในโครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อ เป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ไม่ได้ชี้ชัดว่า การเปลี่ยนป้ายชื่อมีราคาแพง แต่เป็นที่น่าสังเกตได้ว่า ถ้าราคาไม่แพง คณะกรรมการฯ คงไม่เสนอแนะให้ทบทวนราคากลาง และวิธีการประมูล ซึ่งผมเห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ
แต่เป็นที่น่ากังขาว่า “เหตุใด รฟท. จึงไม่นำแนวทางตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ มาใช้ตั้งแต่การคิดราคากลางครั้งแรก เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565 ซึ่งคำนวณได้ 33,169,726.39 บาท เพราะเป็นแนวทางที่ รฟท. รู้ดีอยู่แล้ว” ดังนี้
(1) นำตัวอักษรเดิม “สถานีกลาง” มาใช้ตามที่คณะกรรมการฯ เสนอแนะ ซึ่งผมขอเสนอแนะเพิ่มเติมว่าควรใช้ตัวอักษรเดิมอีก 2 ตัว ได้แก่ “ง” และ “อ” จากป้ายชื่อเดิม “บางซื่อ” มาใช้กับ “กรุงเทพอภิวัฒน์” ในป้ายชื่อใหม่ รวมทั้งควรนำตัวอักษรภาษาอังกฤษเดิมที่เหมือนกันมาใช้ด้วย
(2) ลดค่าออกแบบใหม่ซึ่งมีแบบเดิมอยู่แล้ว ไม่ได้ออกแบบใหม่ทั้งหมด
(3) ลดค่าใช้จ่ายในการเลือกใช้วัสดุ การรื้อถอนป้ายชื่อเดิม และติดตั้งป้ายชื่อใหม่
(4) เลือกวิธีการประมูลที่เปิดให้มีการแข่งขัน ซึ่งจะทำให้ราคาลดลงได้
เหล่านี้เป็นแนวทางที่ รฟท. ควรนำมาใช้ในการคำนวณราคากลางในครั้งแรก เพราะมีประสบการณ์ในการคิดราคากลางดีอยู่แล้ว ปัญหาราคากลางที่ถูกกล่าวหาว่าแพงก็จะไม่เกิดขึ้น แต่เหตุใดจึงไม่นำมาใช้ ?
3. การเปลี่ยนป้ายชื่อเป็นโครงการขนาดเล็กแต่มีความสำคัญ โครงการขนาดเล็กเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณต่ำ การก่อสร้างไม่ซับซ้อน ซึ่งผู้สนใจทั่วไปสามารถรู้สึกได้ว่าราคาถูกหรือแพง ต่างกับโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งต้องใช้งบประมาณสูง การก่อสร้างซับซ้อน ยุ่งยาก ดังเช่นโครงการรถไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งผู้สนใจไม่สามารถรู้สึกได้ว่าราคาถูกหรือแพง เพราะยากที่จะตรวจสอบได้ ด้วยเหตุนี้ หากโครงการขนาดเล็กมีเงินรั่วไหล แล้วโครงการขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นมากมาย เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าไม่มีเงินรั่วไหล ?
4. โดยสรุป โครงการเปลี่ยนชื่อป้ายสถานีจาก “สถานีกลางบางซื่อ” เป็น “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” ทำให้ประชาชนทุกคนได้บทเรียนราคาแพงว่า เราต้องให้ความสนใจกับการใช้งบประมาณ ซึ่งเป็นเงินภาษีของพวกเราในการประมูลทุกโครงการ