สังคมยังคงเต็มไปด้วยข้อกังขา.....
คำสั่ง ม.44 ที่ 72/2559 ลงวันที่ 13 ธ.ค. 2559 ของ “พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา” นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่สั่งยุติการทำเหมืองแร่ในประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2560 เป็นต้นไป ด้วยข้ออ้างสร้างปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และความมั่นคง
เป็นสาเหตุที่ทำให้วันนี้ รัฐบาลไทยต้อง “ตกเป็นเบี้ยล่าง” ให้กลุ่มทุนข้ามชาติ อย่างบริษัท Kingsgate Consolidated ออสเตรเลีย บริษัทแม่ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เจ้าของเหมือนทองที่ถูกคำสั่งปิดและได้ลุกขึ้นมาฟ้อนเงี้ยวยื่นฟ้องรัฐบาลไทยต่อ “อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ” เพื่อเรียกค่าเสียหายกว่า 30,000 ล้านบาท
จนนำมาซึ่งการที่รัฐบาลไทยและกระทรวงอุตสาหกรรมต้องกล้ำกลืนและยอมเปิดสัมปทานเหมืองแร่ และประเคนสัมปทานการสำรวจและทำเหมืองให้แก่บริษัทเกินกว่าที่ควรจะเป็นและโดยเฉพาะการอนุมัติโรงงานถลุงแร่ให้แก่เอกชนรายนี้จน “สำลัก” หรือไม่???
เพราะมีกระแสข่าวสะพัดมาตั้งแต่กลางปี 2563 ต่อเนื่องมายังปี 64 ว่าประเทศไทยพ่ายคดีพิพาทดังกล่าว จะต้องชดเชยความเสียหายให้แก่เอกชนจนมีกระแสเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ ในฐานะผู้ออกคำสั่งดังกล่าวรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วยตนเอง เพราะเป็นการออกคำสั่ง ม.44 โดยไม่ได้พิจารณาถึงผลกระทบที่จะมีตามมา อีกทั้งที่ผ่านมาเจ้าตัวยังประกาศพร้อมจะรับผิดชอบด้วยตนเองมาโดยตลอด !
แต่จนถึงวันนี้คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการฯดังกล่าวก็ยังไม่ออกมา ท่ามกลางกระแสข่าวที่ว่ารัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรม มีการ “สุมหัว” ประเคนผลประโยชน์ตามข้อเรียกร้องของบริษัทคิงส์เกต เพื่อหวังจะปิดคดีพิพาท ที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ เสียรังวัด จนถึงขั้นที่มีกระแสข่าวว่า เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ ”บิ๊กตู่” ไม่สามารถจะก้าวลงจากหลังเสือได้ เพราะไม่ต้องการให้ถูกขุดคุ้ยเรื่องนี้ จึงต้องพยายามหาทาง “ปิดประตูลั่นดาน” คำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศที่ว่านี้ ไปตลอดศก!!!
ปริศนาอนุญาโตฯ เลื่อนอ่านคำวินิจฉัย
น่าแปลก! ที่ “คณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ” ได้เลื่อนอ่านคำวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทคดีเหมืองทองคิงส์เกตที่ว่านี้ออกไปครั้งแล้วครั้งเล่า ท่ามกลางกระแสวิพากษ์หนาหูว่า การที่รัฐบาลตั้งคณะทำงานเจรจา “เกี้ยเซี๊ยะ” กับทางบริษัทคิงส์เกต โดยยอมแลกผลประโยชน์จากการเปิดสัมปทานเหมืองระลอกใหม่ และต่อประทานบัตรการทำเหมืองให้แก่บริษัทอัครารีซอร์สเซสจนแทบจะ ”สำลัก” นั้น เพื่อแลกกับการให้บริษัทถอนฟ้องคดี !
