ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 66 ที่ผ่านมา ที่คาดว่าจะเป็นการประชุม ครม.นัดสุดท้ายของรัฐบาลชุดนี้ ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ จะยุบสภาภายในวันที่ 20 มีนาคม 66 นี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีการพิจารณาผลประกวดราคาโครงการรถไฟฟสายสีส้ม วงเงินลงทุนกว่า 1.427 แสนล้าน ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยมีผู้ชนะประมูล คือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จํากัด (มหาชน) หรือ BEM ซึ่งหาก ครม.เห็นชอบ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะนัดลงนามสัญญากับเอกชนต่อไป
ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าว ถูกเสนอเข้ามาเป็นวาระพิจารณาจรที่ 21 โดยนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ ปฏิบัติหน้าที่รักษาการ รมว.คมนาคม เป็นผู้เสนอเข้ามา แต่อย่างไรก็ตาม ประชุม ครม. มีการหารือกรณีผลประมูลโครงการนี้กันอย่างกว้างขวาง โดยมีรัฐมนตรีหลายคนแสดงความคิดเห็นสนับสนุนการอนุมัติผลประกวดราคาเพื่อให้โครงการเดินหน้า และเห็นว่าที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้รับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนมาเพียงพอแล้ว ขณะที่รัฐมนตรีอีกหลายคนโดยเฉพาะรัฐมนตรีจากฟากฝั่งพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) คัดค้าน และเห็นว่ายังคงมีปัญหาข้อกฎหมาย โดยเฉพาะประเด็นที่ยังคงมีคดีคั่งค้างอยู่ในชั้นศาลปกครอง และศาลปกครองสูงสุด
โดย นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข และรองหัวหน้าพรรค ปชป. กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม มีประเด็น 2 เรื่อง คือ 1. มีความไม่แน่นอนจากกรณีมีผู้ไปยื่นเรื่องร้องต่อศาลปกครอง และ 2. หาก ครม.พิจารณาเรื่องที่ยังไม่มีความชัดเจนในข้อกฎหมาย ครม. อาจมีความเสี่ยงในการพิจารณาและตัดสินใจ
นอกจากนี้ ตนเห็นว่า หาก ครม.อนุมัติในขณะที่ยังมีข้อสงสัยของสังคมว่า โครงการดังกล่าวยังมีปัญหาเรื่องความโปร่งใส ความสุจริต เรื่องผลประโยชน์ สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญ และทำให้คิดว่าถ้าเรามีการอนุมัติในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมประชาชนไม่มีความเชื่อมั่น จะทำให้ ครม.ทั้งคณะ รวมถึงผู้ที่จะพิจารณาเรื่องดังกล่าวจะถูกตั้งข้อสงสัยจากประชาชน และหากเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณา ครม.ในรูปของวาระจร จะทำให้ ครม.ตอบสังคมได้ยากเช่นกัน
แฉนายกฯ สั่ง คมนาคมกระเตงข้า ครม.เอง
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า การที่กระทรวงคมนาคมตัดสินใจนำเรื่องผลประกวดราคาโครงการนี้เข้าหารือในที่ประชุม จากเดิมที่จะเสนอเป็นวาระจรนั้นเป็นไปตามบัญชาของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ขอให้กระทรวงคมนาคมนำเรื่องดังกล่าวเข้ามาหารือในที่ประชุม โดยมีรายงานว่า นายกฯ ต้องการให้มีการพิจารณาผ่านเรื่องนี้เพื่อไม่ทิ้งปัญหาไว้เบื้องหลัง แต่ถูกรัฐมนตรีจากพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันคัดค้านอย่างหนัก และเห็นว่ายังคงมีประเด็นปัญหาข้อกฎหมายและข้อวิพากษ์ของสังคมอยู่เป็นจำนวนมาก หาก ครม. พิจารณาเห็นชอบออกไป ก็เชื่อแน่ว่าสังคมคงโจมตีความไม่โปร่งใสในการอนุมัติทิ้งทวนโครงการนี้
ทั้งนี้ ที่ประชุม ซึ่งใช้เวลาพิจารณาเรื่องนี้กว่า 1 ชั่วโมงยังไม่มีข้อยุติ จึงทำให้ สุดท้าย พล.อ.ประยุทธ์ ได้สั่งให้กระทรวงคมนาคมถอนเรื่องนี้ออกไปก่อน
ขณะที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุม ครม.ว่า สาเหตุที่ผลการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ครม.ยังไม่เห็นชอบ เพราะมีรัฐมนตรีหลายท่านมองว่าในเรื่องนี้ควรให้คดีที่ค้างอยู่ในชั้นศาลโดยเฉพาะคดีที่อยู่ในชั้นศาลปกครองสูงสุดให้ถึงที่สุดก่อนค่อยกลับมาสู่การพิจารณาของ ครม. และยอมรับว่า เรื่องนี้คงยากแล้วที่จะกลับมาสู่การพิจารณาของ ครม.ชุดนี้
รถไฟฟ้าสายอาถรรพ์!
