อีกเพียง 2 เดือน จะครบขวบปีแล้วนับตั้งแต่ “คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ” หรือ “กสทช.” ชุดปัจจุบันเข้าปฏิบัติหน้าที่ เมื่อ 20 เม.ย.65 หลังจากหน่วยงานของรัฐที่เป็นอิสระแห่งนี้ถูก “พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา” ใช้อำนาจ ม.44 ล้มกระดานสรรหาถึง 2 ครั้ง 2 ครา จนทำให้ กสทช.ชุดเก่าที่แม้จะครบวาระกันไปตั้งแต่ปีมะโว้ ต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่จนรากงอกร่วม 12 ปี
กว่าที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และคณะกรรมการสรรหา กสทช. จะดำเนินการสรรหา กสทช.ชุดใหม่ และนำรายชื่อฝ่าที่ประชุมวุฒิสภา “ตราป.” ออกมาได้ ก็ไม่รู้ผ่านกระบวนการต่อรองกันอีท่าไหน จึงทำให้ “กสทช.” ใหม่ที่ได้มา แทนจะเป็นองค์กรของรัฐ ที่เป็นอิสระที่เป็นความหวังของผู้คนอย่างแท้จริง กลับมีข้อสังเกตว่าได้ “ร่างทรง” ของกลุ่มทุนการเมืองที่ไหนมาบ้างก็ไม่รู้ จึงทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช.ชุดนี้สร้างความผิดหวังให้กับผู้คนอย่างมาก
ในช่วงก่อนที่ กสทช.ชุดใหม่จะเข้ามานั้น กระแส Digital disrupt ที่ถั่งโถมเข้ามายังประเทศไทยได้พลิกโฉมหน้าของตลาดสื่อสารโทรคมนาคมไปโดยสิ้นเชิง โลกโซเชียลเข้ามามีบทบาท จนผู้คนไม่อาจจะหวังพึ่ง กสทช. ประเภท ”นั่งหายใจรวยรินไปวัน ๆ” ได้อีกแล้ว แต่จะต้องได้ กสทช. ที่ก้าวทันเทคโนโลยีแห่งโลกยุคดิจิทัลยุคที่ 5 อย่างแท้จริง
ที่สำคัญ ในห้วงเวลานั้นยังมีประเด็นสุดฮอตที่กำลังเป็น Talk of the Town อยู่ก็คือ การควบรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรูคอปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็สคอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ที่ประกาศเจตนารมณ์ที่จะควบรวมธุรกิจเพื่อกรุยทางไปสู่บริษัทเทคคัมปานีในระดับภูมิภาค ตั้งแต่ปลายปี 64 โดยที่ “กสทช.รักษาการ” ก็ “ตั้งแท่น” จะไฟเขียวอนุมัติดีลควบรวมที่ว่านี้ ด้วยข้ออ้างสุดคลาสสิก กสทช.ไม่มีอำนาจที่จะพิจารณา ทำได้เพียง “รับทราบ” รายงานการควบรวมกิจการเท่านั้น
ท่ามกลางกระแสคัดค้านจากฟากฝั่งนักวิชาการ มหาวิทยาลัยและเครือข่ายภาคประชาชนจากทั่วทุกสารทิศทาง มองว่าจะก่อให้เกิดการผูกขาด ลดการแข่งขัน ลดทางเลือกของประชาชน อันจะส่งผลให้แนวโน้มอัตราค่าบริการมือถือและอินเทอร์เน็ตจะสูงขึ้นในอนาคต ประชาชนมีแนวโน้มจะถูกโขกสับอัตราค่าบริการและถูกมัดมือชกจากตลาดโทรคมนาคมที่เหลือผู้เล่นอยู่ในตลาดเพียง 2 รายเท่านั้น ทุกฝ่ายจึงได้แต่ฝากความหวังกับ “กสทช.ชุดใหม่” ที่กำลังจะเข้ามาว่า จะสามารถหยุดยั้งการควบรวมกิจการที่จะส่งผลต่อการ ”ผูกขาด-มัดมือชก” ประชาชนผู้ใช้บริการได้
แต่สุดท้ายประชาชนผู้ใช้บริการต่างต้องผิดหวังอย่างหนัก เมื่อ กสทช.ชุดใหม่ได้เผย “ทาสแท้” ขององค์กรอิสระแห่งนี้ว่า แท้ที่จริงแล้วเข้ามาทำงานเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนผู้ใช้บริการ หรือเพื่อ “สนองคุณ” กลุ่มทุนสื่อสารที่อยู่เบื้องหลังการส่งร่างทรงเข้ามาตักตวงผลประโยชน์กันหรือไม่?