แม้ผู้หลักผู้ใหญ่ในรัฐบาลจะดาหน้าออกมาปฏิเสธ ยืนยันไม่มีการ “เกี้ยเซี๊ยะ” เจรจาต่อรองใด ๆ แต่ เมื่อวันที่ 19 ม.ค.65 ก่อนการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ก็มีข่าวสุดช็อคที่ทำให้ประชาชนคนไทยและผู้ที่เฝ้าติดตาม “ค่าโง่เหมืองทองคิงส์เกต” ได้ฮือฮา ก็คือ กรณีที่บริษัทคิงส์เกต ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ของออสเตรเลียเองว่า บริษัทได้บรรลุผลเจรจากับรัฐบาลไทยในการต่อใบอนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่ 4 แปลง และต่อใบอนุญาตการทำเหมืองแร่และอุตสาหกรรมโลหการ รวมทั้งเงื่อนไขอื่น ๆ ที่ยังประโยชน์ต่อการเจรจาข้อพิพาท
แต่แถลงการณ์ของบริษัทคิงส์เกตข้างต้น ไม่เพียงจะกลายเป็น “โมเมนตั้ม” ที่ทำให้รัฐบาลกลืนไม่เข้า คายไม่ออก ยังเพิ่ม “ข้อกังขา” ให้กับสังคมมากขึ้นไปอีกว่า กำลังดำเนินการในทุกวิถีทางเพื่อประวิงเวลาไม่ให้อนุญาโตตุลาการได้แถลงคำวินิจฉัยข้อพิพาทที่ว่านั้นออกมา
ข้อมูลล่าสุด เท่าที่ทุกฝ่ายได้สดัปรับฟังมาในช่วงที่พรรคฝ่ายค้านได้ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเมื่อต้นปี 64 ต่อเนื่องมายังปี 65 นั้นก็คือ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ขยายกรอบวงเงินงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างไทย กับบริษัทคิงส์เกตฯ ในช่วงปีงบประมาณ 2560-64 จากเดิม 731.13 ล้าน เป็น 796.67 ล้านบาท และปรับกรอบระยะเวลาดำเนินการมาเป็นปี 2560-66
ขณะที่มีกระแสข่าวว่า คณะทำงานเจรจาฝ่ายไทยและคิงส์เกตได้ทำความตกลงร่วมกันจำนวน 11 รายการ ที่นัยว่า เป็นแนวทางในการยุติข้อพิพาทที่เกิดขึ้น และถือเป็นใบสั่งที่ “คิงส์เกต” กำลังรุกไล่ขี่คอรัฐบาลไทยอยู่เวลานี้ อาทิ 1. การให้ใบอนุญาต และคำขอใบอนุญาตที่จำเป็นในเหมืองทองชาตรี 2. การต่ออายุการอนุมัติคำขอใบอนุญาตการสำรวจที่สำคัญ 3. การให้สิทธิและการลดหย่อนภาษีจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน การเข้าถึงเงินทุน เพื่อการพัฒนาสำหรับการปรับปรุงการขยายเหมือง 4. การพัฒนาโรงงานผลิตทองคำในท้องถิ่นของไทยที่ได้รับการรับรองระดับสากล 5. การสนับสนุนจากรัฐบาลไทยในการนำบริษัท อัคราฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และ 6. การแก้ไขปัญหาทางกฎหมายในท้องถิ่นทั้งหมด
ด้วยเหตุนี้ การที่รัฐบาลไทยได้ออกอาชญาบัตรสำรวจเหมืองแร่ในพื้นที่ 4 แสนไร่ ที่กระทรวงอุตสาหกรรมให้ไปแล้ว และยังมีพื้นที่สำรวจเหมืองอีกเกือบ 6 แสนไร่ ที่คาดว่าจะได้รับการอนุมัติตามมา จนก่อให้เกิดคำถามว่า เป็นไปได้อย่างไรที่คดีพิพาทเหมืองทองเดิมซึ่งมีพื้นที่พิพาทเพียง 3 พันไร่ ที่ยังไม่ได้ข้อยุติ แต่ขณะนี้นอกจากบริษัทคิงส์เกตและอัคราฯ จะได้พื้นที่เดิมคืนไปแล้ว ยังได้สิทธิการสำรวจแหล่งแร่เพิ่มเติมไปอีกพะเรอเกวียน!
ประเคนผลประโยชน์ “คิงส์เกต” จนสำลัก!