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ที่ออกมาปูดเงื่อนงำ ”รถไฟฟ้าสายสีส้ม” โพสต์ระบุว่า..
รถไฟฟ้าสายสีส้มถูกนำเข้า ครม. ด้วยความเห็นชอบของรองนายกฯ ที่ดูแลกระทรวงคมนาคม คือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ที่พยายามอย่างยิ่งยวด อยากให้ผ่านในวาระประชุมทิ้งทวนครั้งนี้ให้ได้ ด้วยการไฟเขียวของนายกฯ ที่ขณะนี้เปรียบเสมือน “คอหอยกับลูกกระเดือก” คู่นายอนุทิน
เรื่องของเรื่อง คือ หลงคารมนายอนุทินในเรื่องคะแนนเสียง หารู้ไม่ว่า ขณะนี้ตกต่ำขนาดหน้าอกติดดินแล้ว
การประชุมมีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง เพราะมีเรื่องคาอยู่ที่ศาล และสังคมจับจ้อง
แต่นายวิษณุ เครืองาม และผู้ว่าฯ รฟม. นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ วางเกมตั้งแต่เมื่อคืน โดยยกเหตุผลว่า “ประชาชนจะเดือดร้อน”
รัฐมนตรีมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา คัดค้านถามว่า “หากขึ้นศาลจะอ้างประชาชนที่ไหน?”
ประสานเสียงผู้ที่ไม่เห็นด้วยอีกหลายคน คอยคัดค้านอยู่ ได้แก่
นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรฯ
นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม
นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน
นายนริศ ขำนุรักษ์ รมช.มหาดไทย
นายธนกร วังบุญคงชนะ รมว.สำนักนายกฯ
ส่วนผู้ที่เห็นชอบมี
นายอเนก เหล่าธรรมนัศน์ รมว.อุดมศึกษาฯ
นายพิพัฒน์ รัชกิจปราการ รมว.ท่องเที่ยวกีฬา
นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกฯ และ รมว.ต่างประเทศ
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข
สองรายหลังนี้แน่นอนอยู่แล้ว เพราะเป็นตัวตั้งตัวตี
ใครเป็นใครสังคมจดจำเอาไว้แล้วกัน
ท้ายสุด นายกฯ ยอมถอย ให้ถอนเรื่องรถไฟฟ้าสายสีส้มออกจากวาระ และอย่านำเข้าประชุม ครม. อีก
เรื่องนี้ หากผมไม่นำเอามาให้สังคมได้เห็นถึงผลต่างที่ BTS เสนอคืนผลตอบแทนให้รัฐ ในระยะเวลา 30 ปี ถึง 70,000 ล้านบาท
ในขณะที่ BEM เสนอเพียง 7,000 ล้านบาท หรือปีละ 233 ล้านบาท เดือนละแค่ 19.4 ล้านบาท
ห่างกันถึง 1,000% คิดดูแล้วกันว่า ผลประโยชน์ไปตกที่ไหน?
มันแตกต่างกันอย่างมหาศาล
คำสาปแช่งผมคงได้ผล
“ใครที่ได้เงินจากรถไฟฟ้าสายสีส้มเข้ากระเป๋าส่วนตัว ขอให้วิบัติล่มจม ได้ใช้เงินแบงค์กงเต๊ก ที่เผาไปให้ใช้ในปรโลก”
จะได้สำนึกเรื่องผลประโยชน์บ้านเมืองบ้าง
มันช่างอาถรรพ์จริงๆ