ย้อนรอยปมเขื่องสะท้อนตัวตน กสทช.!
20 เม.ย. 65 คณะกรรมการ กสทช.ชุดใหม่จำนวน 5 คนได้เข้าปฏิบัติหน้าที่ ประกอบด้วย 1. ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกสทช., 2. ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์, 3. พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กสทช. ด้านกิจการกระจายเสียง , 4. นายต่อพงศ์ เสลานนท์ กสทช. ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และ 5. รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย กสทช. ด้านเศรษฐศาสตร์ (อีก 2 ราย ที่ประชุมวุฒิสภาตีกลับให้สรรหาใหม่ก่อนจะไฟเขียวเพียง 1 ราย คือ พล.ต.อ. ดร.ณัฐธร เพราะสุนทร กสทช. ด้านกฎหมาย ซึ่งเพิ่งเข้าปฏิบัติหน้าที่เมื่อปลายปี 65 ที่ผ่านมา)
ว่ากันตามภูมิหลังของ กสทช.ชุดใหม่แต่ละคนนั้นที่ล้วนแต่ระดับ “ด็อกเตอร์” ที่บ่งบอกถึงชื่อชั้น ความรู้ความเชี่ยวชาญและความสามารถที่กล่าวได้ว่า “เต็มคาราเบล” แทบไม่เคยมีองค์กรอิสระชุดใดจะเต็มไปด้วยบุคคลที่ทรงภูมิความรู้ในสามโลกได้ขนาดนี้แล้ว
แต่เกือบขวบปีที่ผ่านมาผลงานของ กสทช.ชุดดังกล่าว กลับทำให้ผู้คนได้แต่ “ส่ายหน้า” แสดงความผิดหวัง เพราะทำงานสนองคุณกลุ่มทุนสื่อสารชนิด “เต็มคาราเบล” ได้ถึงพริกถึงขิง โดยไม่เห็นหัวประชาชนผู้บริโภคแม้แต่น้อย และยัง ”บอนไซ” องค์กรอิสระของตนเองชนิด “มีก็เหมือนไม่มี”
แม้ในทันทีที่ กสทช.ชุดใหม่เข้ามาจะสั่งระงับกระบวนการพิจารณาดีลควบรวม “ทรู-ดีแทค” ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนอยู่เวลานั้น ก่อนสั่งให้ สำนักงาน กสทช. ว่าจ้างที่ปรึกษาอิสระทั้งในและต่างประเทศขึ้นศึกษารวบรวมผลกระทบจากดีลควบรวมอย่างละเอียด ทั้งยังตั้งอนุกรรมการอีก 4 ชุด ขึ้นดำเนินการศึกษาและรวบรวมผลกระทบในเชิงลึกในทุกมิติ รวมถึงการเปิดรับฟังความเห็นสาธารณะ หรือ “โฟกัสกรุ๊ป” ถึง 3 ครั้ง ส่งเรื่องให้คณะที่ปรึกษาด้านกฎหมายของ กสทช. ที่ล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญในระดับชาติที่หาตัวจับได้ยากในสามโลก และใช้เวลาในการพิจารณาดีลควบรวมครั้งประวัติศาสตร์นี้ชนิดที่เรียกว่า แวดวงสื่อสารโทรคมนาคม และองค์กรเพื่อผู้บริโภคทั้งหลายแหล่ต่างก็เชื่อแน่ว่าคงจะฝากผีฝากไข้ไว้กับ กสทช.ชุดนี้ได้อย่างแน่นอน
ที่ไหนได้ หลังจาก กสทช. “เล่นเอาเถิด” กับรายงานผลศึกษาที่ได้รับ สั่งให้สำนักงานกลั่นกรองและดำเนินการศึกษาเพิ่มเติมในทุกมิติอีกร่วม 6 เดือน จนได้ข้อมูลข้อสรุปที่น่าเชื่อว่าเพียงพอที่จะตัดสินใจให้สะเด็ดน้ำเสียที แต่บอร์ด กสทช. กลับเล่นเอาเถิดกับการซื้อเวลา และ “วิ่งพล่าน” หาทางตีความในอำนาจขององค์กรตนเองว่ามีอำนาจที่จะพิจารณาดีลควบรวมครั้งประวัติศาสตร์ที่ว่านี้หรือไม่? แม้กระทั่งการดิ้นพล่านขอให้ คณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งเป็นที่ปรึกษากฎหมายของรัฐได่เข้ามาให้ความเห็นต่ออำนาจของ กสทช.ในการพิจารณาดีลควบรวมธุรกิจที่ว่านี้