สิ่งที่สังคมต่างตั้งข้อกังขา รัฐบาลกำลังให้ประเคนประโยชน์แก่ “คิงส์เกต” เกินไปกว่าข้อพิพาทหรือไม่? โดยหากพิจารณาสิ่งที่รัฐบาลให้แก่บริษัทไปก่อนหน้าในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา อันประกอบด้วย
1. บริษัทคิงส์เกต ออสเตรเลีย ได้รับอนุญาตให้กลับมาทำเหมืองบนแหล่ง “ชาตรี” เดิมทั้งหมด 5 แปลง พื้นที่ 1,259 ไร่ และใน "แหล่งชาตรีเหนือ" ที่ยังเหลืออีก 8 แปลงจากทั้งหมด 9 แปลง พื้นที่ 2,466 ไร่ รวมทั้งรัฐยังขยายอายุประทานบัตรแหล่งชาตรีที่หมดอายุเมื่อปี 63 หรือต่ออายุประทานบัตรให้กับแหล่งชาตรีไปอีก 10-20 ปี พร้อมขยายอายุประทานบัตรแหล่งชาตรีเหนือที่จะหมดอายุประทานบัตรในปี 2571 ให้ด้วยอีกจากการเสียโอกาสไม่ได้ทำเหมืองจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 72/2559 ลงวันที่ 13 ธ.ค.59 ที่สั่งยุติการทำเหมืองทองทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2560
2. บริษัทจะได้รับอนุญาตให้ทำเหมืองแร่ในพื้นที่ใหม่ ที่รัฐอ้างว่าเป็นคำขอประทานบัตรที่ค้างมากว่าสิบปี ตามข้อมูลที่ บ.คิงส์เกตฯ แถลงต่อตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย กล่าวคือ "แหล่งสุวรรณ" ซึ่งอยู่ห่างจากแหล่งชาตรีขึ้นไปทางเหนือ 6-10 กิโลเมตร บนพื้นที่ประมาณ 20 ตารางกิโลเมตร หรือ 12,500 ไร่ ที่อยู่ในเขต ต.วังโพรง อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก และ "แหล่งโชคดี" อยู่ห่างจาก "แหล่งชาตรี" ขึ้นไปทางเหนือ 20 กิโลเมตร บนพื้นที่ประมาณ 18,750 ไร่ ในเขต ต.บ้านมุง และ ต.วังยา อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก
3. บริษัทยังได้รับการต่ออายุใบอนุญาตต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการทำเหมืองทองตามประทานบัตรแหล่งชาตรีและแหล่งชาตรีเหนือ เช่น ใบอนุญาตประกอบโลหกรรม ใบอนุญาตจัดตั้งสถานที่เพื่อการเก็บขังน้ำขุ่นข้น หรือมูลดินทรายนอกเขตเหมืองแร่ เป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็นการ "กระทำผิดให้เป็นถูก" ด้วยคือ อนุญาตให้โรงประกอบโลหกรรมขยายการถลุงแร่ทองคำเพิ่มอีกสามเท่า จาก 8,000 ตันต่อวัน เป็น 24,000 ตันต่อวัน ทั้งที่โรงงานแห่งนี้สร้างก่อนได้รับอนุญาต และก่อนจะได้รับรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA)จะผ่านความเห็นชอบ และยังคงเป็นคดีความอยู่ในศาลปกครองสูงสุด หลังศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งระงับการขยายโรงงานเอาไว้ก่อนหน้า
4. บริษัทจะต้องได้รับการลดหย่อนค่าภาคหลวงแร่ ผลประโยชน์พิเศษที่จะต้องมอบให้แก่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เมื่อได้ประทานบัตรและเมื่อได้ภาษีอื่น ๆ ซึ่งล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 2 ส.ค.65 ได้ให้ความเห็นชอบนโยบายด้านอุตสาหกรรมเหมืองแร่ และอุตสาหกรรมต่อเนื่องระยะแรก และสั่งให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI), กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ร่วมกันพิจารณาปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ด้วยการกำหนดสิทธิประโยชน์ให้เหมาะสมกับการฟื้นฟูอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในประเทศอีกครั้ง
แต่เดิมนั้น บีโอไอ ได้ให้การส่งเสริมการลงทุนในหมวด 2 แร่เซรามิกและโลหะขั้นมูลฐานใน 2 ประเภทกิจการได้แก่ กิจการสำรวจแร่ กับ กิจการทำเหมืองและ/หรือแต่งแร่โพแทช โดยได้สิทธิประโยชน์ Activity-based Incentives อยู่ในกลุ่ม B1 ที่ให้ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรเท่านั้น
แต่ครั้งนี้ บีโอไอจะให้การส่งเสริมการลงทุนถึง 3 ประเภทกิจการ คือ กลุ่มกิจการสำรวจแร่, กลุ่มกิจการทำเหมืองแร่และ/หรือแต่งแร่ กับ กลุ่มกิจการถลุงแร่หรือประกอบโลหกรรม และมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่จะได้รับยังจ่อมากกว่าสิทธิประโยชน์ในกลุ่ม B1 ที่ได้เฉพาะการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรเท่านั้น โดยมีความเป็นไปได้ว่า สิทธิประโยชน์ใหม่จะขยายไปถึงการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามเงื่อนไขและจำนวนปีที่ลดหลั่นกันลงไปด้วย
“คิงส์เกต” ยังถือไพ่เหนือกว่าอีกหลายขุม?
