แฉเบื้องหลัง “ไอ้โม่งฝ่ายการเมือง” ชักใยขุดเอาแฟ้มคดีเก่ามาแจ้งข้อกล่าวหาโดยไม่สนผลไต่สวน วงในชี้ผู้ว่า กทม. ต้องสั่งบีทีเอสยุติการเดินรถทุกสาย หวั่นเข้าปิ้งไปด้วย ขณะฝ่ายบริหารบีทีเอสเตรียมแถลงวันนี้ พร้อมปฏิบัติตามคำสั่ง กทม.
ควันหลงจากกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ชุดใหญ่ มีมติเมื่อวันที่ 10 มกราคม 66 ให้แจ้งข้อกล่าวหา ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร อดีตผู้ว่าราขการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กับพวกรวม 13 คน รวมทั้ง นายคีรี กาญจนพาสต์ ประธานกรรมการบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี (BTSC) ในข้อหาร่วมกันกระทำทุจริตในการทำสัญญาให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ระยะเวลา 30 ปี ในวงเงินกว่า 190,000 ล้านบาท โดยหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎหมายร่วมทุนปี 35 และไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐปี 2542
แหล่งข่าวจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า แม้คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะยังไม่ดี้มูลความผิดและส่งเรื่องมายังกรุงเทพมหานคร เป็นแต่เพียงการแจ้งข้อกล่าวหาอดีตผู้ว่า กทม. และข้าราชการระดับสูงของ กทม. กับบริษัท กรุงเทพธนาคม วิสาหกิจ ของ กทม.
แต่หากมีการชี้มูลความผิดกรณีการทำสัญญาจ้างบริหารเดินรถไฟฟ้าดังกล่าวว่าเป็นการกระทำโดยมิชอบ และส่งเรื่องมายังกทม. ผู้ว่า กทม. จะต้องสั่งให้บีทีเอสยุติการเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายในทุกสายทางทันที เพื่อรอผลคดีในชั้นศาลเท่านั้น เพราะหากยังคงให้บริษัทให้บริการต่อไป กทม. จะต้องถูกกล่าวหาปฏิบัติหน้าที่มิชอบ สมรู้ร่วมคิดและเอื้อประโยชน์ต่อเอกชนทันทีเช่นกัน
สุดมึน! ขุดแฟ้มคดีเก่าที่ยุติคดีไปแล้วมาลุยไฟ
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวเปิดเผยว่า จากการตรวจสอบกรณีการกล่าวหาอดีตผู้ว่า กทม. และข้าราชการระดับสูงของ กทม. เกี่ยวกับการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยเฉพาะการว่าจ้าง บริษัทกรุงเทพธนาคม และ บีทีเอส ให้เข้ามาดำเนินการเดินรถในครั้งนี้ พบว่า การปัดฝุ่นแฟ้มคดีดังกล่าวขึ้นมาดำเนินการในช่วงนี้ มีความไม่ชอบมาพากลอย่างเห็นได้ชัด
เพราะคดีดังกล่าว แม้จะมีการร้องเรียนให้ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนมาตั้งแต่ปี 55 และ ป.ป.ช.เองได้ตั้งอนุกรรมการไต่สวนคดีที่มี แก้ไขตาม ที่มีนางสุวณา สุวรรณจูฑะ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน โดยมีการเรียกเอกสาร หลักฐาน รวมทั้งผู้บริหาร กทม. ที่เกี่ยวข้องในคดีไปชี้แจงหมดแล้ว ก่อนที่อนุกรรมการไต่สวนจะมีมมติเป็นเอกฉันท์ให้ “ยุติคดี” ไป ตั้งแต่ปี 62 แต่ก็ไม่ได้นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ เพราะ 1 ในกรรมการ ป.ป.ช. ที่ร่วมพิจารณาอยู่ด้วย คือ นางสุภา ปิยะจิตร เห็นว่า ผลไต่สวนของอนุกรรมการฯ ที่ออกมา มีส่วนทำให้ราคาหุ้นของบีทีเอสเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ จึงเห็นว่าควรจะเก็บคดีดังกล่าวเอาไว้ก่อน ทำให้จึงยังไม่ได้มีการดำเนินการใด ๆ มาเป็นเวลาหลายปี