ท่ามกลางข้อกังขาของผู้คนในสังคมว่า เบื้องหลังการ “เล่นเอาเถิด” ตีความอำนาจของตนเองที่มีอยู่คืออะไรกันแน่? ทั้งที่ กสทช.เอง ก็รู้อยู่เต็มอก คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ได้มีหน้าที่ให้ความเห็นด้านกฎหมายกับหน่วยงาน/องค์กรอิสระ แต่เป็นที่ปรึกษากฎหมายของรัฐเท่านั้น แถมองค์กร กสทช.เอง ยังมี “คณะที่ปรึกษากฎหมาย” ที่กอปรด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ทั้งอดีตประธานศาลฎีกา อดีตคณะบดีนิติศาสตร์ มธ. รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญกฎหมายเลื่องชื่ออยู่เต็มลำเรือ ทั้งยังมีคำพิพากษาศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 65 ที่มีคำสั่งให้ยกคำร้องขอทุเลาประกาศ กสทช. ตามที่มีผู้ร้อง โดยเห็นว่า ประกาศ กสทช.ว่าด้วยมาตรการควบรวมฯ ปี 2561 ประกอบประกาศ กสทช. (กทช.) ว่าด้วยมาตรการป้องกันการผูกขาด ปี 2549 ได้ “ให้อำนาจ กสทช.” ที่จะพิจารณา “อนุมัติ” หรือไม่อนุมัติการขอควบรวมธุรกิจได้อยู่แล้ว อันเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นถึง “อำนาจเต็มคาราเบล” ที่ กสทช.มีอยู่
แต่ที่ประชุม กสทช. นัดพิเศษเมื่อ 20 ต.ค.65 กลับ “หักดิบ” รายงานผลศึกษาและรายงานของคณะอนุกรรมการที่ตนเองสั่งตั้งขึ้นมาทุกชุดโดยสิ้นเชิง และมีมติ “ไฟเขียว” ดีลควบรวมฯ แบบช็อคซีนีม่า ด้วยข้ออ้างที่ว่า ...การรวมธุรกิจในกรณีทรู-ดีแทค ไม่เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันตามข้อ 8 ของประกาศ กทช.ฯ ปี 49 จึงเห็นควรให้พิจารณาดำเนินการตามประกาศ กสทช. ว่าด้วยมาตรการควบรวมฯ ปี 2561 โดย “รับทราบ” รายงานการรวมธุรกิจ กับมีอำนาจในการกำหนดเงื่อนไขและนำมาตรการเฉพาะตามข้อ 12 ของประกาศฉบับปี 2561 มาใช้เท่านั้น
ไม่เพียงจะเป็นการ “หักดิบ” รายงานผลศึกษาของอนุกรรมการทั้งหลาย รวมทั้งบรรดาข้อโต้แย้งของนักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัยและเครือข่ายในภาคประชาชนทั้งสามโลกโดยสิ้นเชิง! ยังก่อให้เกิดคำถาม การที่ กสทช.ตัดสินใจไฟเขียว “ดีลควบรวม”แบบช็อคโลกเช่นนี้ แล้วจะผลาญงบประมาณไปนับ 100 ล้านบาท เพื่อจัดตั้งอนุกรรมการศึกษา เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ และจัดจ้างที่ปรึกษาอิสระทั้งในและต่างประเทศไปทำซากอะไร? หากไม่นำพาต่อข้อมูลเหล่านั้นมาประกอบการพิจารณาแม้แต่น้อย!
