ศาล รธน. มีมติเอกฉันท์รับคำร้อง 54 ส.ส.ฝ่ายค้าน ยื่นตีความสถานะรมต.“ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” ปมหุ้น หจก.รับเหมาฯ พร้อมสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 มีนาคม ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาเรื่องที่ 8/2566 ที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 187 หรือไม่ โดยกรณีนี้ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องจาก ส.ส.ฝ่ายค้าน รวม 54 คน ว่า นายศักดิ์สยาม ผู้ถูกร้อง ยังคงไว้ซึ่งหุ้นส่วนและยังคงเป็นผู้ถือหุ้นและเจ้าของ หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น อย่างแท้จริง ซึ่งจะทำให้ผู้ถูกร้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการหุ้นหรือกิจการของ หจก. เป็นการกระทำอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 187 ประกอบ พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 มาตรา 4 (1) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยามสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 187 หรือไม่
โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า กรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 วรรคหนึ่ง และ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 (9) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ให้รับคำร้องไว้วินิจฉัย และให้นายศักดิ์สยาม (ผู้ถูกร้อง) ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณากรณีให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรี จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามเอกสารคำร้องและเอกสารประกอบคำร้อง ปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง จึงมีมติเป็นเอกฉันท์สั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2566 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย แจ้งให้คู่กรณีและนายกรัฐมนตรีทราบ
2 โครงการใหญ่คมนาคมค้างเติ่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลพวงจากคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ที่ให้นายศักดิ์สยามยุติการปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำพิพากษานั้น ยังผลให้โครงการ Mega project ของกระทรวงคมนาคม 2 โครงการใหญ่ ต้องค้างเติ่งคาราคาซังไปในทันที นั่นคือ การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ -มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงินลงทุนกว่า 1.42 แสนล้าน ที่กระทรวงคมนาคมเตรียมนำเสนอผลประมูลโครงการนี้ ที่มีบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นผู้ชนะประมูล ให้ที่ประชุม ครม.เห็นชอบก่อนลงนามในสัญญา หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาในคดีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกและยกเลิกการประกวดราคาก่อนหน้านี้ ว่า รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกได้ดำเนินการโดยชอบโดยกฎหมายแล้ว
นอกจากนี้ ยังมีกรณีการแก้ไขสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่คณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ให้ความเห็นชอบการแก้ไขสัญญาสัมปทานในส่วนของการจ่ายค่าสิทธิ์รับโอนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ โดยอนุมัติให้บริษัท เอเชียเอราวัน จำกัด ผู้รับสัมปทานขยายเวลาการจ่ายค่าสิทธิ์รับโอนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ จำนวน 10,761 ล้านบาท ออกไป 7 ปี ทำให้ต้องรอรัฐบาลใหม่เป็นผู้นำเสนอ ครม.ต่อไป ในเมื่อ รมว.คมนาคม ถูกสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ จึงทำให้ทั้งสองโครงการต้องรอ รมว.คมนาคมคนใหม่ ในรัฐบาลชุดต่อไปมาสานต่อเท่านั้น