มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยังไม่ละพยายาม รุกฟ้องคดีปกครองให้เพิกถอนมติ กสทช.นัดพิเศษกรณีไฟเขียวดีลควบรวมกิจการทรู-ดีแทคอีกระลอก หยิบยกเหตุผู้บริโภคถูกละเมิดจากมติ กสทช.ที่ไฟเขียวดีลควบรวมทำให้ลดจำนวนผู้ให้บริการในตลาดเหลือเพียง 2 ค่ายยักษ์ตัดทางเลือกผู้บริโภคลงไปโดยปริยาย
แม้ดีลควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็สคอมมิวนิเคชัน จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค จะได้ข้อยุติลงไปแล้ว โดยทั้งสองบริษัทได้จดทะเบียนใช้ชื่อ “บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)” หรือ True อันเป็นชื่อเดิมทุกกระเบียดนิ้ว แต่ได้ปรับสัดส่วนผู้ถือหุ้นใหม่ และได้นำหุ้นเข้าซื้อ-ขายในตลาดหลักทรัพย์ตั้งแต่วันที่ 3 มี่นาคม 66 ที่ผ่านมา
แต่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยังคงไม่ละความพยายามที่จะสกัดกั้นการควบรวมธุรกิจดังกล่าว หลังจากความพยายามในการระงับการดำเนินการในครั้งก่อนล้มเหลว แม้จะยื่นฟ้องคณะกรรมการ กสทช.ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเพื่อให้ดำเนินคดี กสทช.ต่อกรณีมีมติรับทราบการควบรวมกิจการโดยไม่ชอบ แต่ศาลอาญาคดีทุจริตได้มีคำพิพากษายกฟ้องไปแล้ว
ล่าสุด คณะกรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในการประชุมเมื่อวันที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา ได้มอบอำนาจให้ นายเฉลิมพงษ์ กลับดี และ นางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล ยื่นฟ้อง “คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ” หรือ “กสทช.” และสำนักงาน กสทช. ต่อศาลปกครองกลางอีกครั้ง เพื่อขอให้เพิกถอนมติ กสทช. กรณีอนุมัติควบรวมทรูและดีแทคอีกครั้งโดยชี้เหตุว่า เป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจ และไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ในรายงานฟ้องคดีดังกล่าวระบุว่า สืบเนื่องจากการประชุมนัดพิเศษ ของคณะกรรมการกิจการ กระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 65 ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้เอกชนโดยมีมติเสียงข้างมาก 3 ต่อ 2 อนุมัติการรวมธุรกิจระหว่างทรู-ดีแทค โดยไม่รับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้-เสีย และประชาชนทั่วไป , ไม่นำรายงานฉบับสมบูรณ์ของที่ปรึกษาต่างประเทศมาพิจารณาประกอบ และรับฟังความคิดเห็นของบริษัทที่ปรึกษาอิสระ (บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด) ที่เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืน ต่อกฎหมาย ประกาศ ระเบียบ กฎ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ การฟ้องคดีเพื่อเพิกถอนมติของ กสทช. เป็นมติจากที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมาในฐานะที่ “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” ได้รับการจัดตั้ง โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ ตามบทบัญญัติของกฎหมายและบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราช อาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 46 แต่ ณ ปัจจุบัน ผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิอันพึงมีพึงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหตุการณ์ที่คณะกรรมการ กสทช. มติเสียงข้างมาก 3 ต่อ 2 อนุมัติการรวม ทรู-ดีแทค
นางสาวกชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ชี้ว่า จากเหตุนี้ ทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบ เพราะเมื่อประเทศไทย เหลือผู้ให้บริการรายใหญ่เพียง 2 เจ้า อย่างเป็นทางการ และบริษัทใหม่กลายเป็นผู้ให้บริการอันดับ 1 ทันที มีส่วนแบ่งการตลาดเกินกว่าร้อยละ 50 ก่อให้เกิดการผูกขาดธุรกิจโทรคมนาคม โดยไม่ได้เกิดการพัฒนาด้านคุณภาพ สุ่มเสี่ยงต่อการฮั้วราคา ส่งผลต่อค่าโทรศัพท์ที่จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ถึง 200 รวมทั้งตลาดมือถือจะอยู่ในภาวะการแข่งขันตกต่ำ ยาก เกินจะฟื้นฟูให้อยู่ในสภาพเดิม จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้คณะกรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคลงมติ ยื่นฟ้องคณะกรรมการ กสทช. และ สำนักงาน กสทช. เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ 2 ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ของผู้บริโภค ส่งเสริมและประสานงานให้ผู้บริโภคและองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคมีส่วนในการคุ้มครองผู้บริโภค และดำเนินการเพื่อสาธารณะประโยชน์
การที่ผู้ฟ้องคดี ฟ้องว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ ที่ 2 เป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจและ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การฟ้องคดีนี้จึงเกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะและถือได้ว่าเป็นการดำเนินการภายในขอบวัตถุประสงค์ของผู้ฟ้องคดี ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ถือได้ว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อน เสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ และเนื่องจากคณะกรรมการ กสทช.และ สำนักงาน กสทช.ไม่มีอำนาจในการพิจารณารับรายงานของบริษัททั้งสองไว้พิจารณา ทำให้มาตรการหรือ เงื่อนไขเฉพาะของ กสทช. ทั้งหมดเป็นโมฆะ โดยขอให้เพิกถอนมติของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการ โทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคม ประชุมนัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 65 และเพิกถอนนิติกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือเกี่ยวเนื่องกับมติทั้งหมด และให้มีผลย้อนหลังด้วย