ครม.ไฟเขียวการทางพิเศษฯดำเนินโครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา เงินลงทุน 2.4 หมื่นล. ใช้งบรัฐสำหรับเวนคืนที่ดิน ส่วนค่าก่อสร้าง กทพ.ระดมทุนผ่าน TFF และ ออกพันธบัตร
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 14 มี.ค. 66 ได้อนุมัติให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ดำเนินโครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา) ระยะทาง 16.21 กม. เพื่อรองรับการเดินทางและการขนส่งสินค้าระหว่างพื้นที่ กทม. และจังหวัดใกล้เคียง ช่วยบรรเทาปัญหาจราจรติดขัดบนถนนรังสิต-นครนายก และโครงข่ายถนนโดยรอบ รวมถึงเพิ่มทางเลือกการเดินทางของประชาชนระหว่างจังหวัดปทุมธานีและจังหวัดใกล้เคียงเข้าสู่กรุงเทพฯ ชั้นใน รองรับการขยายตัวของแหล่งชุมชน ที่อยู่อาศัย สถานศึกษาและนันทนาการของภาครัฐทั้งที่เปิดบริการแล้วและอยู่ระหว่างการพัฒนา
โดยโครงการฯ มีมูลค่าการลงทุน 24,060.04 ล้านบาท แยกเป็นค่าจัดกรรมสิทธิที่ดิน 3,726.81 ล้านบาท ส่วนนี้จะใช้จ่ายจากงบประมาณรัฐบาล และค่าก่อสร้างและค่าควบคุมงาน 20,333.23 ล้านบาท กทพ. จะระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund : TFF) 14,374 ล้านบาท และออกพันธบัตรในกรอบวงเงิน 5,960 ล้านบาท
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า โครงการฯ จะเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร(ไป-กลับ) ระยะทาง 16.21 กม. มีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับทางพิเศษฉลองรัชที่ด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษจตุโชติบริเวณถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพด้านตะวันออก (ถนนกาญจนาภิเษก) และมุ่งหน้าทางทิศตะวันออกตัดถนนหทัยราษฎร์และถนนนิมิตใหม่ แล้วเลี้ยวขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อเชื่อมต่อถนนลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี
สำหรับแนวถนน การก่อสร้างโครงการจะมีทางแยกต่างระดับ 1 แห่ง และทางขึ้นลง 3 แห่ง ได้แก่ 1) ทางแยกต่างระดับจตุโชติ 2) ทางขึ้นลงจตุโชติ1และหทัยราษฎร์ 1 3) ทางขึ้น-ลง หทัยราษฎร์ 2 และ 4) ทางขึ้น-ลง ถนนลำลูกกา มีด่านเก็บค่าผ่านทาง 3 ด่าน คือ ด่านจตุโชติ ด่านหทัยราษฎร์ และด่านลำลูกกา
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า กทพ. จะใช้เวลาดำเนินการก่อสร้าง 5 ปี ระหว่าง 2566-70 มีแผนงาน ดังนี้ เดือน มี.ค.- ก.ย. 66 เสนอร่าง พรฎ.เพื่อจัดกรรมสิทธิที่ดิน คัดเลือกผู้ควบคุมงานก่อสร้างและคัดเลือกผู้รับจ้างก่อสร้างโครงการ ระหว่าง ต.ค.66-ก.ย. 68 ดำเนินการจัดกรรมสิทธิ และระหว่าง ก.ย.67-ส.ค. 70 ก่อสร้างโครงการ
สำหรับการดำเนินการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโครงการฯ ที่ใช้งบประมาณ 3,726.81 ล้านบาทนั้น คำนวณตามราคาประเมิน ณ ปี 2564 ประกอบด้วย พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืน 471 ไร่ 99 ตารางวา อาคารและสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับผลกระทบ 134 หลัง