ไม่เพียงประเทศไทยจะได้ชื่อว่า เป็นประเทศที่มีปริมาณรถมอเตอร์ไซค์ “มากที่สุดของโลก” จากการจัดอันดับประเทศที่มีการใช้มอเตอร์ไซค์ของ world Atlas ล่าสุด ที่ระบุว่า 58 เปอร์เซ็นต์(%) ของรถมอเตอร์ไซค์ที่ใช้กันอยู่ทั่วโลกนั้น กระจุกตัวอยู่ในภูมิภาค “เอเชียแปซิฟิก”
และประเทศไทยเรามีปริมาณมอเตอร์ไซค์ต่อครัวเรือนมากที่สุดของโลก ด้วยสัดส่วน 87% แซงหน้าเวียดนามที่มี 86% และประเทศอินโดนีเซีย 85 % จนทำเอาประเทศไทยติดทำเนียบประเทศที่มีปัญหาจราจรติดขัดติด “ท็อป- 5” ของโลกไปโดยปริยาย!
ล่าสุด ประเทศไทยเราอาจได้ชื่อว่าเป็น “ประเทศแรกและประเทศเดียว” ของโลกที่ “อุตสาหกรรมโทรคมนาคม” มีผู้ให้บริการรายใหญ่อยู่เพียง 2 รายเท่านั้น หลังเส้นทางการควบรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค เดินมาถึงจุดหมาย ที่ประชุมผู้ถือหุ้นร่วมของทั้งสองบริษัทไฟเจียวให้จัดตั้งบริษัทใหม่ภายใต้ชื่อใหม่ (ในขวดเดิม) คือ “บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)” หรือ True
โดยจะมีทุนเรือนหุ้นกว่า 138,208 ล้านบาท พร้อมฐานลูกค้ารวมสูงกว่า 55.9 ล้าน ทะยานขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในตลาดโทรคมนาคมไทยสมใจอยาก ท่ามกลางการลุ้นระทึกจากประชาชนผู้ใช้บริการ ผลพวงจากการที่ตลาดโทรคมนาคมไทยเหลือผู้เล่นในตลาดเพียง 2 ค่ายยักษ์วันนี้ จะทำให้ตลาดโทรคมนาคมไทยลดระดับการแข่งขันลงไป ราคาค่าบริการทั้งมือถือหรืออินเทอร์เน็ตจะปรับตัวสูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการ ดังที่นักวิชาการแสดงความกังวลไว้ก่อนหน้าหรือไม่?
เพราะรายงานเส้นทางการควบรวมกิจการของประเทศต่างๆ ทั่วโลกนั้น แทบจะกล่าวได้ว่า หน่วยงานกำกับดูแลของแต่ละประเทศ แทบจะ “ปิดประตูลั่นดาน” หนทางการอนุมัติควบรวมกิจการในลักษณะนี้แทบทั้งสิ้น
อย่างในสหรัฐอเมริกา ที่ AT&T ยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมได้รุกขออนุมัติควบรวมกิจการกับ T-Mobile ก่อนปี 61 ด้วยมูลค่าการซื้อขายกว่า 39,000 ล้านเหรียญ ซึ่งหากดีลสำเร็จจะทำให้ AT&T กลายเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่สุดของสหรัฐฯ ด้วยผู้ใช้บริการกว่า 130 ล้านราย แต่ก็จะทำให้ตตลาดโทรคมนาคมของสหรัฐฯเหลือผู้ให้บริการจาก 4 ราย เหลือเพียง 3 รายเท่านั้น
ทำให้ FCC ที่เป็นหน่วยงานกำกับดูของสหรัฐที่ใช้เวลาพิจารณาดีลควบรวมนี้ร่วม 9 เดือน ไม่อนุมัติดีลควบรวมครั้งนี้ และแม้ในเวลาถัดมา FCC ของสหรัฐจะไฟเขียวการควบรวมกิจการระหว่าง T-Mobile กับ Sprint ยักษ์เบอร์ 3 และ 4 ของตลาดในปี 61(2018) ด้วยมูลค่ากว่า 26,000 ล้านเหรียญ ซึ่งจะทำให้ตลาดโทรคมนาคมเหลือผู้ให้บริการจาก 4 รายเหลือ 3 รายเช่นกัน
แต่ FCC ที่ใช้เวลาพิจารณาดีลควบรวมดังกล่าวถึง 2 ปี ก่อนจะอนุมัติให้ได้ แต่กำหนดเงื่อนไขให้ผู้ขอควบรวมต้องเร่งขยายโครงข่าย 5 จี ให้ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการ 97% ภายใน 3 ปี และ 99% ภายใน 6 ปี ทั้งยังกำหนดให้ T-Mobile ต้องขายธุรกิจบางส่วนให้กับ Dish Network ผู้ให้บริการทีวีดาวเทียมที่มีแผนจะกระโดดเข้าสู่ตลาดโทรคมนาคมด้วย หากไม่สามารถดำเนินการได้อาจเจอโทษปรับสูงกว่า 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว
ในอินเดีย ที่ Vodafone India ขอควบรวมกิจการกับ Idea Cellular ในปี 61 เช่นกัน และเป็นการควบรวมกิจการทีมีมูลค่าสูงกว่า 1.4 แสนล้านรูปี หรือกว่า 52,000 ล้านบาท ที่จะส่งผลให้ตลาดโทรคมนาคมของอินเดียเหลือผู้ประกอบการจาก 5 รายเหลือ 4 ราย และทำให้ Vodafone Idea หรือ VI ที่เป็นชื่อใหม่หลังการควบรวมทะยานขึ้นมาเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่สุดของอินเดียที่มีผู้ใช้บริการกว่า 408 ล้านรายนั้น
หน่วยงานกำกับดูแลของอินเดียใช้เวลาพิจารณาดีลควบรวมดังกล่าวกว่า 1 ปี 5 เดือน ก่อนจะอนุมัติให้โดยตั้งเงื่อนไขบริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวมนั้น Vodafone Group จะถือหุ้นได้เพียง 45.2% และกลุ่ม Aditya Birla Group ถือหุ้น 26% สัดส่วนหุ้นที่เหลือต้องกระจายสู่สาธารณชน
เช่นเดียวกับเยอรมนี ที่ก่อนหน้านี้ตลาดโทรคมนาคมมีผู้ให้บริการ 4 ราย โดยมี Telekom Deutschland มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด 33.8% Vodafone 27% Telefónica 22.4% และ E-Plus 16.7% แต่ในปี 2014 Telefónica ได้เข้าซื้อกิจการ E-Plus ส่งผลให้ Telefónica กลายเป็นบริษัทที่มีส่วนแบ่งตลาดมากสุด 37.4% แต่หน่วยงานกำกับดูแลได้กำหนดเงื่อนไข ให้บริษัทต้องขายความจุเครือข่ายที่ได้จากการซื้อกิจการ 30% ออกไปให้โอเปอเรเตอร์รายย่อย (MVNOs) 3 ราย ก่อนที่การเข้าซื้อกิจการจะเสร็จสมบูรณ์
ขณะที่ในอีกหลายประเทศ อย่างอังกฤษ ที่ 3 Three (Hutchison Whampoa) ขอควบรวมกิจการ O2 UK ในปี 58 ด้วยมูลค่ากว่า 10,250 ล้านปอนด์ หรือกว่า 15,000 ล้านเหรียญ ซึ่งจะทำให้ตลาดโทรคมนาคมอังกฤษเหลือผู้ให้บริการเพียง 3 ราย จากที่มี 4 รายในเวลานั้น และทำให้ 3 Three ทะยานขึ้นเป็นผู้ให้บริการที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุดในทันที แต่คณะกรรมาธิการยุโรป - หน่วยงานกำกับดูแลที่ใช้เวลาพิจารณาดีลดังกล่าวกว่า 8 เดือน ไม่อนุมัติให้ดำเนินการควบรวม ด้วยเกรงว่าลูกค้าผู้ใช้บริการจะมีทางเลือกน้อยลง และอาจต้องจ่ายราคาค่าบริการที่สูงขึ้น และข้อตกลงดังกล่าวอาจจะเป็นอันตรายต่อการพัฒนานวัตกรรมมือถือในอนาคต
เช่นเดียวกับในแคนาดา ที่ Rogers Communication ผู้ให้บริการเบอร์ 1 ของแคนาดา ที่ขอควบรวม Shaw Communications เบอร์ 4 ของตลาดเมื่อต้นปี 64 หลังจากเห็นว่า Shaw ที่เพิ่งกระโจนเข้าสู่ตลาดสั่นคลอนผู้ให้บริการเดิมในตลาดอย่างหนัก ก่อให้เกิดการแข่งขันด้านราคาอย่างรุนแรง ทำให้ Rogers รุกคืบขอควบรวมกิจการ Shaw ในทันที ด้วยมูลค่าการซื้อขายกว่า 26,000 ล้านเหรียญ อันจะส่งผลทำให้ผู้ให้บริการเครือข่ายในแคนาดาลดลงจาก 4 ราย เหลือ 3 ราย
อย่างไรก็ตาม แม้ ”คณะกรรมาธิการวิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม” ของแคนาดาจะไฟเขียวดีลควบรวมกิจการในครั้งนี้ แต่สำนักงานคณะกรรมการว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า Competition Bureau) ได้ร้องต่อคณะตุลาการแข่งขันทางการค้าของแคนาดา (Competition Tribunal) ให้มีคำสั่งระงับการควบรวมกิจการทั้งสองรายในเวลาต่อมา
ขณะที่กรณีตัวอย่างการควบรวมกิจการในฟิลิปปินส์ ที่สำนักงาน กสทช. เคยนำเสนอต่อที่ปราะชุม กสทช. ว่าเป็นดีลควบรวมกิจการเช่นเดียวกับประเทศไทย เพราะทำให้เหลือผู้ให้บริการในตลาดเพียง 2 ราย จากที่มีอยู่ 3 รายนั้น บริบทของตลาดโทรคมนาคมและภูมิหลังบริษัทสื่อสารที่ขอควบรวมกิจการก็แตกต่างกับประเทศไทยโดยสิ้นเชิง!
