หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์สื่อกรณีการร้องเรียนการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยระบุว่า นายกรัฐมนตรีไม่อำนาจเข้าไปตรวจสอบได้ คณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการดำเนินการ แต่ขั้นตอนมีคณะกรรมการ ซึ่งมีอำนาจสิทธิ์ขาดอยู่ กระทรวงก็รับผิดชอบในระดับกระทรวงเป็นลำดับสายบังคับบัญชา
ทำให้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ออกมาระบุว่า นายกรัฐมนตรีอาจจะหลงลืมไปว่า ยังมีอีกสถานะหนึ่ง คือ ฐานะเป็นประธานกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 13 พระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 มีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 20 เรียกให้หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่ดำเนินโครงการเข้าร่วมลงทุนเข้าชี้แจง ให้ความเห็น หรือ จัดส่งข้อมูลหรือเอกสารที่เกี่ยวข้องกับโครงการ เพื่อวินิจฉัยกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ รวมทั้งมีอำนาจในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อพิจารณา หรือปฏิบัติหน้าที่ด้วย
ดังนั้น เมื่อท่านทราบมาตลอดอยู่แล้ว ก็น่าจะทราบด้วยว่า 1. การกำหนดเงื่อนไขคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอ ตามประกาศเชิญชวนปี 65 มิได้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีที่กำหนดให้ประมูลในรูปแบบ International Competitive Bidding ให้ผลตอบแทนเหมาะสมเป็นธรรม และมีผู้เข้าแข่งขันได้มากราย
2. คณะกรรมการคัดเลือก จงใจละเว้นไม่ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอบริษัทอิตาเลียนไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ที่ผู้บริหารมีคำพิพากษาถึงที่สุด โทษจำคุก เป็นคุณสมบัติต้องห้ามประกาศให้ผ่านเป็นผู้มีคุณสมบัติ เพื่อเป็นคู่เทียบแข่งขันราคา เพราะถ้าบริษัทนี้ชนะประมูลก็ต้องถูกยกเลิกเป็นการล็อกให้บริษัทเดียวชัดเจน
3. ราคาที่ผู้ชนะการคัดเลือกแตกต่างจากผู้ยื่นข้อเสนอในปี 63 มากกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท ทั้งที่เนื้องานเท่ากัน ชิ้นงานเดียวกัน รัฐต้องจ่ายแพง ไม่ได้ประโยชน์จากการดำเนินการดังกล่าว จึงไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนฯ มาตรา 6 คือไม่โปร่งใส ไม่รักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐ และรัฐจะไม่ได้ประโยชน์สูงสุดตามข้อกำหนดในมาตรา 40 ซึ่งเอกชนได้ฟ้องคดีไว้ต่อศาลปกครองกลาง คดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง
ตนและคณะจึงได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ไต่สวนดำเนินคดีกับนายกรัฐมนตรีและคณะ โดยกล่าวหาว่ามีการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 , พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐพ.ศ. 2502 มาตรา 11 และพระราชบัญญัติความผิดว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 - 13 โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีหน้าที่กำกับการปฏิบัติราชการตามพระราชบัญญัติ ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 11 และในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการ ร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนมีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมดูแลโครงการร่วมทุนดังกล่าว ให้เป็นไปโดยสุจริตถูกต้องตามกฎหมาย รักษาประโยชน์ของชาติอย่างเที่ยงธรรม
ส่วนนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ในฐานะรัฐมนตรีของหน่วยงานในสังกัด ที่มีอำนาจหน้าที่กำกับกิจการของ รฟม. ตามพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 มาตรา 72 และเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ตาม พระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ส่วน รฟม. และ คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562
ย้อยรอยอำนาจนายกฯ ใน พ.ร.บ.พีพีพี
เมื่อย้อนกลับไปพิจารณาอำนาจหน้าที่คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนฯ (พีพีพี) ที่กำหนดไว้ในมาตรา 20 ให้คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้....