จนกระทั่งเมื่อมีการปรับเปลี่ยน ป.ป.ช.ชุดใหม่ และมีการมอบหมายแฟ้มคดีใหม่ โดยมี นางสุวณา สุวรรณจูฑะ เป็นผู้กำกับดูแล และนายณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา ร่วมเป็นองค์คณะไต่สวน ก็มีการปัดฝุ่นแฟ้มคดีนี้กลับมาพิจารณาก่อนเสนอให้ที่ประชุมใหญ่ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 30 พ.ย.65 ก่อนมีมติให้แจ้งข้อกล่าวหา ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ และผู้เกี่ยวข้องทั้ง 13 รายทันที โดยไม่มีการพิจารณาไต่สวนคดีเพิ่มเติม และไม่มีการอ้างถึงมติของอนุกรรมการไต่สวนคดีเดิมที่สั่งให้ยุติคดีไปแล้วเช่นกัน
“การปัดฝุ่นแฟ้มคดีดังกล่าว ขึ้นมาลุยไฟในช่วงเวลานี้น่าจะมีเบื้องหน้าเบื้องหลัง เพราะกรรมการ ป.ป.ช. ที่มีส่วนในการผลักดันให้รื้อแฟ้มคดีดังกล่าวขึ้นมาลุยไฟนั้น ต่างทราบกันดีว่า มีความสนิทชิดเชื้อกับฝ่ายการเมืองอย่างแนบแน่นหรือไม่ จึงน่าจะต้องการเอาใจเพื่อกลบเกลื่อนกรณีโครงการประมูลรถไฟฟ้า สายสีส้ม ที่มีพรรคฝ่ายค้านยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบ แต่กลับไม่มีการดำเนินการใด ๆ แม้เวลาจะล่วงเลยมากว่า 6 เดือนแล้วก็ตาม”
ยัน กทม. เดินตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน จนเป็ดง่อย
แหล่งข่าวระดับสูงใน กทม. ยืนยันว่า ก่อนการดำเนินโครงการส่วนต่อขยายสายสีเขียวเมื่อปี 2543 นั้น กทม.ได้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนปี 35 มาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว โดยมีการตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 13 เพื่อประมูลหาเอกชนเข้ามาลงทุนส่วนต่อขยายจำนวน 3 สายทาง รวมทั้งเปิดทางให้ “บีทีเอส” คู่สัญญาเดิมเข้ามาร่วมเสนอตัวด้วย
ประกอบด้วย 1. ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท (เส้นทางอ่อนนุช-แบริ่ง) ระยะทาง 8.9 กม. วงเงินลงทุน 15,154 ล้านบาท และ 2.ส่วนต่อขยายสายสีลม จากสถานีสาธร-ตากสิน ระยะทาง 2.2 กม. วงเงินลงทุน 4,568 ล้านบาท และ 3. ส่วนต่อขยายช่องนนทรีนราธิวาส-สาธุประดิษฐ์อีกเส้นทาง ระยะทาง 8.5 กม. วงเงินลงทุน 12,798 ล้านบาท
ข้อยุติที่ได้ในเวลานั้น แม้คณะกรรมการจะเห็นชอบการดำเนินโครงการส่วนต่อขยาย แต่เห็นว่าหากจะให้สิทธิ์แก่บีทีเอสเป็นผู้ดำเนินโครงการโดยไม่ประมูลจะไม่มีข้อมูลเปรียบเทียบ และยังเกิดข้อครหาเอื้อประโยชน์แก่เอกชนรายเดียวได้ จึงเห็นควรดำเนินการด้วยวิธีพิเศษตามมาตรา 16 ในการเชิญชวนบริษัทเอกชนที่มีศักยภาพเข้ามาเป็นผู้ลงทุนก่อสร้าง รวมทั้งให้สิทธิ์แก่ BTS คู่สัญญาเดิมเข้าร่วมเสนอตัวด้วย
อย่างไรก็ตาม แนวทางในการดำเนินโครงการด้วยวิธีพิเศษที่ว่านั้น แม้จะล่วงเลยมากว่า 5 ปี แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการเป็นผลสำเร็จได้ ด้วยข้อจำกัดของการเชื่อมต่อโครงข่ายสัมปทานเดิมที่บีทีเอสให้บริการอยู่ และไม่อาจจะเปิดให้เอกชนรายใดเข้ามาประกอบการร่วมได้ ขณะที่บีทีเอสเองก็มีปัญหาด้านการเงิน เนื่องจากผลประกอบการไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จนต้องเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการ บริษัทไม่สามารถจะลงทุนส่วนต่อขยายได้ตามมติ ครม. เช่นกัน