เพราะผู้ถือหุ้นใหญ่ของเครือข่าย Smart ที่ขอควบรวมกิจการนั้น คือ PLDT ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่แล้ว ขณะผู้ให้บริการอีกรายคือ เครือข่าย Globe ได้รับสัมปทานจากรัฐ จึงมีสภาพไม่ต่างไปจากบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) การควบรวมกิจการที่แม้จะเหลือผู้เล่นใสนตลาด 2 ราย จึงไม่ส่งผลต่อการผูกขาดตลาดแบบประเทศไทย แต่กระนั้นรัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ส่งเสริมประกอบการรายใหม่จนผงาดขึ้นมาแข่งขันในตลาดเป็น 3 รายได้ในปัจจุบัน
“แม้ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมทั่วโลกจะมีแนวโน้มการควบรวมกิจการมากขึ้น แต่จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่า เกือบทุกประเทศทั่วโลกต่างมีผู้ให้บริการในตลาดไม่ต่ำกว่า 3-4 ราย มีเพียงประเทศไทยประเทศเดียวของโลกที่หน่วยงานกำกับดูแล คือ กสทช. ยินยอมให้ 2 บริษัทโทรคมนาคม “ทรู-ดีแทค” ดำเนินการควบรวมกิจการด้วยข้ออ้างไม่มีอำนาจสั่งระงับ แม้จะส่งผลทำให้ตลาดโทรคมนาคมของประเทศลดจำนวนผู้ให้บริการจาก 3 ราย เหลืออยู่ 2 รายก็ตาม จนทำให้ตลาดสื่อสารโทรคมนาคมไทยกลายเป็นตลาดผูกขาด Private Duopoly “เต็มคาราเบล” อยู่ในปัจจุบัน!
ผลพวงจากการอนุมัติ “ดีลควบรวมกิจการ” ครั้งประวัติศาสตร์ของ กสทช. ทำให้ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศเดียวของโลกที่ตลาดสื่อสารโทรคมนาคมเหลือผู้เล่นในตลาดเพียงแค่ 2 รายใหญ่เท่านั้น (แม้จะยังมี 3 แบรนด์) ทำให้ตลาดโทรคมนาคมไทยสุ่มเสี่ยงที่ผู้บริโภคจะตกเป็นเหยื่ออันโอชะถูกโขกสับค่าบริการเอาได้ทุกเมื่อ
เพราะธรรมชาติของ ”เสือย่อมต้องกินเหยื่อ” ทำธุรกิจก็ย่อมต้องหวังผลกำไรวันยังค่ำ มีหรือที่ตลาดสื่อสารโทรคมนาคมที่ผูกขาดโดย 2 ฆ่ายักษ์เช่นนี้ จะไม่ฉวยโอกาสเอาเปรียบผู้บริโภค
เรายังจะคาดหวังว่า หน่วยงานกำกับดูแลอย่าง กสทช.จะมีน้ำยากำกับดูแลและปกป้องผู้บริโภคได้อีกหรือ ในเมื่อแค่การพิจารณาว่ามีอำนาจจะพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติดีลควบรวมกิจการ ก็ยังออกตัวแรงส์ว่าไม่มีอำนาจจริงไม่จริง!!!