ขวบปีก่อนในช่วงที่ “คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)” เปิดให้บริษัทสื่อสารโทรคมนาคมเข้ายื่นขอรับใบอนุญาตให้ใช้สิทธิในการใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะชุด (Package) ซึ่งปรากฏว่า มีผู้เข้ายื่นข้อเสนอ 3 ราย ได้แก่ บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บมจ.ไทยคม (THCOM), บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT และบริษัท พร้อม เทคนิคคอล เซอร์วิสเซส จำกัด
ซึ่งผลประมูลที่ได้นั้น บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชัน คว้าไลเซนส์ใช้สิทธิ์วงโคจรดาวเทียมไป 2 ชุดวงโคจรที่ “78.5E-119.5E” ด้วยวงเงินเฉียด 800 ล้าน ขณะบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ NT คว้าใบอนุญาตชุดที่ 4 วงโคจร 126 E ไปด้วยราคา 9.07 ล้าน
ขณะที่น้องใหม่ “บริษัท พร้อม เทคนิคคอล เซอร์วิสเซส จำกัด” แม้จะชวดไลเซ่นส์วงโคจรดาวเทียมในครั้งนั้น แต่ยังคงได้รับการเชื้อเชิญจากผู้ชนะประมูลทั้งสองบริษัทให้เข้าไปเป็นพันธมิตรในการดำเนินงาน ทำเอาหลายฝ่ายหูผึ่งว่า บริษัทเอกชนน้องใหม่รายนี้ มีความเป็นมาเป็นไปอย่างไร เหตุใดถึงทะลุกลางป้องเข้าร่วมประมูลสิทธิ์การใช้วงโคจรดาวเทียมในครั้งนั้นได้ และแม้จะชวดโครงการไป ก็ยังคงได้รับโอกาสจากผู้ชนะประมูลให้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรรับงานติดตั้งระบบปฏิบัติการและโซลูชั่นที่เกี่ยวเนื่องอยู่อีก..
“พร้อม เทคนิคคอล เซอร์วิสเซส” นั้น เป็นผู้ให้บริการทางด้านวิศวกรรม ปรึกษา ออกแบบ จัดหาอุปกรณ์และนวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงติดตั้งระบบควบคุมอัตโนมัติ (Automation) ระบบสื่อสาร สื่อสารข้อมูลโทรคมนาคม (Telecommunication) ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและซอฟแวร์โซลูชั่นครบวงจร เพื่อยกระดับ สมรรถนะ คุณภาพ และประสิทธิภาพในอุตสาหกรรมพลังงานและอุตสาหกรรมอื่น ๆ ทุกแขนง” สมบัติ แสงชาติ ประธานกรรมการ บริษัทพร้อมเทคนิคคอล เซอร์วิสเซสฯ เปิดเผยถึงที่มาที่ไปของบริษัท พร้อมระบุว่า บริษัท พร้อม เทคนิคคอล เซอร์วิสเซสฯ นั้น ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2543 แล้ว
ก่อนจะย้อนรอยถึงที่มาที่ไปของบริษัท พร้อม เทคนิคคอล เซอร์วิสเซสฯ นั้นว่า ระบบปฏิบัติการและโซลูชั่นต่าง ๆ ที่บริษัทเข้าไปมีส่วนร่วมในการติดตั้งและให้บริการนั้น ครอบคลุมไปทั้งอุตสาหกรรมผลิตน้ำมัน อุตสาหกรรมผลิตก๊าซ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมเม็ดพลาสติก อุตสาหกรรมกระแสไฟฟ้าและอื่นๆ
ทั้งนี้ ความเชี่ยวชาญของบริษัท พร้อมฯ นั้น ไล่ไปตั้งแต่ ระบบศูนย์ควบคุมและสั่งการ (Command Control Center) แบบ Real Time รองรับการปฏิบัติการตลอด 24 ชั่วโมง และระบบควบคุมและประมวลผลแบบศูนย์รวม ระบบเชื่อมโยงข้อมูลและประมวลผลข้อมูลใสรูปแบบ Real Time Near Real Time และ Non Real Time ระบบควบคุมสั่งการระยะไกล ระบบควบคุมอัตโนมัติ และการจัดการประมวลผลภาคสนาม การสื่อสารข้อมูลผ่านดาวเทียม (Satellite Communication) การติดตั้งสถานีรับส่งภาคพื้น ฯลฯ
ผลงานความสำเร็จของบริษัท พร้อมฯ ที่ทุกคนน่าจะคุ้นเคยกันอยู่แล้ว อาทิ โครงการศูนย์กลางสั่งการด้านพลังงาน (Energy Command and Control Center) กระทรวงพลังงาน โครงการระบบรายงานข้อมูลการประกอบกิจการพลังงานแบบ Real Time สำนักงานกำกับกิจการพลังงาน โครงการ GAS War Room Center บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) โครงการ Shipper Gateway และ Shipper Monitoring บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) โครงการ SCADA สำหรับระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) โครงการศูนย์ปฏิบัติการด้านการจัดเก็บข้อมูลและตรวจสอบข้อมูล หัวกระสุนและและปลอกกระสุนปืน (Bullet Data Management System) กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินงาน ได้แก่ โครงการแพลตฟอร์มรายงานปริมาณก๊าซเรือนกระจกสำหรับการจัดทำคาร์บอนฟรุตปริ้นท์ขององค์กรเพื่อมุ่งสู่ Net Zero (CFO และ โครงการระบบทะเบียนคาร์บอนเครดิต (Registry System) องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การบริหารมหาชน) โครงการระบบดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลการประกอบกิจการปิโตรเลียม โครงการศูนย์ปฏิบัติการด้านการจัดเก็บข้อมูลและตรวจสอบข้อมูลหัวกระสุนปืนและปลอกกระสุนปืน (Bullet Data Management System) 9 จังหวัด
“แม้แต่การเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานสัมปทานปิโตรเลียมในอ่าวไทยจากระบบสัมปทานเดิม มาสู่ระบบแบ่งปันผลผลิตนั้น กรมเชื้อเพลงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ก็ได้ประสานกับทางบริษัทในการสนับสนุนการจัดตั้ง War Room รองรับการเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานจากผู้รับสัมปทานเดิม ไปสู่ผู้รับสัญญาตามสัญญาแบ่งปันผลผลิตของแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย ซึ่งบริษัทได้สนับสนุนจัดเตรียมระบบศูนย์ควบคุมและสั่งการ Command Control Center แบบ Real Time รองรับการปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง”
โดยแหล่งบงกช ที่ประกอบด้วยแปลงสำรวจหมายเลข B15 B16 และ B17 นั้น แปลงสำรวจ B15 ซึ่งหมดอายุสัมปทานเมื่อ 23 เมษายน 65 ได้เข้าสู่สัญญาแบ่งปันผลผลิตแล้ว ตั้งแต่ 24 เมษายน 65 ขณะที่แปลงสำรวจหมายเลข B16 และ B17 หมดสัญญาในวันที่ 7 มีนาคม 2566 นี้ ก็กำลังเข้าสู่การเปลี่ยนผ่าน นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่จะดำเนินการในอนาคต ได้แก่ โครงการระบบการสื่อสารข้อมูลปิโตรเลียมผ่านดาวเทียม กระทรวงพลังงาน
ถึงบรรทัดนี้ คงเป็นคำตอบชัดแล้วว่า บริษัทของคนไทยอย่าง “พร้อม เทคนิคคอล เซอร์วิสเซส” ภายใต้การกุมบังเหียนของ “สมบัติ แสงชาติ” นั้นไม่ธรรมดาจริงๆ!