และแม้ กทม. จะพยายามผลักดันส่วนต่อขยาย 2 สายทาง คือ ส่วนต่อขยายสายสีลม (สาทร-ตากสิน) และสายสุขุมวิท (อ่อนนุช-แบริ่ง) ขึ้นมาดำเนินการก่อน โดยจะเป็นผู้ลงทุนในส่วนของระบบงานโยธาและโครงสร้างพื้นฐานเอง ภายใต้วงเงินรวม 9,500 ล้านบาท แต่แนวทางดังกล่าวก็ไม่ได้รับการอนุมัติจากกระทรวงมหาดไทยอีกเช่นกัน
ผ่าทางตันปัญหา.. สายสีเขียวส่วนต่อขยาย
ท้ายที่สุดในปี 2547 เมื่อ “นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน” ชนะการเลือกตั้งเป็นผู้ว่า กทม. และเข้ารับตำแหน่งเมื่อ 29 สิงหาคม 47 กทม. ได้ปัดฝุ่นโครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าบีทีเอสขึ้นมาพิจารณาอีกหน โดย กทม. ตัดสินใจที่จะลงทุนระบบงานโยธาและโครงสร้างส่วนต่อขยาย 2 สายทาง ที่คาดว่าจะใช้วงเงินลงทุนราว 8,900 ล้านบาทเอง และจะเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนระบบอาณัติสัญญาณและการเดินรถไฟฟ้า
ขณะเดียวกัน กทม. ยังมีแผนขยายโครงข่ายส่วนต่อขยายอีก 4 เส้นทาง ประกอบด้วย 1. ส่วนต่อขยาย สายสีเขียวอ่อน (สำรอง-สมุทรปราการ) ระยะทาง 7.9 กม. เพื่อเชื่อมต่อโครงข่ายรถไฟฟ้า สายสุขุมวิท 2. ส่วนต่อขยายสายสีเขียวอ่อน (ปิ่นเกล้า-จรัลสนิทวงศ์) ระยะทาง 6.8 กม. 3. ส่วนต่อขยาย สายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่) ระยะทาง 11.9 กม. และ 4.ส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงวงเวียนใหญ่-บางหว้า ระยะทาง 4.5 กม.
ในแนวทางการลงทุนส่วนต่อขยาย 2 สายทางของ กทม. ดังกล่าวนั้น แต่เดิม กทม.จะเป็นผู้ลงทุนงานโยธาและโครงสร้างพื้นฐานเองทั้งหมดด้วยงบลงทุนของ กทม.เอง แล้วให้บริษัทกรุงเทพธนาคม ที่เป็นวิสาหกิจของ กทม. เข้ามาเป็นผู้ลงทุนระบบอาณัติสัญญาณและบริหารการเดินรถไฟฟ้า เพราะเป็นหนทางเดียวที่จะเดินหน้าโครงการต่อไปได้ โดยไม่ติดขัดขั้นตอนตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนปี 35
แต่สุดท้าย ก็กลับมาติดขัดข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณลงทุนของ กทม.เอง รวมทั้งข้อจำกัดในการเดินรถไฟฟ้าที่จะต้องข้ามโครงข่ายมายังสัมปทานเดิมของ กทม. ที่ให้สัมปทานแก่บีทีเอสไปแล้ว แม้บริษัทกรุงเทพธนาคมจะให้บริการเดินรถเอง หรือไปว่าจ้างเอกชนรายใดมาให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง ก็ติดขัดการเดินรถข้ามโครงข่ายที่ไม่สามารถจะให้บริการเดินรถในลักษณะที่เป็น Through Operation ได้
จนต้องกลับมาเจรจากับ BTS จนนำไปสู่การทำสัญญาจ้างลงทุนและเดินรถไฟฟ้า ในลักษณะการทำสัญญาจ้าง Outsource ระยะเวลา 30 ปี ที่ กทม. โดยบริษัทกรุงเทพธนาคมจำกัด เป็นผู้ดำเนินการกับ BTS อีกต่อหนึ่ง ซึ่งถือเป็นหนทาง “ผ่าทางตัน”โครงการนี้ โดยไม่จำเป็นต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนปี 35 เนื่องจาก กทม.นั้น ให้สิทธิแก่บริษัทกรุงเทพธนาคม ที่เป็นวิสาหกิจ และบริษัทลูกของ กทม. เป็นผู้รับผิดชอบในการลงทุน และบริหารจัดการเดินรถโดยตรง จึงไม่เข้าข่ายเป็นการให้สัมปทานที่ต้องดำเนินการตามกฎหมายฉบับนี้