มติบอร์ด กสทช. ที่ออกมาข้างต้น ยังก่อให้เกิดคำถามถึง กสทช.ชุดนี้ ทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือเป็น ”ร่างทรง” ของกลุ่มทุนสื่อสารที่อยู่เบื้องหลังการส่งตัวแทนเข้ามาเป็น “ร่างทรง” เพื่อปกป้องผลประโยชน์ตนเองหรือไม่?
ใครเป็นใครใน กสทช.
ผลพวงจาก “มติอัปยศ” กสทช.ข้างต้น ยังทำให้สังคมเริ่มมีคำถาม ตัวแทนในแต่ละภาคส่วนที่ได้รับการสรรหาเข้ามาเป็น กสทช.ในแต่ละด้านนั้นเป็นใคร มีภูมิหลังการทำงานอย่างไร ซึ่งการจะตอบคำถามนี้ คงต้องย้อนไปดู “มติ กสทช.” ต่อการไฟเขียวดีลควบรวมครั้งประวัติศาสตร์ดังกล่าวที่ออกมา 2-2-1 ก่อนที่ประธาน กสทช. จะใช้สิทธิ์ในฐานะประธานออกเสียงเบิ้ลชี้ขาดในฐานะประธานอีกครั้งแบบม้วนเดียวจบ เพราะถือเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็น “ตัวตนที่แท้จริง” ของ กสทช. แต่ละคนได้เป็นอย่างดี
ไล่มาตั้งแต่ 1. ประธาน กสทช. ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ได้รับการสรรหาเข้ามาในสายคุ้มครองผู้บริโภค (แต่กลับทำงานตรงกันข้าม) การที่ประธาน กสทช. ออกหน้าลงมติเพื่อกระเตงดีลควบรวมทรู-ดีแทคสุดลิ่มทิ่มประตูชนิดที่ “ช้างก็รั้งไม่อยู่” ในครั้งนี้ เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นถึงการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน และคุ้มครองผู้บริโภคหรือไม่อย่างไรนั้น การที่องค์กรเพื่อผู้บริโภคออกมาร้องแรกแหกกระเชอ และถึงขั้นลุยฟ้อง กสทช. ต่อกรณีดังกล่าวเป็น “คำตอบในตัวเอง” อยู่แล้ว
2. พล.อ.ท.ดร.ธนพันธ์ หร่ายเจริญ อดีตรองเลขาธิการ กสทช. ที่เข้ามาในโควตาด้านกิจการกระจายเสียง ถือเป็นลูกหม้อ กสทช. ที่น่าจะมีความรู้ความเข้าใจในบริบทกิจการสื่อสารโทรคมนาคม และองค์กรของตนเองได้เป็นอย่างดี แต่การที่เจ้าตัวขอ “งดออกเสียง” ทั้งที่รู้ตื้นลึกหนาบางเรื่องราวต่าง ๆ เป็นอย่างดีนั้น ก็ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า เป็นเพราะมีอะไรมาบังตา หรือเป็นเพราะ “น้ำท่วมปาก” กันแน่!
3. ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต อดีตคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ที่ได้ชื่อว่ามีประสบการณ์ด้านสื่อสารมวลชนและสื่อใหม่ Multimedia เข้ามาด้านกิจการโทรทัศน์ เป็น 1 ใน 2 กสทช. เสียงข้างน้อย ที่จัดทำบันทึกและออกแถลงการณ์ ไม่ขอร่วมสังฆกรรมกับการไฟเขียวดีลควบรวมกิจการที่ว่านี้ โดยระบุว่าเป็นการ “ถือครองธุรกิจประเภทเดียวกัน” ซึ่งสามารถส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางในตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในแง่การลด หรือจำกัดการแข่งขัน การคุ้มครองผู้บริโภค
4. รศ.ดร.สุภัช ศุภชลาศัย อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. เป็นผู้ที่สั่งให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการศึกษาเพิ่มเติม รวมทั้งต้องแสวงหาข้อมูลรายงานผลการศึกษาเพิ่มเติมอย่างถึงพริกถึงขิง ทั้งยังเป็น 1 ใน 2 กสทช. เสียงข้างน้อย ที่ทำหน้าที่คัดค้านดีลควบรวมกิจการอย่างถึงพริกถึงขิง แต่ท้ายที่สุดก็ต้านแรงกดดันให้ต้องไฟเขียวดีลควบรวมกิจการที่ว่านี้ได้
5. นายต่อพงศ์ เสลานนท์ อดีตที่ปรึกษาประจำ รองประธาน กสทช. และมีประสบการณ์ที่ทำงานเพื่อผู้พิการมาโดยตลอด เข้ามาในโควตาด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ตามประวัติก่อนหน้าไม่ถึงปี เจ้าตัวเพิ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็น 1 ใน 7 “คณะที่ปรึกษาความยั่งยืน” โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) อีกธุรกิจสุดบิ๊กบึ้มในเครือกลุ่มทุนใหญ่ ก่อนจะลาออกมาสมัครเข้ารับการสรรหา กสทช.ชุดนี้ จึงไม่แปลกที่เจ้าตัวจะทำหน้าที่ปกป้องรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภคเป็น “อันดับรอง”
6. สำหรับ พล.ต.อ.ดร.ณัฐธร เพราะสุนทร กสทช. คนล่าสุด ที่เพิ่งเข้ามาปฏิบัติหน้าที่เมื่อ 20 ต.ค.65 นั้น เป็นอดีตที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และที่เข้ามาในโควตาด้านอื่นๆ ที่ยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. (กฎหมาย) ซึ่งตามประวัตินั้น ยังไม่ปรากฏว่า มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายแต่อย่างใด แต่เติบโตมาในสายงานตำรวจ และเติบโตในตำแหน่งสุดท้ายคือผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และเคยสมัครเข้ารับการสรรหา กสทช. สายงานคุ้มครองผู้บริโภค แต่ไม่ได้รับการคัดสรร จนเมื่อที่ประชุมวุฒิสภาสั่งให้ดำเนินการสรรหา
พล.ต.อ.ดร.ณัฐธร จึงย้ายมาสมัครเข้ามาเข้ารับการสรรหาในด้านอื่น ๆ ก่อนได้รับการสรรหาเข้ามาแบบม้วนเดียวจบ ท่ามกลางความงวยงงของผู้สมัครอื่นๆ ที่ไม่ได้รับการสรรหา ทั้งที่มีภูมิหลังการศึกษาทางด้านกฎหมายโดยตรง
หลังจากนั้นการทำหน้าที่ของ กสทช. ชุดนี้ก็เต็มไปด้วยการชิงไหว ชิงพริบ หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับบริษัทสื่อสารโทรคมนาคมแล้ว เป็นต้องได้เห็นเกณฑ์การชิงไหว ชิงพริบ ต่อรองกันอย่างถึงพริกถึงขิงกว่าจะผ่านแต่ละซีนออกมาได้