“เป็นที่น่าสังเกตว่า การปรับปรุงสิทธิประโยชน์ของบีโอไอตามนโยบายของรัฐบาลในครั้งใหม่ ยังจะขยายครอบคลุมไปถึงอุตสาหกรรมต้นน้ำของการทำเหมืองแร่ เกิดขึ้นท่ามกลางการเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการทำเหมืองแร่รายใหญ่ 2 ราย คือ การกลับมาทำเหมืองแร่ทองคำของ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส ซึ่งได้รับการต่ออายุประทานบัตรและอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ไปแล้วก่อนหน้า ขณะนี้บริษัทกำลังอยู่ระหว่างการยื่นคำขอใหม่ตามกระบวนการและเงื่อนไขของ พ.ร.บ.แร่ 2560 (ฉบับใหม่)รวมถึง เตรียมยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ใน 3 ประเภทกิจการที่จะออกมาใหม่ด้วย”
หากจะถามว่า สิ่งที่บริษัทคิงส์เกตุและอัคราไมนิ่งได้ไปในขณะนี้เพียงพอที่จะยุติคดีพิพาทแล้วหรือไม่ แหล่งข่าวในวงการอุตสาหกรรม กล่าวว่า ยังคงมีอีกหลายเรื่องที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการเพื่อให้คิงส์เกตพอใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการยุติคดีความต่าง ๆ ที่หน่วยงานภาครัฐมีอยู่กับบริษัท ที่จะต้องปิดคดีความไปทั้งหมด
นอกจากนี้ ยังมีกรณีการนำบริษัท อัครารีซอร์สเซสฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย โดยไม่ต้องทำตามขั้นตอนของกฎหมายเพิ่มเติม ซึ่งยังคงเป็นเรื่องที่รอความชัดเจนจากรัฐลบาลในการตอบสนองในเรื่องนี้
แหล่งข่าวกล่าวว่า คำตัดสินของอนุญาโตตุลาการ ออกมาตั้งแต่กลางปี 63 แล้ว แต่ถูกปิดผนึกไว้ในซอและส่งไปยังสิงคโปร์ แต่อนุญาโตตุลาการได้มีคำแนะนำคู่กรณีทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะกับรัฐบาลไทยในเวลานั้นว่า หากต้องการประนีประนอม ทั้ง 2 ฝ่ายอาจไปเจรจาทำความตกลงประนีประนอมกันได้ โดยไม่ต้องเปิดซองคำตัดสิน ดังนั้นหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอคำตัดสินก็สามารถเปิดซองออมาได้เลย
ในส่วนของรัฐบาลนั้น ไม่ต้องการให้เปิดซองคำวินิจฉัยฯ เพราะรู้อยู่เต็มอกว่า หากเปิดออกมา พล.อ.ประยุทธ์ จะเผชิญกับวิบากกรรมครั้งใหญ่ เพราะเคยลั่นปากเอาไว้ตั้งแต่ต้นว่าจะรับผิดชอบในความเสียหายที่จะเกิดขึ้นอีก ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระหลายหน่วยงานได้พยายามกันนายกฯออกไปจากความรับผิดชอบเรื่องนี้ แต่ยิ่งทำก็ยิ่งทำให้นายกฯ ปัดสวะไม่พ้นตัว จึงทำให้รัฐบาลต้องหาทางปิดเกมเรื่องนี้ก่อน พล.อ.ประยุทธ์ จะลงจากหนังเสือ
“บริษัทคิงส์เกตรู้ว่า ตนเองถือไพ่เหนือกว่า จึงรุกไล่บีบให้รัฐบาลไทยต้องสนองตอบข้อเรียกร้องต่าง ๆ เช่น เราเคยประกาศออกมาว่า จะไม่ให้ BOI แก่โครงการเหมืองแร่ ตอนนี้ก็ได้ BOI กลับคืนมาแล้ว ต่อไปจะขอให้ ก.ล.ต.ไทยอนุมัติให้เหมืองอัคราฯ สามารถเข้าตลาดหลักทรัพย์ และยุติคดีความต่างๆ ที่รัฐหรือประชาชนฟ้องร้องเหมืองทองอัคราฯ ก็จะต้องดำเนินการถอนฟ้อง หรือทำให้คดีความเอื้อให้บริษัทสามารถชนะคดีความต่างๆ ที่ปัจจุบันได้ให้”