ขณะที่บริษัทกรุงเทพธนาคมนั้น ได้เจรจาจัดทำ “สัญญาจ้างลงทุนและบริหาร Outsource” อีกทอด ที่นิยามตามกฎหมายฉบับนี้ยังไม่ครอบคลุมถึงเช่นกัน เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนปี 35
คำถามต่อไปการดำเนินการดังกล่าว ถามว่า กทม.และกระทรวงมหาดไทยได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือไม่ ซึ่งกทม.นั้น ยืนยันได้มีการหารือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกามาตั้งแต่ต้น จึงทำให้เมื่อมีการตรวจสอบเส้นทางการดำเนินโครงการนี้ ทั้งในส่วนของรัฐบาล และสภาผู้แทนฯ รวมทั้งภาคประชาชน ก็ไม่สามารถจะเอาผิด กทม. รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการดังกล่าว
ส่วนที่ว่าเหตุใด กทม.และกรุงเทพธนาคม จึงไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การเสนอราคาโดยเปิดประมูลหาเอกชนเข้ามาลงทุนส่วนต่อขยายนั้น แหล่งข่าวกล่าวว่า หากทุกฝ่ายจะได้พิจารณาข้อเท็จจริงของการลงทุนส่วนต่อขยาย 2 สายทาง นั้นจะเห็นได้ว่า ด้วยระยะทางเพียง 8.9 กม.+2.2 กม. แถมไม่ได้เป็นโครงข่ายเดียวกันนั้น การจะเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนรับสัมปทาน หรือบริหารเดินรถเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว เพราะไม่สามารถจะวิ่งข้ามโครงข่ายสัมปทานเดิมของ BTS ได้ ต้องเจรจากับ BTS เท่านั้น จึงจะทำให้การเดินรถมีความต่อเนื่องแบบ Through Operation ได้
“จะเห็นได้ว่า กทม.นั้น ได้ดำเนินการตามกรอบ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ มาตั้งแต่ต้นแล้ว และข้อมูลเหล่านี้ก็อยู่ในแฟ้มที่ กทม. ได้นำเสนอไปยังอนุกรรมการไต่สวนตั้งแต่ปีมะโว้แล้วเช่นกัน ก่อนที่อนุกรรมการไต่สวนจะมีมติให้ยุติการไต่สวนในท้ายที่สุด ส่วนที่ว่าเหตุใดคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงปัดฝุ่นแฟ้มคดีนี้กลับมาดำเนินการในช่วงนี้ ที่กำลังมีการขุดคุ้ยโครงการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม หรือมีใครอยู่เบื้องหลังการปัดฝุ่นคดีดังกล่าวขึ้นมานั้น แหล่งข่าวกล่าวว่า ก็คงมีแต่นายณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา และนายจักรกฤช ตันเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการฯ เท่านั้นจะเป็นผู้ให้คำตอบได้”
ส่วนกรณีที่หากผู้ว่า กทม. มีคำสั่งให้บีทีเอสยุติการเดินรถตามมานั้น แหล่งข่าวกล่าวว่า เชื่อแน่ว่า กทม.คงไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะถือเป็นเรื่องใหญ่ที่จะส่งผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ และกรณีเช่นนี้เชื่อแน่ว่า ทางบริษัทเองคงยื่นคำร้องต่อศาลปกครองให้มีคำสั่งคุ้มครองการให้บริการอยู่แล้ว แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการปัดฝุ่นแฟ้มคดีดังกล่าวขึ้นมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองนั้น เชื่อว่าท้ายที่สุดกระบวนการศาลจะให้ความเป็นธรรมเอง
มีรายงานว่า ในส่วนของบริษัทบีทีเอสนั้น เตรียมจะเปิดแถลงข่าวต่อกรณีที่เกิดขึ้นในวันจันทร์ที่ 13 มีนาคม ศกนี้