(4) พิจารณากําหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการในการจัดทําโครงการร่วมลงทุนที่มีมูลค่าต่ำกว่าห้าพันล้านบาท หรือต่ำกว่ามูลค่าที่กําหนดเพิ่มขึ้นโดยกฎกระทรวง
(6) เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา หรืออุปสรรคในการจัดทําและดําเนินโครงการร่วมลงทุน และกรอบระยะเวลาเร่งรัดการดําเนินโครงการร่วมลงทุนต่อคณะรัฐมนตรี
(10) เรียกให้หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่ดําเนินโครงการร่วมลงทุนเข้าชี้แจง ให้ความเห็น หรือจัดส่งข้อมูลหรือเอกสารที่เกี่ยวข้องกับโครงการร่วมลงทุน
(11) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทํางานเพื่อพิจารณา หรือปฏิบัติหน้าที่ หรือกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการมอบหมายทั้งนี้ ให้นําความในมาตรา 19 มาใช้บังคับแก่คณะอนุกรรมการโดยอนุโลม
ในส่วนของ “คณะกรรมการคัดเลือกฯ” มีหน้าที่และอำนาจตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 38 ดังนี้ :
(1) พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสําหรับการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุน
(2) กําหนดค่าธรรมเนียมการขายเอกสารสําหรับการคัดเลือก
(4) เจรจาและพิจารณาคัดเลือกเอกชนให้เข้าร่วมโครงการร่วมลงทุน
(7) พิจารณาดําเนินการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคัดเลือกเอกชนของโครงการร่วมลงทุนตามที่เห็นสมควร
มาตรา 39 เมื่อคณะกรรมการคัดเลือกให้ความเห็นชอบร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสําหรับการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุน แล้ว ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการและคณะกรรมการคัดเลือกดําเนินการคัดเลือกเอกชนตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกําหนดในมาตรา 32 ซึ่งกำหนดไว้ชัดเจน “ในการคัดเลือกเอกชนจะต้องใช้วิธีประมูล เว้นแต่เป็นกรณีที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ใช้วิธีการคัดเลือกเอกชนโดยไม่ใช้วิธีประมูลตามมาตรา 25 และมาตรา 34 เท่านั้นหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเอกชนตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการประกาศกําหนด”
คำถามก็คือ มีมาตราใดในกฎหมายฉบับนี้ รองรับการ “แก้ไขเอกสารการประมูล” และ “การปรับเปลี่ยนเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกเพิ่มเติม (กลางอากาศ) ตามที่ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ กล่าวอ้างและกำหนดเอาไว้ในประกาศเชิญชวนฯบ้าง? (รวมทั้งยังหยิบยกขึ้นไปอ้างเป็นข้อต่อสู้ในชั้นศาลปกครอง)
มีแต่กำหนดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการ และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ต้องดำเนินการคัดเลือกฯ ไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด (ซึ่งต้องเป็นไปตามกรอบที่คณะรัฐมนตรี และคณะกรรมการพีพีพี) เห็นชอบในหลักการเอาไว้แล้ว
ไม่มีข้อใดที่ให้อำนาจหน่วยงานและคณะกรรมการคัดเลือกไปพิจารณาดำเนินการแก้ไขประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนเพิ่มเติมตามที่ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกอ้างถึง
นอกจากนี้ใน พ.ร.บ.การร่วมลงทุน มาตรา 11 ยังกำหนดไว้ด้วยว่า “ในกรณีที่เกิดปัญหาหรืออุปสรรค หรือเกิดความล่าช้าในการจัดทําหรือดําเนินโครงการร่วมลงทุน ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับปัญหาอุปสรรคหรือความล่าช้าในการจัดทําหรือดําเนินโครงการร่วมลงทุน และดําเนินการ ดังต่อไปนี้
(1) เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาอุปสรรค หรือความล่าช้านั้นต่อคณะกรรมการพิจารณาและนําเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับปัญหาอุปสรรค หรือความล่าช้าดังกล่าวดําเนินการตามที่คณะรัฐมมนตรีสั่งการ
(2) เสนอกรอบระยะเวลาเร่งรัดการดําเนินการใดๆ เพื่อความสําเร็จของโครงการร่วมลงทุนต่อคณะกรรมการพิจารณาและนําเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ ปัญหา อุปสรรค หรือความล่าช้าดังกล่าวดําเนินการตามที่คณะรัฐมนตรีสั่งการ
คงต้องย้อนถามไปยังผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะกรรมการเลขานุการคณะกรรมการ พีพีพี และกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้รักษาการตามกฎหมายฉบับนี้ว่า ตลอดช่วงที่ผ่านมาได้ทำหน้าที่ตามบทบัญญัติกฎหมายนี้หรือไม่
เหตุใดปล่อยให้ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือก ดำเนินการแก้ไขเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกเพิ่มเติมที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย และไม่เป็นไปตามกรอบที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนด มีการกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินคัดเลือกที่แตกต่างไปจากเอกสารประมูลเดิมที่ได้รับความเห็นชอบจาก ครม. ชัดเจน
ยิ่งในส่วนของผลการประกวดราคาคัดเลือกที่ได้ ที่มีปมส่วนต่างราคามากกว่า 68,000 ล้านบาท ที่จะส่งผลต่อการรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 6 (2) - (3) และยังอาจกระทบไปถึงงบประมาณรายจ่ายของรัฐ หรือจะต้องมีการก่อหนี้โดยการกู้หรือการค้ำประกันโดยกระทรวงการคลังเพื่อใช้จ่ายในการให้การสนับสนุนแก่โครงการร่วมลงทุน ดังที่กำหนดไว้ในมาตรา 23 ก็ยิ่งเป็นเรื่องที่ผู้อำนวยการ สคร. และกระทรวงการคลัง จะต้องพิจารณาและจัดทำรายงานเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการพีพีพี ตามที่กฎหมายกำหนด ในมาตรา 20 และ 21
แต่ที่ผ่านมากลับไร้เงาคนคลัง และ สคร. คงปล่อยให้ รฟม. และกระทรวงคมนาคมโม่แป้งกันไปโดยลำพัง จนนายกฯ เองก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองมีอำนาจล้วงลูกเข้ามาตรวจสอบโครงการนี้หรือไม่ หรือคณะกรรมการพีพีพี และคณะรัฐมนตรีนั้น ทำหน้าที่ได้เพียง Rubber Stamp เท่านั้น!!!