แฉ “บิ๊กตู่” ควานหาแพะร่วมแบกรับ “ค่าโง่”
มีรายงานในเชิงลึกออกมาแฉโพยว่า ก่อนที่พลเอกประยุทธ์จะลงนามในคำสั่ง ม.44 ยุติการทำเหมืองแร่ทองคำอัคราฯ เมื่อปี 60 นั้น มีกลุ่มคัดค้านเหมืองแร่ 5 จังหวัด รวม 30 คน เข้ายื่นหนังสือถึงนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ในขณะนั้น เพื่อให้ตรวจสอบผลการดำเนินการของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กรณีเหมืองแร่ทองคำ ในพื้นที่พิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก โดยอ้างมีการทุจริตเรียกรับผลประโยชน์แลกกับการเปิดเหมือง
ก่อนที่จะเผยแพร่เอกสารข่าวเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 58 ระบุว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีทุจริตในการทำเหมืองแร่ทองคำพื้นที่จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ โดยมี ศ.พิเศษ วิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.(ขณะนั้น) เป็นประธานฯ และคณะอนุกรรมการได้มีมติเมื่อ 11 มี.ค.63 ชี้มูลความผิด นายสมเกียรติ ภู่ธงชัยฤทธิ์ อดีตอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กับพวกรวม 6 ราย กรณีอนุญาตให้บริษัทอัคราฯ เปลี่ยนผังโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีโดยมิชอบ เอื้อประโยชน์ให้เอกชน ก่อนส่งสำนวนให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาสั่งฟ้องคดีต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเมื่อวันที่ 2 พ.ย.64
“กรณีดังกล่าวนั้น มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางว่า เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการหาแพะรับบาป หากผลชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการออกมา ตนเองต้องแบกรับความรับผิดชอบเต็มตัว จึงหวังดึงเอาข้าราชการที่เกี่ยวข้องเข้ามาเป็นแพะ ทั้งที่เป็นการอนุมัติเปลี่ยนผังโครงการทำเหมืองที่ว่านั้น เกิดขึ้นตั้งแต่ปีมะโว้ (ปี 2543-49) แล้ว และใช้อำนาจองค์กรอิสระเป็นเครื้องมือในการตั้งอนุกรรมการไต่สวนและชี้มูลความผิดภาทยในระยะเวลาไม่ถึงปี ก็สั่งฟ้องทันที ทั้งที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้อง แต่ ป.ป.ช. กลับไม่เห็นด้วย ท้ายที่สุดศาลอาญาคดีทุจริตฯ ได้มีคำสั่งยกฟ้องข้าราชการเหล่านี้ เมื่อวันที่ 23 ก.พ.65 ที่ผ่านมา และข้าราชการกลุ่มนี้ยังคงผูกใจเจ็บหากมีโอกาสก็เชื่อแน่ว่าคงจะหาทางเอาคืนพล.อ.ประยุทธ์ ที่ใช้อำนาจกลั่นแกล้งข้าราชการเพื่อหาแพะรับบาปแทนตนแน่”
ถึงวินาทีนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผลพวงจากการออกคำสั่ง ม.44 ของอดีตหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่อการปิดเหมืองทองอัคราในครั้งนั้น ไม่ว่าจะอ้างเหตุใด ก็ทำให้ประเทศชาติต้อง “สำลักค่าโง่เหมืองทองคำ” ไปแล้วเป็นมูลค่ามากกว่า 30,000 ล้านบาทแน่